คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 54

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักตัวคนต่างด้าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สถานที่กักขังไม่เหมาะสม และการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
การกักตัวคนต่างด้าวตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่อยู่ในความหมายบทนิยาม "คุมขัง" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (12) โดยที่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวคนต่างด้าวไว้ ณ สถานที่ใดตามที่เห็นเหมาะสม แต่การที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่มีห้องกักตัวที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง แล้วนำผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวไปกักตัวไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ จึงมิใช่เป็นการกักตัวผู้ร้องไว้ ณ สถานที่เหมาะสม และกรณีมีเหตุจำเป็นต้องกักตัวผู้ร้องไว้เกินกำหนดเจ็ดวัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวต่อไปอีก เป็นการไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคสอง การกักตัวผู้ร้องไว้ในห้องคุมตัวหรือควบคุมผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาของสถานีตำรวจดังกล่าว จึงเป็นการคุมขังในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักตัวชาวต่างชาติที่ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศและการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งไม่อนุญาตให้อ. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะมีพฤติการณ์ค้ายาเสพติดและเป็นธุระจัดหาผู้หญิงเพื่อส่งไปประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 16 อ.ย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12(10) คำสั่งนั้นย่อม มีผลใช้บังคับได้จนกว่าถูกยกเลิกหรือเพิกถอน หลังจากนั้นอ. ได้เดินทางเข้าออกราชอาณาจักรหลายครั้ง โดยได้รับอนุญาตและมีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่ก็หามีผลทำให้อ. กลับกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะไม่ต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรไม่ ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจพบ อ. ในราชอาณาจักร จึงจับอ.ส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 22และ 54 แต่พนักงานอัยการขอรับตัว อ.มาฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ก่อนแม้ศาลในคดีดังกล่าวจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อ.กับห้ามมิให้อ.เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และแม้อ. จะมีกำหนดเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมไม่กี่วันก็ตาม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมืองฯ มาตรา 54 วรรคสาม ก็มีอำนาจรับตัวและกักตัว อ. ไว้ต่อไปได้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นเนื่องจาก อ.เป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าว เมื่อไม่ได้ความว่าคำสั่งของ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ให้กักตัว อ. เพื่อรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักรฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าการกักตัว อ. เป็นการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งปล่อยตัว อ.ตามที่ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาของ อ. ร้องต่อศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 240 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญชาติไทย: การพิจารณาบุคคลที่เกิดหลังประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และอำนาจหน้าที่นายอำเภอ
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่มาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า"ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย" ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนต่างด้าวที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอดไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า "เข้ามา" กับคำว่า "อยู่"ออกจากกันเหมือนดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ใช้คำว่า "เข้ามาหรืออยู่" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กับที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรด้วย โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)เป็นกฎหมายที่มีลักษณะถอนสิทธิของบุคคลจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้น กรณีของนาง ท. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยแม้จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนาง ท. และเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้โจทก์ทั้งสามจะเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 2 โจทก์ทั้งสามจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) และไม่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนาย ส. เป็นจำเลยโดยไม่ได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬมาด้วยก็ตามแต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬแล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่ ปรากฏว่าเมื่อบิดาของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้.