คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นฟ้องเคลือบคลุมและการวินิจฉัยนอกประเด็นของศาลอุทธรณ์
คดีแพ่ง ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ แต่จำเลยมิได้กล่าวแก้ให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ จึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ.ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รวมหนี้สินเชื่อได้ - ค่าขึ้นศาลคำนวณจากทุนทรัพย์รวม
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงินประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะโดยการให้กู้ยืมเงิน ให้เบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นที่สามารถทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้าโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นจำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ ย่อมสามารถทำธุรกิจการเงินกับโจทก์ได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยกู้ยืมเงิน ขอเบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ต่างกันแต่ทุกประการล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง จำเลยจึงสามารถนำที่ดินและทรัพย์สินหลายรายการมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ก่อขึ้นทั้งหมดกับโจทก์ โดยมิได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทไหนรายการใด มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.ข้อ (1) ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาทคืนโจทก์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2543)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์โอนเมื่อซื้อขายสำเร็จ แม้มีข้อตกลงริบมัดจำ
สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อความว่า" ... หากผู้ซื้อไม่นำเงินมาชำระตามกำหนด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำและคืนรถทันทีในสภาพเรียบร้อยทุกประการ..." เป็นเพียงการกำหนดวิธีการบังคับเมื่อเกิดกรณีผิดสัญญาขึ้นเท่านั้นหาใช่เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ ถือว่าสัญญาซื้อขายระหว่าง พ.กับ ป.เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมตกเป็นของ ป.ตั้งแต่ขณะที่การซื้อขายสำเร็จแล้ว
โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท จำเลยซึ่งไม่ไช่เจ้าของไม่มีสิทธิที่จะยึดถือใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไว้ ต้องโอนทะเบียนและมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถให้แก่โจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถพร้อมเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนแก่โจทก์ หรือขอให้จำเลยออกเอกสารเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ไม่จำต้องคืนเอกสารแก่โจทก์ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิถอนทรัพย์ที่วางชำระหนี้: เจ้าหนี้อื่นไม่อาจยึดได้
เมื่อวางทรัพย์แล้ว ป.พ.พ.มาตรา 334 บัญญัติว่า ลูกหนี้มีสิทธิจะถอนทรัพย์ที่วางนั้นได้ และมาตรา 335 บัญญัติว่า สิทธิถอนทรัพย์นั้น ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดหาได้ไม่ จึงเห็นได้ว่า ลูกหนี้เท่านั้นที่มีสิทธิจะถอนทรัพย์ที่วางไว้ได้ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 วางเงินไว้เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีหนึ่ง และไม่ใช้สิทธิถอนทรัพย์ เจ้าหนี้ในคดีอื่นจะยึดหรืออายัดเงินที่จำเลยที่ 2 วางไว้ไปชำระหนี้รายอื่นย่อมไม่อาจทำได้ เมื่อการอายัดเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายกรณีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดเงินแล้วไม่มีการจำหน่ายตามที่บัญญัติไว้ในตาราง 5 ข้อ 4 ท้าย ป.วิ.พ.จึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามข้อนี้จากโจทก์มิได้
คดีมีปัญหาตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ว่า การอายัดไม่ชอบ และขอให้ถอนการอายัด จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีภาษีอากร: พิจารณาจากจำนวนข้อหาที่แยกจากกันได้
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่า คดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึงปี 2539 ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมิน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 38 โดยการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฏากร มาตรา 65 ว่า ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และรายจ่ายแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี และการฟ้องคดีของโจทก์ก็เพื่อให้จำเลยชำระภาษีตามที่ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่จำเลยในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่งปี 2538 ข้อหาหนึ่ง และปี 2539 อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมการให้สินสมรสหลังพ.ร.บ.ใช้บังคับ และอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
ที่ดินและบ้านพิพาท เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ก่อน ป.พ.พ.บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 7 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้าย พ.ร.บ.นี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้าย พ.ร.บ.นี้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสามีมีอำนาจในการจัดการรวมทั้งอำนาจจำหน่ายสินสมรสอยู่แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไป การที่จำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจขอเพิกถอนนิติกรรมได้ แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้กระทำเมื่อใช้บทบัญญัติ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ ใช้บังคับ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ จึงต้องนำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ป.พ.พ. มาตรา 1480 มาใช้บังคับตามมาตรา 4 นิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำลงเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา1480 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีภาษี: แยกพิจารณาทุนทรัพย์แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีได้
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นอีก200,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ในเนื้อหาแห่งคดีโดยตรง แต่โจทก์ได้ยกเหตุว่าค่าขึ้นศาลอันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมนั้น มิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายและโต้แย้งคำสั่งศาลแล้ว จึงอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 168มาตรา 226 และ 247
ป.วิ.พ.มาตรา 150 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาท ในการพิจารณาว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเท่าใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตาราง 1 ท้ายป.วิ.พ.ข้อ (1)
การคิดค่าขึ้นศาลในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ว่า คำฟ้องในกรณีปกติให้เรียกค่าขึ้นศาลโดยอัตรา 2.50 บาทต่อทุก 100 บาท แต่ไม่ให้เกิน 200,000 บาท แม้ว่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทเมื่อคำนวณแล้วจะเกิน 200,000 บาท ก็ตาม ซึ่งหามีบทบัญญัติบังคับว่า ในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาทเท่านั้นไม่ แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน
คำฟ้องตามมาตรา 1 (3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล เมื่อพิจารณาประกอบกับ ป.วิ.พ.มาตรา 29แสดงให้เห็นว่า ในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อด้วยกันได้ และให้อำนาจแก่ศาลมีคำสั่งแยกคดีได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาหนึ่งข้อหาใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆ หรือแม้ว่าข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกัน แต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะเป็นการสะดวก ศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าถ้าศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตาม ป.วิ.พ.มาตรา 150 วรรคสี่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีที่มีหลายข้อหา ย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปว่าเกี่ยวข้องกันหรือแยกกัน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นภาษีอากรประเมิน ป.รัษฎากรว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาตรา 65 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ในกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดสำหรับกรณีพิพาทจึงมี 2 รอบระยะเวลาบัญชีคือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 และอาจมีการดำเนินกิจการ มีผลประกอบการแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยเหตุนี้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีจึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกันได้ กล่าวคือการคิดคำนวณรายได้และหักรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อหากำไรสุทธิจึงแยกต่างหากออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมภาษีทั้ง 2 รอบระยะเวลาบัญชีมาเป็นจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาจึงไม่ถูกต้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลโดยแยกเป็นรอบระยะเวลาบัญชี จึงเป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินชายตลิ่งงอก การครอบครองปรปักษ์ และประเภทคดี
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.วิ.พ.มาตรา 1304 (2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382
แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยอันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ก็ตาม แต่โจทก์ก็ฟ้องด้วยว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยว จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของจำเลย กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีกรรมสิทธิ์ที่ดิน: ทุนทรัพย์, อัตราค่าทนายความ, และการคืนค่าขึ้นศาล
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครอง ขอให้ขับไล่จำเลย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินเป็น น.ส. 3 โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลย คดีจึงมีประเด็นโต้เถียงกรรมสิทธ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท
แม้โจทก์จะกล่าวมาในคำฟ้องว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยบุกรุกมีเนื้อที่ 1 งาน 47 ตารางวา แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายขอให้ทำแผนที่พิพาท ในการทำแผนที่พิพาทเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้รังวัดโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นผู้นำชี้ และรับกันว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 งาน 33 ตารางวา จึงมีประเด็นโต้เถียงกรรมสิทธิ์ที่ดินกัน ในเนื้อที่ 1 งาน 33 ตารางวา ซึ่งคิดเป็นราคาในขณะที่ยื่นคำฟ้องเพียง 49,875 บาท คดีนี้จึงมีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นเงินจำนวนดังกล่าว แม้จำเลยจะเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 55,125 บาท ก็ไม่ทำให้ทุนทรัพย์ในคดีเพิ่มขึ้นได้ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เกินกว่าอัตราค่าทนายความขั้นสูงตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นการกำหนดโดยผิดกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้
จำเลยฎีกาขอให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัย ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ. สองร้อยบาท แต่จำเลยเสียเกินมาจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7173/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์เฉพาะประเด็นสินสมรสและอำนาจปกครองบุตร ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอและกระทบสิทธิที่ยุติแล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสและการปกครองบุตรเท่านั้นส่วนโจทก์มิได้อุทธรณ์ฉะนั้นคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่โจทก์และจำเลยหย่ากันจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นการที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาจึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมดรวมตลอดถึงประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งยุติไปแล้วโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรสด้วยเช่นนี้เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(1)ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่มิชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและวินิจฉัยประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรสที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก โจทก์บรรยายฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยโดยระบุว่ามีสินสมรสอยู่3รายการคือรถยนต์นั่งยี่ห้อมาสด้าที่ดินโฉนดที่1912พร้อมบ้าน1หลังและที่ดินโฉนดที่10733ซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่นอยู่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ขอแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งของสินสมรสที่มีอยู่นั่นเองและตามรายงานกระบวนพิจารณาโจทก์แถลงประสงค์ที่จะได้สินสมรสไว้โดยแบ่งจำนวนเงินให้แก่จำเลยเช่นกันมิใช่มุ่งประสงค์เฉพาะแต่เพียงจำนวนเงินส่วนแบ่งสินสมรสจำนวน352,000บาทที่ระบุมาเท่านั้นส่วนที่โจทก์ตีราคาเป็นจำนวนเงินดังกล่าวมาก็เป็นการตีราคาทรัพย์สินเป็นทุนทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการคิดคำนวณค่าขึ้นศาลหาใช่เป็นข้อจำกัดแห่งคำฟ้องที่จะต้องแบ่งตามจำนวนเงินที่ตีราคาไม่ศาลจึงชอบที่พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสทั้ง3รายการเฉพาะส่วนของโจทก์และจำเลยให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งได้
of 6