พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ: การเสนอประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเมื่อมีข้อพิพาทเรื่องอำนาจ
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 11 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จากหลักกฎหมายดังกล่าวเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์โดยไม่เสนอปัญหาให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจศาล: ศาลอาญา รับฟ้องคดีทุจริต หลังศาลอาญาคดีทุจริตเปิดทำการแล้ว เป็นการไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ภายหลังเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเปิดทำการแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 10 ได้บัญญัติว่า "เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา" จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นอื่นจะรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาและพิพากษามิได้ การที่ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว และกรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมอันศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จะใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจคดีนี้ ไม่อาจโอนคดีไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องของการโอนคดีไว้ ทั้งการที่ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 11 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10, 11, 13 มาปรับใช้แก่คดีได้ เนื่องจากตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารหรือศาลอื่น เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ต่างเป็นศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เรื่องระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันจะนำมาปรับใช้กับคดีนี้