พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14262/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดกรรมเดียวและความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีจำหน่ายภาพยนตร์และสินค้าควบคุมฉลาก
ความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากและจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง เป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับกับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดสามารถแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานนี้จึงเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดสองฐานดังกล่าว
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากและจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่สินค้าที่ควบคุมฉลากนั้นไม่มีฉลากหรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง หาใช่เกิดจากตัวสินค้าโดยตรงไม่ แผ่นดีวีดีและซีดีของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากและจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่สินค้าที่ควบคุมฉลากนั้นไม่มีฉลากหรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง หาใช่เกิดจากตัวสินค้าโดยตรงไม่ แผ่นดีวีดีและซีดีของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14258/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลักทรัพย์ในสถานที่ให้บริการสาธารณะต้องเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต หากไม่มีหลักฐานการหวงห้ามหรือปิดกั้น สถานที่นั้นไม่ถือเป็นสถานที่ที่เข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปในบริเวณศาลาการเปรียญวัดหนองบัวอันเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักประตูเหล็กพับยืด 4 บาน ราคา 20,000 บาท ของวัดหนองบัว ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองบัวผู้เสียหาย และเก็บรักษาไว้ในสถานที่ดังกล่าวไป โดยใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) นอกจากองค์ประกอบความผิดที่ว่าสถานที่ที่ลักทรัพย์ต้องเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะแล้ว ผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ต้องเข้าในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุลักทรัพย์วัดหนองบัวได้หวงห้ามหรือปิดกั้นมิให้ประชาชนซึ่งเข้าไปในวัดหนองบัวเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยเข้าไปลักประตูเหล็กพับยืดในบริเวณที่เกิดเหตุจึงมิใช่เป็นการเข้าไปลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14256/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติ/ละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ และปลอมเอกสาร การลงโทษความผิดหลายกรรม
คดีนี้จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย และฟ้องของโจทก์บรรยายโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันโดยแยกเป็น 4 ข้อ ซึ่งความผิดทั้งสี่ข้อเป็นการกระทำต่างวันเวลากันอีกทั้งจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนากระทำความผิดทั้งสี่ข้อแยกต่างหากออกจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14177/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีสัญญาประกัน: การดำเนินการภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำสั่ง ถือว่าชอบแล้ว แม้บังคับคดีเกินกำหนด
พนักงานอัยการซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการบังคับคดีตามสัญญาประกันจำเลยตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะบังคับคดี ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) ในวันที่ 10 มีนาคม 2542 และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2542 ศาลชั้นต้นในฐานะที่เป็นผู้บังคับตามสัญญาประกันได้ส่งเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีที่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) วางต่อศาลชั้นต้นให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนี้ ถือได้ว่าพนักงานอัยการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้บังคับคดีตามคำสั่งอันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) แล้ว เมื่อพนักงานอัยการดำเนินการขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำสั่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปบังคับคดีเมื่อใดนั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปบังคับคดีเกินสิบปีนับแต่วันมีคำสั่ง ก็ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งภายในสิบปีนับแต่วันมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว แม้ต่อมามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 ให้เพิ่มความเป็นมาตรา 119 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันดังกล่าวก็ตาม ก็ต้องถือว่าผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นได้มีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว ดังนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้อง (ผู้ประกันที่ 1) อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14163/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญาที่จำเลยให้การรับสารภาพ โดยไม่โต้แย้งเรื่องอายุความหรือการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย
ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้ต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงต้องถือว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 เป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก และเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13654/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีอาญาที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต การถอนอุทธรณ์ และการกำหนดวันคดีถึงที่สุดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 9 ตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก, 289 (2), 289 (3), 80 ประกอบมาตรา 83 จำคุกตลอดชีวิต ศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 9 ไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 9 ถอนอุทธรณ์จึงไม่เป็นผลให้คดีของจำเลยที่ 9 ถึงที่สุด ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดที่ 129/2549 ให้จำเลยที่ 9 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 9 ฟัง จึงไม่ชอบ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนลงโทษจำเลยที่ 9 ตามศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยที่ 9 จึงเป็นที่สุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 9 ฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่โดยระบุว่า คดีถึงที่สุดวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 จึงชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 9 จะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 หรือไม่ ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13637/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องอาญาฐานพรากผู้เยาว์ การระบุเวลาที่ไม่ชัดเจนไม่ทำให้ฟ้องไม่ชอบ หากจำเลยเข้าใจข้อหาได้ และการพิจารณาความผิดหลายกรรม
คำว่า เวลา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หมายความถึงวันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ ทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จะกระทำไปในเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็หาเป็นสาระสำคัญแห่งการกระทำผิดไม่ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ มิได้หลงต่อสู้ในข้อที่มิได้กล่าวไว้นั้น จำเลยย่อมเข้าใจว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ดังนั้น จะถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิดถึงขนาดเป็นฟ้องไม่ชอบหาได้ไม่ ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13630/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าทนายความในคดีอาญา: ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยจ่ายให้โจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมชนะคดี
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าโจทก์ร่วมเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 กำหนดให้คู่ความที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ร่วมไม่ได้เสียค่าธรรมเนียม และห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 252 และมิใช่กรณีที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 255 จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความให้โจทก์ร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12768/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิสูจน์ความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและการเพิกถอนชื่อมารดาออกจากทะเบียนบ้าน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อ จ. ออกจากการเป็นมารดาของจำเลยต่อนายทะเบียนท้องถิ่นแล้วให้จำเลยกลับไปใช้ชื่อบิดามารดาเดิมโดยอ้างว่าจำเลยไม่มีความเกี่ยวข้องกับ จ. เป็นเพียงคนที่ จ. อุปการะเลี้ยงดู และให้ใช้ชื่อสกุลเท่านั้น เมื่อตามทะเบียนบ้านระบุว่าจำเลยเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ความเป็นบิดามารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 กำหนดว่า บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ได้ตรวจชำระใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการเป็นบิดามารดากับบุตร ดังนั้นความเป็นมารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่งมาตรา 1525 บัญญัติรับรองความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงว่าเด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายย่อมต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอ นอกจากนี้การพิสูจน์ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้เหมือนการพิสูจน์ความเป็นบิดา การพิสูจน์ความเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ. จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาบังคับได้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้แก่บทบัญญัติที่ใช้พิสูจน์ความเป็นบิดาตามมาตรา 1524 วรรคสองและวรรคสามตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11982/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบรรยายฟ้องคดีทำร้ายร่างกายต้องระบุระยะเวลาการรักษา และเหตุรอการลงโทษจำคุก
การที่แพทย์ลงความเห็นตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารท้ายฟ้องว่า ผู้เสียหายรักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึงวันที่ 12 เมษายน 2554 และเห็นควรได้รับการรักษาประมาณสองสัปดาห์ทุเลา แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บเป็นเวลาเกินกว่า 20 วัน ซึ่งรวมถึงอาจป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ด้วย ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินยี่สิบวันและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้น จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว ทั้งผู้เสียหายจะป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา