คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 2 (7)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 198 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, การสนับสนุนความผิด, เจตนา, ความผิดฐานยักยอก, การคืนทรัพย์
โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมหลายข้อ โดยข้อ 2 ให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เป็นโจทก์ร่วม และข้อ 6 ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนตามความจำเป็นในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ บ. ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมได้ โดยไม่จำกัดตัวบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี และอำนาจของ บ. ดังกล่าวยังสามารถมอบอำนาจช่วงได้อีกด้วย ฉะนั้น การที่ บ. มอบอำนาจช่วงให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยชอบภายในขอบอำนาจที่ บ. ได้รับมอบมา แม้ตามสำเนาหนังสือรับรองจะมีเงื่อนไขให้กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่การมอบอำนาจช่วงมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีการประทับตราสำคัญของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้การมอบอำนาจช่วงต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย การมอบอำนาจช่วงโดยไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ช. ผู้รับมอบอำนาจช่วงย่อมมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกแทนโจทก์ร่วม มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความที่ได้รับแจ้งจาก ช. ว่า ช. มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เรื่อง กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ส. และจำเลยที่ 4 จากเหตุที่โจทก์ร่วมได้ขายรถแบ็กโฮ 2 คัน ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาไม่สามารถติดตามหารถแบ็กโฮที่ขายให้ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ไม่มีการส่งค่างวด ถูกผู้เช่าซื้อปฏิเสธ จึงมาลงบันทึกประจำวันไว้ดังกล่าว ร้อยตำรวจโท ป. พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้ง ช. เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ร่วมไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย แต่วันนี้ผู้แจ้งไม่พร้อมที่จะให้ปากคำและจะมาให้การในวันต่อไป ดังนี้ แม้พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป และจากข้อความที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งบันทึกไว้ เมื่ออ่านประกอบกับหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ช. นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในการแจ้งความซึ่งระบุมอบอำนาจให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในฐานความผิดยักยอกหรือความผิดอาญาอื่นใดแล้ว พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้รับโทษ การแจ้งความของ ช. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 หาใช่เป็นแต่การแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้โดยยังไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนกันยายน 2558 การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ 3 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 96
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าคดีโจทก์ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้วดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้อง ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารฉบับดังกล่าวรวมอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ อันเป็นสรรพเอกสารตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 27 นั่นเอง เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอถือเอาบัญชีระบุพยานและสรรพเอกสารในคดีนี้ของโจทก์เป็นของโจทก์ร่วมด้วย กรณีถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามติงพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อยืนยันถึงวันที่ที่แน่นอนซึ่งโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ได้ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลชั้นต้นซักถามร้อยตำรวจเอก ป. เพิ่มเติม หรือนำพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสืบหักล้างในภายหลัง กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานในลักษณะจู่โจมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีดังข้ออ้างในฎีกา ดังนั้น สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์: การแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์
โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องอาญา ความผิดอันยอมความได้ ความสำคัญของการร้องทุกข์ภายในกำหนด
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 และเป็นการกระทำที่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทำต่อกัน จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 71 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 การที่โจทก์ร่วมไปดูที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 และพบว่ามีคนลักตัดต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้ในที่ดินดังกล่าว จึงเดินทางไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนั้นว่าต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ร่วมปลูกไว้ในที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ถูกลักตัดไปทั้งหมด 40 ไร่ จึงมาแจ้งไว้เพื่อให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป และในชั้นนี้ได้ขอลงประจำวันให้เป็นหลักฐานไว้ก่อนนั้น เป็นการที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและการกระทำนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ก็มีความประสงค์ให้เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป และแม้จะมีข้อความว่าในชั้นนี้ได้ขอลงประจำวันให้เป็นหลักฐานไว้ก่อน แต่ก็ชี้ให้เห็นเจตนาของโจทก์ร่วมในขณะนั้นว่า โจทก์ร่วมมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การแจ้งความดังกล่าวจึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แม้ภายหลังเมื่อโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยแล้ว แต่เพิ่งไปแจ้งความเพิ่มเติมให้ดำเนินคดีแก่จำเลย รวมทั้งให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 หลังรู้ตัวผู้กระทำความผิดหลายปีก็ไม่ทำให้คำร้องทุกข์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เสียไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.อ. มาตรา 96 แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องอาญา: การรู้เรื่องความผิดและระยะเวลาแจ้งความร้องทุกข์
ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 มีใจความว่า โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง การจ่ายเงินในการก่อสร้าง การสั่งสินค้าต่าง ๆ ต่อมาโจทก์ร่วมเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่างบที่ตั้งไว้ จึงให้จำเลยส่งมอบใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบ เมื่อโจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาแอบอ้างแก่โจทก์ร่วมว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยไป เหตุเกิดที่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้และจะได้สอบสวนต่อไป ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการนำใบเสร็จรับเงินซึ่งหมายถึงบิลเงินสดที่ระบุจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมาแสดงแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้จำเลยไปเกินกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ร่วม ทั้งยังได้ความดังกล่าวข้างต้นว่าโจทก์ร่วมส่งมอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย และในข้อที่พนักงานสอบสวนบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจะได้สอบสวนต่อไป ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ขอให้พนักงานสอบสวนระงับการดำเนินการสอบสวนไว้ก่อน พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแก่พนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ซึ่งได้กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกเงินสมาคมฌาปนกิจฯ ร่วมกันกระทำความผิด พยานหลักฐานจากคำให้การของผู้ร่วมกระทำความผิด
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6774/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงและการร่วมกันกระทำผิด: ผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์และฟ้องได้ แม้ไม่ได้มีเจตนาเข้าร่วมเล่นพนัน
การที่โจทก์ร่วมทั้งสองไปที่เกิดเหตุก็เพื่อต้องการขายที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับจำเลยและพวกมาตั้งแต่ต้น และการที่โจทก์ร่วมทั้งสองยอมมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปก็สืบเนื่องมาจากแผนการหรือกลอุบายที่จำเลยกับพวกร่วมกันสร้างเรื่องขึ้นมาโดยพูดจาหว่านล้อมโจทก์ร่วมทั้งสองให้หลงเชื่อ ทั้งยังให้โจทก์ร่วมทั้งสองดื่มกาแฟซึ่งมีอาจมีส่วนผสมของยาที่ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองเกิดอาการมึนงงอีกด้วย เพื่อจะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสองด้วยวิธีการอันแนบเนียนตามที่ได้วางแผนกันมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองมีเจตนาเข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยและพวกโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามมาตรา 2 (7) และมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานประจำวันเป็นคำร้องทุกข์ได้ หากแสดงเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี และฟ้องภายใน 3 เดือน
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4560/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความและร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกง: การมีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดี
แม้ในเบื้องต้นโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่งในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถ โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และมาตรา 120 ตามลำดับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6608-6609/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการฟ้องคดีอาญาต่อแผ่นดิน: การสอบสวนและการดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกงแรงงาน: การแจ้งข้อหาไม่ถือเป็นการจับกุม และองค์ประกอบความผิดครบถ้วน
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว
of 20