พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเช่าห้องชุดรายวันขัดต่อข้อบังคับอาคารชุด สิทธิของนิติบุคคลในการบังคับใช้ข้อบังคับและเรียกค่าเสียหาย
แม้จำเลยจะมีสิทธิใช้สอยกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แต่ก็ต้องคำนึงว่าการใช้สอยนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอื่นในอาคารชุดดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ 11.8 กำหนดว่า ผู้ใดประกอบการค้าในอาคารชุด "การค้า" หมายถึง การตกลงแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการ หรือทั้งสองอย่าง เช่น การให้เช่ารายชั่วโมง หรือการเปิดให้เป็นสถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น เจ้าของร่วมต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การใช้ห้องชุดของตนเป็นการใช้ห้องชุดเพื่อเป็นการอยู่อาศัยของตน และ/หรือบริวาร และ/หรือผู้เช่ารายเดือนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้การใช้ห้องชุดของตนให้เช่าเป็นที่พักอาศัยรายวัน ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 และไม่อนุญาตให้ใช้ห้องชุดของตนเป็นที่ทำงานบริษัท ห้างร้าน ที่พักชั่วคราว อะพาร์ตเมนต์ให้เช่าระยะสั้น หรือการใช้ประเภทอื่นใดซึ่งผู้จัดการนิติบุคคลพิจารณาแล้วถือว่าเป็นการให้ใช้เพื่อพักชั่วคราว และข้อบังคับข้อ 11.12 กำหนดว่า หากเจ้าของร่วม หรือบริวาร ญาติ เพื่อน อันมีความสัมพันธ์กับเจ้าของร่วมไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับนี้ หรือผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งเตือนให้ปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดแล้ว หากยังเพิกเฉย นิติบุคคลอาคารชุดจะถือว่าผู้นั้นจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิคิดค่าปรับเป็นค่าเสียหายตามข้อบังคับของโจทก์ได้ต่อเมื่อโจทก์แจ้งเตือนให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดแต่ละครั้งที่ทำการฝ่าฝืนแล้ว เมื่อจำเลยนำห้องชุดของจำเลยออกให้บุคคลทั่วไปเช่าเป็นรายวันฝ่าฝืนข้อบังคับข้อ 11.8 ของโจทก์ และโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยยุติการนำห้องชุดออกให้เช่าตามสำเนาเรื่องให้ยุติการนำห้องชุดออกให้เช่ารายวันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับแล้วเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560 แต่เพิกเฉย ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้ดูแลอาคารชุดจึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าปรับ 10,000 บาท ส่วนค่าปรับรายวันนั้น โจทก์จะมีสิทธิคิดได้ต่อเมื่อมีผู้เข้าพักอาศัยในห้องของจำเลยในฐานะผู้เช่ารายวันหากไม่มีผู้ใดเช่า โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิคิดค่าปรับรายวันจากจำเลย เพราะมิใช่กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอันจะทำให้มีสิทธิคิดค่าเสียหายต่อเนื่องได้ ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงวันที่ 30 เมษายน 2560 จนถึงวันฟ้อง มีผู้มาเช่าห้องเลขที่ของจำเลยหลายครั้ง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 300,000 บาท จึงเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนภายหลังวันฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีผู้มาเช่าห้องดังกล่าวของจำเลยในวันที่ 6 กันยายน 2561 และวันที่ 20 ถึง 22 ธันวาคม 2561 มิได้เช่าต่อเนื่องกันไปแต่อย่างใด ซึ่งโจทก์ก็ชอบที่จะไปเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนั้นจากจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่ง คสช. 6/2562 ยกเว้นโทษทางอาญาธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้รับอนุญาต หากแจ้งและปรับปรุงความปลอดภัยตามเกณฑ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ปรากฏว่า ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พร้อมทั้งยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบ เอกสารท้ายฎีกาของจำเลย เป็นหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ถึง ม. ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่เกิดเหตุ เรื่อง การแก้ไขอาคารตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 โจทก์ได้รับสำเนาฎีกาพร้อมเอกสารดังกล่าว มิได้โต้แย้ง จึงรับฟังหลักฐานได้ว่า สถานที่ประกอบกิจการของ ม. ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จเรียบร้อย ซึ่งตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวกำหนดให้ได้รับยกเว้นโทษทางอาญา ถือว่าเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (7)