พบผลลัพธ์ทั้งหมด 41 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในคดีข่มขืน และการแก้ไขข้อผิดพลาดในการบรรยายฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แม้โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6538/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานรับรองเอกสารเท็จ และการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีปรับลดพนักงาน การพิพากษาชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 - 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่า การอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาด้วย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) ไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทั้งห้าสืบสม แต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์ทั้งห้ามิได้บรรยายองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาในฟ้องด้วย อีกทั้งองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) กับมาตรา 265 มีความแตกต่างกันมาก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในเรื่องที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พรากผู้เยาว์, ข่มขืน, ละเมิดอำนาจปกครอง, ความผิดฐานพรากผู้เยาว์มีเจตนาพรากผู้เยาว์
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยอมมาหาที่บ้านแล้วกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อเนื้อตัวร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ยังอยู่ในความดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลยที่ 1 และจำยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารต่อโจทก์ร่วมที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำอันเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกโดยได้รับความยินยอมของผู้ป่วย การแพทย์และมาตรฐานการรักษา
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 วินิจฉัยอาการผิดพลาดเนื่องจากโจทก์มิได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการรักษาด้วยการขูดมดลูกหรือวิธีการอื่นโดยไม่จำต้องผ่าตัดตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กรณีจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้ไว้ก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจถือว่าแพทย์ผู้นั้นกระทำประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์ตามความรู้ความสามารถโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการกระทำผิดค้ายาเสพติด: ศาลแก้โทษจากสมคบกันเป็นสนับสนุนการกระทำผิด
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ห. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับ ณ. และพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่ ณ. และพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับ ห. และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อ ม. เครือข่ายยาเสพติดของ ห. ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของ ณ. เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ห. และพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมา ณ. และพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่ ณ. บางส่วน ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ-กรรมเดียว: เจตนาสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนทั้งหมด ไม่ใช่แยกสั่งซื้อรายตัว แม้แบ่งซ่อนนำเข้า
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยว่าจ้าง ร. ส. และ ป. เดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ก. ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมิได้ระบุจำนวนเมทแอมเฟตามีน และจำเลยได้มอบเงินค่าเดินทางรวม 4,000 บาท พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ให้ ป. ไว้เพื่อใช้ร่วมกัน ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาให้ ร. ส. และ ป. เดินทางไปรับมอบเมทแอมเฟตามีนจาก ก. ด้วยกัน อีกทั้งเมทแอมเฟตามีนที่ ก. ส่งมอบให้ ป. บรรจุรวมกันอยู่ในถุงลูกอม 1 ถุง ซึ่งขณะรับมอบ ร. และ ส. ก็อยู่ด้วย หลังจากนั้นจึงพากันเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ตลาดในจังหวัดท่าขี้เหล็ก แล้วแบ่งเมทแอมเฟตามีนระหว่างกันเองซุกซ่อนในทวารหนัก ซึ่ง ร. รับไว้ 759 เม็ด ส. รับไว้ 773 เม็ด และ ป. รับไว้ 968 เม็ด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งให้แบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวตามรายตัว ทั้งลักษณะของการแบ่งเมทแอมเฟตามีนก็เป็นเศษจำนวน เชื่อว่าเป็นการตกลงแบ่งกันเองตามกำลังความสามารถของแต่ละคนที่จะซุกซ่อนในทวารหนักได้ อันเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งหาก ร. ส. และ ป. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่แบ่งแยกจำนวน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว ดังนั้น การแบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนในระหว่างกันเองของ ร. ส. และ ป. เพื่อความสะดวกในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพร้อมกันเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นความผิดหลายกรรมไปได้ เพราะเจตนาหลักของจำเลยเพียงประสงค์จะได้เมทแอมเฟตามีนทั้งหมดมาไว้ในครอบครองคราวเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการที่ ร. กับพวก จะลักลอบนำเข้ามาแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกระทำความผิดกับ ป. ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 735/2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4319/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พยานหลักฐานไม่เพียงพอ และทรัพย์สินที่ริบในคดีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ต้องคืนเจ้าของ
แม้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบในคดีอาญาคดีอื่นที่ อ. ถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่คดีดังกล่าว อ. ถูกฟ้องว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลย และศาลชั้นต้นเคยสั่งให้รวมการพิจารณากับคดีนี้มาก่อน จึงเป็นคดีที่มีความเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับ อ. จึงถือไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ ต้องคืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4281/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้สนับสนุนการค้ายาเสพติดต้องรับโทษตามตัวการหลัก แม้โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโทษได้
จำเลยเปิดสมุดบัญชีเงินฝากเพื่อให้ ป. ใช้รับโอนเงินค่ายาเสพติดจากลูกค้า จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือ ป. ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3606/2558 ของศาลชั้นต้น เมื่อได้ความว่า การกระทำความผิดของ ป. ต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ป. ตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกเพียง 15 ปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาแก้ไขโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3