คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วราภรณ์ มากธนะรุ่ง ว่องเมทินี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับสัญญากู้ยืมเงินและขอบเขตความรับผิดของตัวการ-ตัวแทน
จำเลยที่ 1 ผิดนัดภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผิดนัด เนื่องจากไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ชำระหนี้ ไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาหกสิบวันหรือพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันอันต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้มอบอำนาจดังกล่าวไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีโดยชอบแล้ว
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การยอมรับว่าลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินจริง เพียงแต่อ้างว่าไม่มีมูลหนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวกันจริงหรือไม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะตัวการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กรณีจึงไม่จำต้องใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานและไม่ต้องพิจารณาปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า สัญญากู้ยืมเงิน ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์จะรับฟังได้หรือไม่อีกต่อไป