พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12789/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดต่างกรรม: ครอบครองวิทยุเถื่อน vs. หลีกเลี่ยงข้อห้ามนำเข้า การระงับคดีหนึ่งไม่กระทบอีกคดี
การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดนั้นแยกออกจากกันได้ชัดเจน ทั้งเจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ ตลอดจนกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ก็เป็นคนละฉบับกัน จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรม แม้อธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้ระงับการดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ก็ไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตระงับไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12670/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีซ้ำซ้อนและประเด็นการเพิ่มโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้าและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนในคดีเดิมหมายเลขแดงที่ อย. 3475/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยเป็นคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นได้ว่า เวลากระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมก่อนวันที่ 9 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเวลาเดียวกัน เมื่อฟ้องคดีนี้ระบุว่า จำเลยกระทำผิดระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จึงอาจเป็นการกระทำความผิดก่อนวันที่ยังจะต้องรับโทษอยู่หรือก่อนวันพ้นโทษในวันที่ 9 กันยายน 2552 ดังที่ระบุในคำฟ้องคดีเดิมก็ได้ มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลังวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความประมาทเลินเล่อในการซ่อมรถบรรทุกน้ำมัน ทำให้เกิดระเบิดและเสียชีวิต
การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12085/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเสพยาเสพติดขณะขับขี่: การพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และองค์ประกอบความผิด
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติไว้ในลักษณะ 3 ว่าด้วยการใช้ทางเดินรถ แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่ซึ่งเสพยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 43 ทวิ ต้องขับรถในทางเดินรถด้วย และเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าร่างกายเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนี้ จึงต้องพิจารณาเพียงว่าผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ปริมาณไม่ปรากฏชัด โดยวิธีสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12037/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้เอกสารปลอมประกอบฉ้อโกง: พิจารณาเป็นกรรมเดียว แม้เอกสารต่างประเภท
แม้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี แผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์และสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของกลางจะเป็นเอกสารและเอกสารราชการต่างประเภทกันแยกออกจากกันเป็นคนละฉบับ แต่การติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีและแผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ปลอมของกลางไว้ที่รถยนต์ของกลางคันเดียว พร้อมกับนำสมุดใบคู่มือจดทะเบียนรถปลอมของกลางไปใช้แสดงต่อผู้เสียหายในคราวเดียวกันโดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันเพื่อประกอบข้อความอันเป็นเท็จในการฉ้อโกงโดยมุ่งหมายให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้อง, แบบพิมพ์ฟ้อง, และอำนาจฟ้องในคดีเช็ค - การจับกุมและการแจ้งข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้
การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด
แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้
การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11710-11711/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของนิติบุคคล และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารสิทธิ
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์ที่ 3 จะเป็นผู้ถือหุ้นโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 70 ก็หาทำให้โจทก์ที่ 3 มีสิทธิดำเนินคดีจำเลยซึ่งกระทำความผิดต่อโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11683/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สำคัญผิดในอายุผู้เสียหาย: เหตุยกฟ้องคดีกระทำชำเรา หากมีเหตุเชื่อได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในอายุของผู้เสียหายจริง
จำเลยเบิกความว่า จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุประมาณ 18 ปี ถึง 19 ปี เพราะรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าอายุ หากดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุเกิน 18 ปีแล้ว เจ้าของร้านอาหารริมชีรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานเนื่องจากเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หากเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 จะรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อน บุคคลทั่วไปมองผู้เสียหายที่ 1 แล้วอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุ 17 ถึง 18 ปี จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารริมชีมาก่อนโดยทำงานตั้งแต่เวลา 9 ถึง 19 นาฬิกา อีกทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่านอกจากจำเลยแล้วยังมีชายอื่นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก 11 คน จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่ารูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปี จำเลยอาจสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกิน 18 ปี ดังที่อ้างก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องและทำให้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11492/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาโดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาเดิมของจำเลยที่ย้ายที่อยู่แล้ว ถือเป็นการส่งโดยชอบหรือไม่
การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทราบโดยการปิดหมายนั้น หากเป็นการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายไปจากภูมิลำเนานั้นก่อนแล้วย่อมเป็นการส่งโดยชอบ และเมื่อครบกำหนด 15 วันแล้ว ย่อมมีผลใช้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กรณีของจำเลยแม้ได้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ให้จำเลยทราบ โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องของโจทก์ก็ตาม แต่ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2554 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ในการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 25 เมษายน 2554 ให้จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ส่งไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ใหม่ ดังนี้ ก่อนศาลชั้นต้นจะเลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ออกไป และหมายนัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยให้เจ้าพนักงานศาลส่งโดยวิธีปิดหมายนั้น ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเสียก่อนว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาตามคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการดังกล่าวกลับมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องของโจทก์ ทั้งกรณีมิใช่หน้าที่ของจำเลยที่ต้องแถลงที่อยู่ให้ศาลทราบ ข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นกรณีที่จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาตามคำฟ้องของโจทก์ไปแล้วก่อนมีการปิดหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 แม้จะปิดหมายครบ 15 วัน แล้วก็ไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทราบโดยชอบ การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 และศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลับหลังจำเลยหลังจากออกหมายจับจำเลยเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันดังกล่าวและถือไม่ได้ว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยฟังโดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11231/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสอบสวนที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด น้ำหนัก 0.45 กรัม และเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ถือว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวจำเลยไปศาลภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับพิจารณาเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแทนการถูกดำเนินคดีตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนมาก่อน และย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120