คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 212

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 433 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งและอาญาจากการบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ การปรับบทลงโทษและค่าฤชาธรรมเนียม
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดฐานบุกรุกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 364, 365 ประกอบมาตรา 83 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 362 และมาตรา 364 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษเพียงตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการที่ศาลฎีกาเพียงแต่ปรับบทลงโทษโดยมิได้แก้ไขโทษให้หนักขึ้น ก็มิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร" และแม้คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืน แม้ใช้ร่วมกันได้ ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ส่วนการมีกระสุนปืนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิดสองฐานนี้ออกจากกัน แม้ว่าจำเลยจะมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกัน อาวุธปืนและกระสุนปืนใช้ร่วมกันได้ การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้องจึงไม่อาจแก้ไขให้เรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งกรรมสิทธิ์และลักทรัพย์ กรณีจำเลยได้รับมอบหมายให้ถือครองกรรมสิทธิ์แทนเจ้าของ
ฮ. เป็นบุคคลสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ฮ. และโจทก์ร่วมเป็นสามีภริยาตามกฎหมายของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฮ. ซื้อห้องชุด แต่ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน โดยจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจและชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า อันเป็นการกระทำแทน ฮ. ชั่วครั้งชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมาย กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงยังอยู่ที่ ฮ. และโจทก์ร่วม การที่จำเลยแจ้งเท็จว่าหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับเดิมสูญหายเพื่อขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ เปลี่ยนกุญแจและเข้าครอบครองห้องชุดและทรัพย์ต่าง ๆ ในห้องชุดแล้วนำไปขายแก่บุคคลอื่นโดย ฮ. และโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดของ ฮ. และโจทก์ร่วมโดยใช้อุบายแย่งการครอบครอง ต่อมาเมื่อจำเลยนำห้องชุดของโจทก์ร่วมไปขาย เงินที่ได้จากการขายห้องชุดเป็นผลสืบเนื่องจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองของจำเลย เพราะ ฮ. หรือโจทก์ร่วมไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิใช่แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและหลอกลวงเพื่อเรียกเงิน แม้ศาลล่างไม่ปรับบทมาตรา 157 ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทได้
จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงิน และมีการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้วก่อนที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเงินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่การที่จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงินเรียบร้อยแล้วกลับมาหลอกลวงผู้เสียหายว่ายังไม่ได้ตรวจรับงานดังกล่าวเพื่อเรียกเงินจากผู้เสียหาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 157 มาด้วย และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่ไม่ปรับบทมาตราดังกล่าวโดยเห็นว่าเมื่อเป็นความผิดซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นความผิดบททั่วไปอีก เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ที่ถูกต้องระบุว่าไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องและลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 157 ได้ แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้ฎีกาในทำนองนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21640-21641/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการค้ามนุษย์และค้าประเวณี: จำเลยสนับสนุนการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์และค้าประเวณี ศาลฎีกาพิพากษาโทษ
จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ กับผู้เสียหายที่ 3 อายุ 14 ปีเศษและผู้เสียหายที่ 5 อายุ 17 ปีเศษ จากประเทศไทยเพื่อไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อช่วยทำเอกสารบัตรผ่านแดนและเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายทั้งสามผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซีย จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 3 กระทำความผิดหาใช่เป็นตัวการไม่ แต่ต้องระวางโทษเท่ากับตัวการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคห้า และตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคสี่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 พาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จากประเทศไทยเพื่อไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซียนั้น ถือได้ว่ามีเจตนาเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณีเท่านั้น และมิใช่เป็นการรับตัวผู้เสียหายทั้งสามไว้โดยทุจริต จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ว่าเป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นการกระทำในคราวเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ จึงไม่อาจแก้ไขโทษได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12128/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษจำเลยที่ 2 จากการรับสารภาพ และข้อผิดพลาดในการรวมโทษของศาลชั้นต้น
การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 2,000,000 บาท แล้วลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน เป็นการไม่ชอบเพราะไม่ได้ลดโทษก่อนตามมาตรา 78 แล้วจึงรวมโทษตามมาตรา 91 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองและการกระทำอนาจารเด็ก ศาลพิพากษาตามบทลงโทษที่ถูกต้อง
แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านเกิดเหตุตามคำชักชวนของ ส. โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ชักชวน แต่การที่จำเลยขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปที่บ้านเกิดเหตุตามคำขอของ ส. ในเวลากลางคืน จากนั้นจำเลยและ ส. ฉวยโอกาสลงมือกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ในเวลาและสถานที่เดียวกัน บ่งชี้ว่าจำเลยและ ส. มีเจตนาล่วงล้ำอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดแก่ผู้เสียหายแต่ละคนเป็น 4 กรรม แม้จำเลยจะกระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสี่ในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร 2 กรรม กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอีก 2 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย การจับนมโดยไม่ยินยอมถือเป็นกำลังประทุษร้ายได้
การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าการจับนมเป็นเพียงวิธีการทำอนาจารผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เปลี่ยนแปลงวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นจำคุกหลังอายุครบ 24 ปี จากเดิมคือควบคุมและอบรม
จำเลยทั้งสองอายุครบ 24 ปี ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองไว้จึงไม่เหมาะสม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชนซึ่งศาลคำนึงถึงพฤติการณ์เฉพาะเรื่องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 119 ประกอบมาตรา 142 แม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีการให้เหมาะสมได้เพราะมิใช่การเปลี่ยนแปลงโทษ จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมโทษ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. 212 และมาตรา 225 เมื่อพิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว อาศัยอำนาจตามมาตรา 142 วรรคท้ายเปลี่ยนแปลงวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนใหม่เป็น หลังจากจำเลยทั้งสองอายุครบ 24 ปีแล้วให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนด 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาและสถานการค้าประเวณี ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐานเป็นธุระจัดหา
ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและเพื่อการอนาจารและความผิดฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อกระทำการค้าประเวณีนั้น กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้ที่เป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อการอนาจารหรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี ไม่ว่าการเป็นธุระจัดหาดังกล่าวกระทำขึ้นโดยวิธีการใด ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีนั้น กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้จัดการกิจการหรือสถานที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าประเวณีหรือเพื่อใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลเพื่อกระทำการค้าประเวณีเป็นการเฉพาะ ดังนี้ เมื่อสภาพแห่งความผิดทั้งสองอย่างดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่มีเจตนากระทำความผิดแตกต่างกันจึงเป็นความผิดต่างกรรม มิใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหานี้ขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษทั้งสองบทในความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเพื่อการอนาจารและฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณีตามจำนวนผู้เสียหาย รวม 4 กระทง กับฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี อีก 1 กระทง ต่างหากได้ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
of 44