คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 161

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 220 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากมิได้คัดค้านข้อเท็จจริงและเหตุผลของศาลอุทธรณ์อย่างชัดเจน และฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสิบหกฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสิบหกเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบหกด้วย กรณีมิใช่เรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 ได้
ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริง และไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร เมื่อพิจารณาฎีกาของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่า ฎีกาโจทก์ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์โจทก์มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไร และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะเหตุใดนั้น ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร ฎีกาโจทก์จึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องบุพการี & ข้อผิดพลาดฟ้อง - ศาลควรให้แก้ไขก่อนยกฟ้อง
ป.วิ.อ. มาตรา 161 บัญญัติว่า "ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง" และมาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง" ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามปรากฏว่า โจทก์ทั้งสามได้ลงลายมือชื่อแล้วโดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แทนโจทก์ทั้งสาม เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์ทั้งสามพิมพ์แบบพิมพ์คำขอท้ายฟ้องมาไม่ครบถ้วน โดยพิมพ์เฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีรายการให้ลงลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ฟ้องไว้มาด้วย จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์ทั้งสามแก้ไขก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องต้องระบุรายละเอียดภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาชัดเจน มิฉะนั้นถือเป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14767/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารอุทธรณ์ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งผลให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบ
ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ของจำเลยผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานศาลต้องรายงานต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง และมาตรา 158 (7) ต่อไป แต่เจ้าพนักงานศาลกลับจัดทำหมายแจ้งถึง ช. ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ เสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว กรณีเช่นนี้จะถือว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการแก้ไข ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14496/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม รวมถึงความรับผิดฐานของทนายความในการรับรองเอกสาร
โจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่าปลอมรายงานการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 3/2527 ของบริษัท ง. รายงานการประชุมระบุว่า ป. กับพวก ซื้อที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 169 มาจากบุคคลภายนอกในนามกิจการ โดยให้ ช. ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งเป็นความเท็จ ทั้งไม่มีการประชุมจริง แต่ในคำฟ้องมิได้บรรยายว่าเป็นการปลอมเอกสารสิทธิโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสาร รายงานการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 3/2527 ตามเอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องซึ่งเป็นรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าใครร่วมประชุมและประชุมเรื่องใดบ้าง ใครเป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุม แต่ก็มิใช่องค์ประกอบความผิด และการนำไปเป็นหลักฐานเสนอต่อศาลชั้นต้นเพื่อประกอบ การฟ้องคดีแพ่ง ก็อาจมิได้มีมูลเหตุจูงใจที่จะให้ศาลหลงเชื่อว่ารายงานการประชุมเป็นเอกสารที่แท้จริงได้ เมื่อฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 161 ส่วนความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นความเท็จนั้น จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมวิสามัญฉบับดังกล่าว เป็นเพียงการให้คำรับรองว่าสำเนาเอกสารนี้มีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับหาได้มีความหมายเป็นการรับรองว่า บริษัท ง. ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญตามเนื้อความที่ระบุในสำเนารายงานการประชุมวิสามัญฉบับดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แม้จะได้ความตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่าบริษัท ง. ไม่ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญ และรายงานการประชุมวิสามัญเป็นเอกสารเท็จ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาและ พ.ร.บ.สมาคมฯ ต้องมีรายละเอียดการกระทำความผิดชัดเจน และการกระทำต้องเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 กับพวกอีก 2 คน ทำหนังสือขอให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ โดยร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวในฐานะสมาชิกสามัญของสมาคม ทั้งๆ ที่บุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือขอให้เรียกประชุมและผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่บางคนมิได้เป็นสมาชิกสามัญของสมาคม แล้วนำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมต่อนายทะเบียน แต่เมื่อหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึง 23 กับพวกได้จัดทำขึ้นเองและลงลายมือชื่อของตนเอง นอกจากนั้นบัญชีรายชื่อร่วมการประชุมใหญ่วิสามัญก็มีผู้เข้าร่วมประชุมลงลายมือชื่อของตนเอง กรณีจึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งแปดสิบสามได้ร่วมกันจัดทำเอกสารที่มีข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับฐานะของผู้จัดทำหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญและผู้เข้าร่วมประชุมว่าเป็นสมาชิกสามัญ โดยที่บางคนมิได้เป็นสมาชิกสามัญ ซึ่งอาจมีผลให้การประชุมใหญ่วิสามัญของสมาคมไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสมาคมเท่านั้น หาใช่เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ ทั้งมิใช่การลงลายมือชื่อปลอมหรือประทับตราปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยที่ 39 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในทะเบียนสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรวิทยา อันเป็นการรับรองเอกสารที่มีข้อความเป็นเท็จโดยไม่มีต้นฉบับอยู่จริงนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 39 มีหน้าที่รักษาการแทนนายทะเบียนสมาคม มีหน้าที่รับและจำหน่ายสมาชิก รักษาทำเนียบกับทำทะเบียนต่างๆ ของสมาคม ดังนั้นแม้จำเลยที่ 39 จัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคมอันเป็นความเท็จเพราะมีบุคคลจำนวนหนึ่งที่มิได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกสามัญมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของสมาคม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 39 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคม ได้จัดทำและรับรองเอกสารอันมีข้อความเป็นเท็จเช่นกัน หาใช่เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งมิใช่การลงลายมือชื่อปลอมหรือประทับตราปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงไม่
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งแปดสิบสาม ในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้ระบุรายละเอียดในฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดสิบสามได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าอย่างไร และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชนว่าอย่างไร เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชน จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจึงต้องยกฟ้องตามมาตรา 161
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งแปดสิบสาม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 49, 50, "และ 51 ซึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 49 เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบคำว่า สมาคม"ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นสมาคม เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดสิบสามร่วมกันกระทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรวิทยา โดยกระทำการในนามสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรซึ่งเป็นสมาคมตาม ป.พ.พ. การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 49 และเมื่อสมาคมดังกล่าวเป็นสมาคมตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามจึงไม่เป็นการกระทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นสมาคมที่ได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 50 และ 51

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความไม่สมบูรณ์ของฟ้องอาญา: การไม่ระบุสถานที่เกิดเหตุทำให้ฟ้องไม่ชอบ ศาลฎีกายกฟ้อง
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี... (5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เมื่อตามฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดว่าเหตุเกิดที่ใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจำต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องพิจารณาปัญหาอื่นอีก และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21848/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลมีหน้าที่สั่งให้แก้ฟ้องก่อน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนได้
จำเลยแต่งตั้ง บ. เป็นทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น การที่ บ. ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์เป็นเรื่องฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นรับฟ้องอุทธรณ์ทั้งที่เป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่ในวิสัยที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่หรือดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ชอบที่จะด่วนพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ของจำเลย อย่างไรก็ดีปรากฏว่าในชั้นฎีกาจำเลยยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง บ. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้แล้ว จึงไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับขั้นตอนพิจารณาคดีอาญา: ศาลต้องพิจารณาแก้ฟ้องก่อนตัดสินว่าฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่ามีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 2/2554)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 869/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากลายมือชื่อไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยได้แม้จำเลยไม่โต้แย้ง
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้โจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องต้องลงลายมือชื่อไว้ตามที่แบบพิมพ์คำขอท้ายคำฟ้องอาญาได้กำหนดไว้แต่ตามแบบพิมพ์คำขอท้ายคำฟ้องอาญาของโจทก์เป็นสำเนาเอกสารที่ถ่ายเอกสารมาจากต้นฉบับคำขอท้ายคำฟ้องอาญาที่โจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องได้ลงชื่อไว้แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว และเมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเกิดเพราะความผิดพลาดทางเทคนิค ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยจากเหตุที่คำขอท้ายคำฟ้องอาญาของโจทก์เป็นสำเนาเอกสารดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องที่ไม่ชอบนั้นได้ แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งไว้ แต่ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
of 22