คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พศวัจณ์ กนกนาก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9839/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมให้เด็กเล่นเกมช่วงกลางคืนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าเข้าข่ายขัดขวางพัฒนาการเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (7) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก การที่จำเลยซึ่งทำงานเป็นผู้ดูแลและเก็บค่าบริการของร้านเกมชื่อ ร้านท้อปเกม ยินยอมให้ ว. อายุ 15 ปี และ ณ. อายุ 16 ปี ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส เข้าเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในร้านที่จำเลยดูแลในเวลา 2 นาฬิกาโดยเก็บเงิน 20 บาท ต่อการเล่นเกม 3 ชั่วโมง แม้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ถือเป็นการนันทนาการ ไม่ใช่กีฬาตามที่จำเลยฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำใดๆ อันมีลักษณะใกล้เคียงกันจึงต้องได้รับความคุ้มครองเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าซึ่งในเวลาเช่นนั้นบุคคลทั้งสองต้องพักผ่อนหลับนอนเพื่อให้ได้รับการพัฒนาตามวัยอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของ ว. และ ณ. ตามมาตรา 26 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8707/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจต่อสู้คดีของลูกหนี้ล้มละลายตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลต้องส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้...(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้" การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนจากเงินขายทอดตลาดที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ล้มละลายมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ย่อมมีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อำนาจในการต่อสู้คดีนี้ของจำเลยที่ 1 จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 หามีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีด้วยตนเองไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวิธีการคุมขังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 89/2 สงวนไว้สำหรับผู้มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 89/2 บัญญัติว่า "ในกรณีมีเหตุจำเป็น เมื่อพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามที่ระบุไว้ในหมายศาลที่ออกตามคำพิพากษานั้น หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกินสามสิบปีขึ้นไป หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้..." บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก เป็นผู้ร้องขอ มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดจึงมิใช่บุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6860/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก: การยินยอมให้เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ไม่เป็นความผิด
การกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) จะต้องได้ความว่า เด็กที่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมนั้น ประพฤติตนไม่สมควร ซึ่งเด็กประพฤติตนไม่สมควรกฎหมายดังกล่าวมิได้นิยามไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า หมายถึง เด็กประพฤติตนไม่สมควรแก่วัยของเด็กในขณะนั้น ๆ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านอินเตอร์เน็ตและเกมยินยอมให้ อ. อายุ 17 ปีเศษ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ในร้านจำเลยโดยได้รับค่าบริการ ในเวลากลางวันแม้ไม่ปรากฏว่าเป็นการเปิดภาคเรียนก็มิใช่เป็นการประพฤติตนไม่สมควรแก่วัยแต่อย่างใด การตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความเคร่งครัดไม่อาจตีความขยายให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ทั้งเป็นการตีความให้กฎหมายขัดกับสิทธิเสรีภาพของเด็กจนเกินไป มิฉะนั้นแล้วหากผู้ใดให้เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็จะเป็นความผิดได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 26 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้คำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ หากคู่ความตกลงและไม่มีข้อจำกัดตามกฎหมาย
โจทก์แถลงขอให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้โดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจถามค้านอีก เนื่องจากได้มีการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตในขณะนั้น แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยไป เท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำบันทึกคำให้การชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนเงินฝากโดยใช้ลายพิมพ์นิ้วมือแทนลายมือชื่อหลังผู้ฝากป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ถือเป็นข้อตกลงที่ทำได้ตามกฎหมาย
การที่โจทก์ฎีกาในบางตอนปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือซ้ายในการถอนเงินและปิดบัญชีไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เจ้าของบัญชีเงินฝากประจำ แต่บางตอนกลับรับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. นั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส.
สัญญาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน คู่ความจะตกลงรูปแบบและกำหนดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น ส. กับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้ ส. ถอนเงินโดยให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายแทนการลงลายมือชื่อได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ในชั้นพิจารณา ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อสาระสำคัญของการกระทำความผิดว่าจำเลยกระทำโดยประมาทด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรและไม่ชะลอความเร็วเมื่อถึงสี่แยก แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยจอดรถอยู่ที่สี่แยกและเพิ่งขับรถเคลื่อนที่เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมองไม่เห็นมิใช่เพราะการขับรถเร็วหรือไม่ชะลอความเร็วตามฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ทั้งเป็นข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ที่ดัดแปลง 1 เครื่อง พร้อมบาร์เลื่อย 1 อัน และโซ่เลื่อยยนต์ 1 เส้น อันเป็นส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล อันเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย แม้กฎกระทรวงจะกำหนดลักษณะและขนาดของเลื่อยโซ่ยนต์ที่จะทำให้ผู้ที่มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดก็ตาม แต่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดลักษณะและขนาดเลื่อยโซ่ยนต์เฉพาะที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว เท่านั้น เมื่อโจทก์อ้างถึง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 และกฎกระทรวงที่ถือเป็นความผิดไว้ในคำฟ้องแล้ว เท่ากับอ้างว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเป็นเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายจับและอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยที่ไม่มาศาลตามนัด แม้ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาใหม่แล้ว
จำเลยที่ 2 ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 แล้ว แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล แม้หลังจากนั้นศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 และนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใหม่ในวันที่ 25 มกราคม 2554 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่มาศาลในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ถือได้ว่ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 2 หลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม โดยไม่จำต้องออกหมายนัดแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มกราคม 2554 ให้จำเลยที่ 2 ทราบอีก ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลับหลังจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ผู้อื่นพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้ถูกใช้ไม่รู้เจตนา ผู้ใช้เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม
การกระทำที่จำเลยกับพวกใช้ให้ ภ. ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่วัดสะแก พาไปที่บ้านเกิดเหตุ แล้วจำเลยกับพวกร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 1 นั้น เมื่อตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภ. สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยและพวกหรือรู้มาก่อนว่าจำเลยกับพวกใช้ให้พาผู้เสียหายที่ 1 มาเพื่อการอนาจาร พฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่า ภ. มีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร หรือมีเจตนาร่วมกับจำเลยและพวกกระทำความผิดดังกล่าว การที่จำเลยกับพวกใช้ให้ ภ. ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุเพื่อการอนาจารจึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ ภ. ซึ่งเป็นผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยกับพวกใช้ ภ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83
of 15