คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 224

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 645 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10927/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน: การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ, ทุนทรัพย์, และค่าฤชาธรรมเนียม
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เพิ่มเติมจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เสียเกินมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสอง 4,800 บาท เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่าค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 240,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงินเพียง 360,000 บาท นั้น แม้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่าค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท สูงเกินส่วน ที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่าขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 600,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21886/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ฟ้องแย้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. หากไม่ได้รับรองและไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล กระบวนการพิจารณาที่ผิดพลาดทำให้ฎีกาไม่รับได้
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โดยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาเฉพาะตามฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล แต่อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้รับรองให้อุทธรณ์ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในอุทธรณ์โจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เป็นการไม่ชอบ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งนับแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งดังกล่าวมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในฎีกาโจทก์ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17186/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีทุนทรัพย์น้อยกว่าสองแสนบาท และการคำนวณอายุความค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง
จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 4.2.2 ระบุให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ให้แก่โจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับโอนในวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งล่วงเลยเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ยินยอมรับโอนโดยไม่อิดเอื้อน แสดงว่า โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า วันที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจากจำเลย โจทก์ได้แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยโดยมีพนักงานของจำเลยรับทราบไว้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่อิดเอื้อน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 การฟ้องให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขาย มิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง โจทก์มีหนังสือแจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่อง แต่ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 11.2 ผู้จะขายต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้จะซื้อได้แจ้งให้ผู้จะขายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หากผู้จะขายเพิกเฉยหรือดำเนินการโดยชักช้า ผู้จะซื้อมีสิทธิแก้ไขเอง ผู้จะขายต้องรับผิดชอบในความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อจะได้ชำระไป และตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป หลังจากโจทก์แจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขแล้วโจทก์ต้องให้เวลาจำเลยเริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วหากจำเลยยังไม่ดำเนินการแก้ไข โจทก์จึงจะใช้สิทธิเรียกร้องได้ วันที่ครบ 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10736/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาซื้อขาย การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าปรับรายวันตามสัญญาพิพาทข้อ 10 โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดเวลาตามสัญญาพิพาทและวินิจฉัยว่าการคิดค่าปรับตามสัญญาข้อ 10 ดังที่ฟ้องขอมา ต้องเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นกรณีมีระยะเวลาส่งมอบสินค้าขึ้นมาใหม่ซึ่งมิใช่การแสดงเจตนาของโจทก์ฝ่ายเดียวดังข้อเท็จจริงที่โจทก์เสนอแสดง เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหลักประกันเงินจำนวน 7,490 บาท ที่ฝ่ายจำเลยมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และแม้การใช้สิทธิเลิกสัญญาไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายฐานผิดสัญญาเกินไปกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยวางเป็นหลักประกันดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว อันย่อมเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยแปลความข้อสัญญาพิพาทโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขอตามข้อสัญญาดังกล่าว จึงหาใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าเสียหายไม่ ดังนั้น แม้ทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์โต้เถียงในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ก็หาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อฝ่ายจำเลยทำข้อตกลงไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาในข้อ 9 ว่า การบอกเลิกสัญญาเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าไม่ส่งมอบ ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิริบหลักประกัน และในข้อ 10 วรรคแรกว่า ค่าปรับในกรณีที่ผู้ซื้อมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 ผู้ขายต้องชำระค่าปรับให้ผู้ซื้อเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา โดยเฉพาะในวรรคท้ายที่ว่า "ในระหว่างที่ผู้ซื้อมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น หากผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน...ฯลฯ...และถ้าผู้ซื้อได้แจ้งข้อเรียกร้องให้ชำระค่าปรับไปยังผู้ขาย เมื่อครบกำหนดส่งมอบแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะปรับผู้ขายจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกด้วย" ดังนี้ การที่ฝ่ายจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที แต่ได้เร่งรัดให้ฝ่ายจำเลยดำเนินการนำสินค้าตามสัญญาไปส่งมอบพร้อมทั้งสงวนสิทธิในการปรับเป็นรายวันดังกล่าวไว้ ซึ่งต่อมาฝ่ายจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบ เมื่อต่อมาโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงย่อมมีสิทธิบังคับตามสัญญาทั้งข้อ 9 และข้อ 10 วรรคแรกกับวรรคท้าย คือริบเงินหลักประกันและปรับฝ่ายจำเลยเป็นรายวันได้ในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ได้รับมอบ ดังที่แจ้งสงวนสิทธิไว้แล้ว นับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสินค้าตามสัญญา คือวันที่ 3 เมษายน 2549 จนถึงวันที่บอกเลิกสัญญาด้วย และกรณีตามสัญญาข้อ 10 นี้ มิใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดสิทธิได้ก็ต่อเมื่อโจทก์กับฝ่ายจำเลยต่างได้แสดงเจตนาตกลงกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้ากันขึ้นมาใหม่อีกครั้งหลังจากครบกำหนดเวลาส่งมอบตามสัญญาแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ไม่ อย่างไรก็ดี การปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าตามสัญญาข้อ 10 นี้ ก็คือเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา ซึ่งหากเบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชนท้ายรถยนต์: ศาลฎีกาพิจารณาความเสียหายจากการชนครั้งแรก และความรับผิดของผู้ขับขี่
แม้คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 แต่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ตรงตามที่โจทก์นำสืบ เท่ากับโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีนอกสำนวน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้
โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ในขณะที่หยุดรถ โจทก์ได้ยินเสียงเบรกและเสียงดังเพียงครั้งเดียว และรถยนต์โจทก์ถูกชนเพียงครั้งเดียว เมื่อลงมาดูปรากฏว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์โจทก์ และยังมีรถยนต์ของจำเลยที่ 3 มาชนท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถชนรถยนต์จำเลยที่ 2 แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงมาชนรถยนต์โจทก์แต่อย่างใด ศาลจำเป็นจะต้องพิจารณาว่ารถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจากการชนในครั้งใด ซึ่งตามพยานหลักฐานโจทก์ รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายที่กันชนหลัง ไฟท้ายหลัง และกระโปรงหลังบุบยุบเข้าไป แสดงให้เห็นว่ามีการชนโดยแรงพอสมควรจึงได้รับความเสียหายขนาดนี้ หากรถยนต์จำเลยที่ 3 ชนรถยนต์จำเลยที่ 2 ก่อน แล้วรถยนต์จำเลยที่ 2 จึงกระเด็นไปกระแทกรถยนต์โจทก์ รถยนต์โจทก์ไม่น่าจะได้รับความเสียหายมากขนาดนี้ เพราะรถยนต์จำเลยที่ 2 รับแรงกระแทกไว้ก่อนแล้ว ความเสียหายส่วนใหญ่จึงน่าจะอยู่ที่ท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบถึงความเสียหายของรถยนต์ของตนว่ามีมากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์จำเลยที่ 2 ถูกชนจนกระเด็นไปกระแทกรถยนต์โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูง การถูกชนเพียงครั้งเดียวจึงเกิดจากจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ชนท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้รถยนต์จำเลยที่ 2 เคลื่อนไปกระแทกรถยนต์โจทก์นั้น ไม่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์ ศาลฎีกาจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงใหม่
ก่อนเกิดเหตุโจทก์ขับรถไปตามถนนในช่องขวาสุด เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุโจทก์หยุดรถเนื่องจากรถติด ขณะที่โจทก์เหยียบเบรกไว้ประมาณ 1 นาที จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังมาเบรกไม่อยู่ ชนรถยนต์โจทก์ด้านท้าย ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์จำเลยที่ 2 มา ชนด้านท้ายรถยนต์จำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่ระมัดระวังรถด้านหน้าว่าจะหยุดรถหรือไม่ทั้งที่การจราจรติดขัด การที่รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตภาษีมูลค่าเพิ่มบริการขนส่งระหว่างประเทศ และการหักภาษีซื้อที่เกี่ยวข้อง
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลภาษีอากรกลางในการวินิจฉัยเรื่องเหตุอันควรงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์สำหรับแต่ละเดือนภาษีพิพาทรวม 5 ฉบับ การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงต้องพิจารณาตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเมินในแต่ละเดือนภาษี ถือว่าแต่ละเดือนภาษีพิพาทเป็น 1 ข้อหา แยกออกจากกันได้เมื่อเดือนภาษีพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2548 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละเดือนภาษีไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์จะมีการทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะสำคัญของการให้บริการโดยตรงของโจทก์คือการให้บริการรับขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือรับขนสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำการขนส่งสินค้าหรือได้ใช้บริการขนส่งสินค้านั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนที่ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีได้เมื่อภาษีซื้อพิพาทไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักรหรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรโจทก์จึงไม่อาจนำภาษีซื้อที่ถูกเรียกเก็บในแต่ละเดือนภาษีพิพาทดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการนี้ได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8903/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ และวิธีปฏิบัติเมื่อไม่ได้ยื่นคำร้อง
เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2522 มาตรา 3 มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2522 มาตรา 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมโจทก์เพียงแต่ยื่นอุทธรณ์โดยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้อนุญาตอุทธรณ์ไม่ ทั้งผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้หาได้มีข้อความใดแสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8269/2553 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์บางส่วนและเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ตามคำขอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อที่ดินมีราคาเพียง 9,200 บาท ทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดวงเงินอุทธรณ์คดีแชร์, ความเป็นอื่นของโจทก์, และการแก้ไขจำนวนหนี้ที่พิพากษา
จำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์ โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ร่วมเล่นแชร์วงเดียวกันซึ่งมีจำเลยเป็นหัวหน้าวง แต่โจทก์ทั้งหกต่างมิได้มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 การคำนวณทุนทรัพย์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์ย่อมต้องแยกตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิด หาใช่พิจารณาจากหนี้ที่โจทก์ทั้งหกเรียกร้องรวมกันไม่ เมื่อจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่เกินห้าหมื่นบาท คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 กับจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9188/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในข้อเท็จจริง: อำนาจอนุญาตฎีกาของอธิบดีผู้พิพากษาภาคขัดต่อกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 39,130 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 34,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 34,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 5,130 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 39,130 บาท คดีของโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ คงมีเพียงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ซึ่งในชั้นฎีกา ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และบุคคลผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตราดังกล่าวก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าคือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ดังนี้ จึงไม่อาจนำบทบัญญติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
of 65