คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 33

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 546 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ การใช้กำลังประทุษร้ายต้องกระทำต่อตัวทรัพย์หรือตัวผู้เสียหายโดยตรง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องและประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ส่วนการที่ผู้เสียหายใช้มือข้างขวาเปิดบานเกล็ด ป. ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมฟันข้อมือผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีบาดแผลยาว 1 ซ.ม. เมื่อผู้เสียหายร้องขอให้จำเลยเอายามาให้ ป. เอายามาให้ผู้เสียหาย นับว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ประสงค์ทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การกระทำของ ป. จึงเป็นการกระทำที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการลักทรัพย์และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เอง เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นด้วยในลักษณะอย่างใด จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20050/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกต่อเนื่องเมื่อจำเลยกระทำความผิดซ้ำระหว่างรอการลงโทษ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษคดีเดิมแล้ว
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 11 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 4 ปี และภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษ จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดคดีนี้ แม้คดีก่อนจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลชั้นต้นจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้ แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 11 เดือน และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ จึงไม่มีโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อนที่จะนำมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้อีก อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีนี้ และโจทก์แก้ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีก่อน ดังนั้น จึงชอบที่จะนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีก่อน ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งให้นับโทษต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22722/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาคดีภาษียาสูบ: การบรรยายฟ้องต้องระบุองค์ประกอบความผิดชัดเจน การไม่มีหลักฐานสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อขาย ไม่อาจลงโทษได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมียาสูบซึ่งผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบหลายยี่ห้อ รวม 861 ซอง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบดังกล่าว แม้ในฟ้องจะระบุฐานความผิดว่า ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวก็ตาม ซึ่งก็มิใช่การบรรยายฟ้องในส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งการที่จำเลยมียาสูบของกลางจำนวนมากไว้ในครอบครอง ก็ไม่มีกฎหมายสันนิษฐานว่ามีไว้ขายหรือเพื่อขาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้
เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 จึงไม่อาจริบบุหรี่ของกลางเป็นของกรมสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 44 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อีกทั้งคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำเลย จึงไม่อาจพิพากษาให้จ่ายสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 ตามที่โจทก์ขอ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10498/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์ในความผิดศุลกากร: การพิจารณาความเชื่อมโยงโดยตรงกับการกระทำความผิด
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 บัญญัติถึงการริบทรัพย์ในการกระทำความผิดเฉพาะความผิดตามมาตรา 27 ซึ่งบทมาตราทั้งสองใช้บังคับพร้อมกันในขณะนั้น ต่อมาเมื่อมีการบัญญัติความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ในภายหลังเมื่อปี 2499 ซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิดต่างหากจากความผิดมาตรา 27 จึงนำบทบัญญัติการริบทรัพย์ตามมาตรา 32 มาใช้บังคับเพื่อริบทรัพย์ของกลางคดีนี้ที่จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยกับพวกใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะขนย้ายบรรทุกโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบตเตอรี่บางส่วนไปจำหน่าย ย่อมไม่ใช่การใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง จึงไม่ใช่ทรัพย์ซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5990/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนทรัพย์สินจากการเช่าซื้อ: การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและการรู้เห็นเป็นใจ
ตามสัญญาเช่าซื้อ ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ให้เจ้าของมีสิทธิจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที และยึดรถจักรยานยนต์กลับคืนมาได้ ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรวม 6 งวด ติดต่อกัน ผู้ร้องไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยอมรับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 4 ต่อไปอีกรวม 3 งวด จากนั้นมาจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาจากผู้ร้อง เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ผู้ร้องจึงมอบหมายให้พนักงานของผู้ร้องไปติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน ก่อนหน้าวันที่ศาลมีคำสั่งริบ ผู้ร้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยังไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยังเปิดทางให้จำเลยที่ 4 หรือผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องได้และผู้ร้องจะดำเนินการให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป ผู้ร้องจึงมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่อแสดงว่าการร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 4 ผู้เช่าซื้อ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยายนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4093/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ การกระทำความผิดคือการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต แผ่นภาพยนตร์ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด
ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น แผ่นวีซีดีภาพยนต์ แผ่นดีวีดีภาพยนต์ และแผ่นวีดิทัศน์ (วีซีดีคาราโอเกะ) ของกลางดังกล่าว จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 และให้คืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์ยาเสพติดจากส่วนหนึ่งของยาเสพติดของกลาง และการลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ที่จำหน่ายให้แก่สายลับมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 160 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนัก 14.86 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.847 กรัม ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่โจทก์บรรยายฟ้อง และเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ดังกล่าวได้เช่นเดียวกันว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.5338 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป กรณีจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ได้ ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ตามผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการริบของกลาง
ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามฟ้องข้อ (ค) ในวันเวลาเดียวกันกับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องข้อ (ข) โดยแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผล คือ นำแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวออกให้เช่าเช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ค) จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามฟ้องข้อ (ข)
แผ่นภาพยนตร์กับแผ่นวีดิทัศน์ของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 เนื่องจากสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำภาพยนตร์กับวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกให้เช่า
สมุดรายการเช่าของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยตรง กล่าวคือ สมุดรายการเช่าเป็นปัจจัยหลักและส่วนสำคัญที่ใช้ในการกระทำความผิดเพราะเป็นหลักฐานในการเช่า ติดตามแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ให้เช่า ตลอดจนคิดค่าปรับต่าง ๆ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบโทรศัพท์มือถือในคดียาเสพติด: ต้องมีหลักฐานการใช้เพื่อกระทำความผิดโดยตรง
โจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้แก้ไขบทมาตราที่ฟ้องผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพิจารณาโทษปรับให้เหมาะสม
วีดิทัศน์ของกลาง 782 แผ่น เป็นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) โจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น นี้ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกจำหน่าย แผ่นวีดิทัศน์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตนั้น จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน โดยแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือเพื่อนำแผ่นวีดิทัศน์ออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 91 เพียงบทเดียว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต 100,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 นั้น เป็นการลงโทษปรับต่ำที่สุดและลดโทษให้จำเลยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจลดโทษปรับในความผิดฐานนี้ได้อีก
จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 แต่มิได้อ้างมาตรา 69 กลับอ้างมาตรา 70 นั้น ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้อีกสถานหนึ่งโดยให้ปรับ 110,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม เป็นจำนวนถึง 507 แผ่น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อแสวงหากำไรและเป็นการกระทำเพื่อการค้าด้วยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ผู้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
of 55