คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พศวัจณ์ กนกนาก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อการถอนเงินปลอมแปลงจากบัญชีเงินฝาก แม้โจทก์มอบหมายพนักงานดูแลบัญชี
การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ดูแลสมุดบัญชีนับว่าเป็นเรื่องปกติ มิได้หมายความว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเสมอไป จะไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์มอบหมายสมุดเงินฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท
จำเลยที่ 5 จะมีลายมือชื่อของลูกค้าไว้เปรียบเทียบเพื่อตรวจสอบได้และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะต้องตรวจสอบความถูกต้องเนื่องจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพและได้รับผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพราะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนที่เข้าใช้บริการกับจำเลยที่ 5 ด้วยเหตุที่เป็นอาชีพและปริมาณลูกค้าจำนวนมาก จำเลยที่ 5 ย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ และเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของ ม. กับ ร. ตามใบถอนเงินแล้วจะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกับลายมือชื่อของ ม. และ ร. ที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างแก่จำเลยที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่ไม่เคยมีการถอนเงินมาก่อน และในการถอนเงินครั้งแรกเป็นการมอบอำนาจให้รับเงิน แต่ไม่ปรากฏว่ามีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ม. และ ร. และการจ่ายเงินทุกครั้งก็จ่ายเป็นเงินสด เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังเหตุทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 5 ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 5 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ หากแต่เป็นการกระทำโดยตรงต่อจำเลยที่ 5 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะดำเนินการกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องรับผิดทั้งต่อโจทก์และจำเลยที่ 5 ในการกระทำความผิดครั้งเดียว ย่อมทำให้ต้องรับผิดเกินกว่าความเสียหายจริง แต่จำเลยที่ 5 มิได้นำเงินของโจทก์ไป หากแต่จำเลยที่ 1 เอาเงินของจำเลยที่ 5 ไป จำเลยที่ 5 เพียงแต่ต้องปรับแก้บัญชีของโจทก์ที่ระบุว่ามีการถอนเงินออกไปให้กลับคืนเหมือนเดิม และเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 5 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21502/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายทางจิตใจและชื่อเสียงจากการบุกรุก ไม่ถือเป็นความเสียหายในทางทรัพย์สินที่ชดใช้ได้
ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20313/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฎรเมื่อไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และการโต้แย้งสิทธิ
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่าจำเลยทั้งหกมิใช่บุตรของโจทก์ ตราบใดที่แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรยังระบุว่า โจทก์เป็นมารดาของจำเลยทั้งหกย่อมเกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ เพราะจำเลยทั้งหกอาจนำเอกสารดังกล่าวไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานดำเนินการในกิจการต่าง ๆ อันอาจทำให้สิทธิประโยชน์หรือหน้าที่ของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป การที่จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของประวัติที่ปรากฏในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไม่ดำเนินการให้นายทะเบียนแก้ไขรายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 14 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยทั้งหกไม่ให้ใช้ชื่อโจทก์เป็นมารดาของจำเลยทั้งหกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19392/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: ผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและผู้สลักหลังมีหน้าที่ผูกพันตามเช็ค แม้มีการเปลี่ยนแปลงมูลหนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทห้าฉบับให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง นำเช็คพิพาททั้งห้าฉบับดังกล่าวมาชำระหนี้เงินกู้และค่าสินค้าแก่โจทก์ แม้โจทก์จะนำสืบว่า จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทดังกล่าวมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งห้าฉบับแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสลักหลังเช็คทั้งหมดแล้วส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 และมาตรา 921, 940 ประกอบมาตรา 989 แม้มูลหนี้ที่โจทก์รับเช็คดังกล่าวไว้ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจะแตกต่างจากคำฟ้องไปบ้าง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งห้าฉบับได้ หาได้เป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์หักดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อวัน และมีการนำไปหักกลบลบหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ซื้อไปจากจำเลยที่ 2 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่อาจนำสืบได้ จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ เนื้อหาของฎีกาส่วนดังกล่าวล้วนแต่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาทั้งสิ้น โดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับคดีจากกองมรดก: โจทก์มีสิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปี แม้จำเลยเสียชีวิต ไม่ถือฟ้องคดีมรดก
คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16121/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ตามคำพิพากษาและการบังคับคดี: โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าแต่ยังชอบที่จะชำระได้ และจำเลยไม่อาจห้ามโจทก์รับโอนที่ดิน
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยให้โจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่างตอบแทนกัน โจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างจึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา หาใช่บังคับให้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายอีกต่อไปไม่ การบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์จะรับโอนที่ดินพิพาทโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าที่ดินมาวางศาลภายในกำหนดเพื่อชำระให้แก่จำเลยเสียก่อน ส่วนคำบังคับที่ให้โจทก์ชำระค่าที่ดินให้จำเลยภายใน 30 วันนั้น เป็นเพียงกำหนดเวลาที่ให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้เองเท่านั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดตามคำบังคับ จำเลยย่อมร้องขอให้ใช้วิธีการบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 การที่โจทก์ยังไม่ชำระหนี้จนพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ จึงหาตัดสิทธิโจทก์ที่จะยอมชำระหนี้ด้วยความสมัครใจในระหว่างถูกบังคับคดีไม่ โจทก์จึงชอบที่จะวางเงินค่าที่ดินชำระหนี้แก่จำเลยแม้จะเกินกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับได้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ทำให้จำเลยไม่จำต้องบังคับคดีแก่โจทก์ต่อไปเท่านั้น และหาเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะร้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนด้วยไม่ จำเลยจึงไม่อาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีห้ามโจทก์ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14480/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่ สมคบกันก่อการร้าย และช่วยเหลือผู้ต้องหา: เป็นความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสมคบกันเพื่อก่อการร้ายนั้น จำเลยกระทำความผิดด้วยการรับฝึกการก่อการร้าย สะสมกำลังพลและอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืน และตระเตรียมการใช้อาวุธฆ่าเจ้าพนักงานและประชาชน โดยมีเจตนาที่จะขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและเพื่อสร้างความปั่นป่วน โดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนเพื่อก่อการร้าย และความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาให้พ้นจากการจับกุมนั้น จำเลยกระทำความผิดเพื่อช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดให้พ้นจากการจับกุม การกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่กับฐานร่วมกันสมคบกันเพื่อก่อการร้ายและฐานร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาให้พ้นจากการจับกุมนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่กับการสมคบกันเพื่อการก่อการร้ายและช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาให้พ้นจากการจับกุมก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่กับฐานร่วมกันสมคบกันเพื่อการก่อการร้ายและฐานร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ต้องหาให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่ความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาวางเงินชดใช้ค่าเสียหายเพื่อขอรอการลงโทษ แม้ศาลไม่อนุญาต ก็ไม่มีสิทธิถอนเงินคืน
การที่ระหว่างฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอวางเงิน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องของจำเลยให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่แล้ว ทั้งฎีกาของจำเลยก็อ้างเหตุที่จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่ากับศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ขอวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและศาลฎีกานำข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่การวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินดังกล่าวกลับไป หากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น เมื่อต่อมาปรากฏตามคำร้องของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13990/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หากไม่ปฏิบัติตาม พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตรวจวินิจฉัยว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตาม ป.วิ.อ.
การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนมาก่อนและย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. 120 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12827/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกแบ่งทรัพย์สินเจ้าของรวม แม้มีข้อตกลงห้ามแบ่ง แต่ระยะเวลาข้อตกลงเกิน 10 ปี และไม่มีลักษณะเป็นการถาวร
โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็จะเรียกแบ่งไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างบิดาขณะยังมีชีวิตอยู่กับบุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ จำเลยทั้งสี่ และ ธ. ด้วยว่าห้ามโอนหรือแบ่งแยกที่พิพาท ซึ่งมีลักษณะเป็นนิติกรรมห้ามแบ่งแยกระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน แต่จะรับฟังถึงขนาดว่าวัตถุประสงค์ที่โจทก์ จำเลยทั้งสี่ และ ธ. เป็นเจ้าของรวมกันมีลักษณะเป็นการถาวรคงยังไม่ชัดแจ้งนัก ทั้งนิติกรรมที่ห้ามแบ่งทรัพย์สิน จะใช้บังคับระหว่างเจ้าของรวมด้วยกันเกิน 10 ปี ไม่ได้ ตามมาตรา 1363 วรรคสอง หาใช่ว่าไม่มีกำหนดระยะเวลาดังที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อนิติกรรมห้ามโอนได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอเรียกแบ่งทรัพย์สินเกินกว่า 10 ปี แล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกขอแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร ตามมาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1363 วรรคหนึ่ง
of 15