คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พศวัจณ์ กนกนาก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้าม กรณีจำเลยไม่โต้แย้งประเด็นความประมาทในชั้นอุทธรณ์แล้วมาฎีกาใหม่ โดยอ้างคำพิพากษาคดีอาญา
การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น เป็นกรณีที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นที่คู่ความยังคงโต้แย้งกันอยู่และเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลในคดีส่วนอาญาจะต้องวินิจฉัย ทั้งนี้เพื่อให้การรับฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเป็นไปในทางเดียวกัน เมื่อคดีในส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนกระทำการโดยประมาท คดีส่วนแพ่งจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามและพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามสัดส่วนแห่งความประมาทของตน การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย โดยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใด แม้ต่อมาความจะปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนอาญาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจจะฎีกาได้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งเป็นการต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งตัวจำเลยเพื่อรับคำพิพากษา ไม่ถือเป็นการส่งมอบตัวตามสัญญาประกัน หากจำเลยต้องการยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์
แม้ผู้ประกันจะนำตัวจำเลยมายังศาลชั้นต้นตามกำหนดนัดที่ศาลชั้นต้นระบุไว้ในใบนัดให้ส่งตัวจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ศาลว่าในวันดังกล่าวจำเลยและผู้ประกันมาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานศาลตรวจสอบแล้วปรากฏว่าล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และสอบถามจำเลยแล้วประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ จำเลยและผู้ประกันจึงให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องให้จำเลยและผู้ประกันแล้วได้แจ้งให้จำเลยและผู้ประกันรอฟังคำสั่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วจำเลยและผู้ประกันไม่มาฟังคำสั่ง พฤติการณ์ของจำเลยและผู้ประกันดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยและผู้ประกันมาศาลตามกำหนดนัดในใบนัดของศาลชั้นต้นเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว ผู้ประกันจึงผิดสัญญาประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจอนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง ศาลพิจารณาเจตนารมณ์และประโยชน์คู่ความมากกว่าข้อความในตัวบท
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ นั้นเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท มิฉะนั้นแล้วผลจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นเห็นควรนำปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ตามที่คู่ความร้องขอ แต่ใช้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากตัวบท กลับเป็นผลร้ายแก่คู่ความซึ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อนุญาตให้อุทธรณ์ได้ แม้ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ได้ กรณีย่อมถือได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย การจับนมโดยไม่ยินยอมถือเป็นกำลังประทุษร้ายได้
การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าการจับนมเป็นเพียงวิธีการทำอนาจารผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4913/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีเพิกถอนนิติกรรม: คดีมีทุนทรัพย์ประเมินจากราคาที่ดิน หากอุทธรณ์/ฎีกา โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาล
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนรายการประเภทการจำนองและการไถ่ถอนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกถอนการขายฝากและการไถ่ถอนขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และเพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ฝ่ายจำเลยให้การว่านิติกรรมทั้งหมดดังกล่าวกระทำโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ซึ่งหากโจทก์ชนะคดีย่อมได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาเป็นของตน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน: การเบิกความของผู้เสียหายที่ได้ฟังพยานก่อนหน้า ศาลต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือและผลกระทบต่อคำวินิจฉัย
แม้ก่อนสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหาย ทนายจำเลยแถลงว่า ขณะสืบพยานโจทก์ปาก ว. ผู้เสียหายนั่งอยู่ในห้องพิจารณา ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบ ขอคัดค้านการสืบพยานปากผู้เสียหาย ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบโดยยังไม่ได้จดรายงานกระบวนพิจารณาดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะกรณีดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาข้อคัดค้านของทนายจำเลยแล้วจึงอนุญาตให้โจทก์นำพยานปากผู้เสียหายเข้าสืบและบันทึกเหตุผลในการอนุญาตไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหลังจากที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานปากผู้เสียหายเบิกความเป็นที่เชื่อฟังได้หรือไม่ ก็ต้องให้ผู้เสียหายเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หรือไม่ต่อไป แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งได้ฟังคำเบิกความของ ว. แล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของผู้เสียหายอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของ ว. พยานคนก่อนหรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของผู้เสียหายก็เป็นการผิดระเบียบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพความผิดหลายกระทง ศาลต้องพิจารณาคำรับสารภาพโดยรวมเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือรับของโจร และจำเลยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามฟ้องโจทก์ทุกประการ และบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาต่อท้ายคำให้การของจำเลยว่า อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยเข้าใจดีแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมระหว่างข้อความดังกล่าวว่า ฐานลักทรัพย์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยรับว่าจำเลยกระทำความผิดจริง และให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ เพียงขอให้รอการลงโทษเท่านั้น พอแปลความหมายคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือรับของโจร การที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมระหว่างข้อความรับสารภาพตามฟ้องว่าฐานลักทรัพย์ ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานใดระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพความผิดฐานลักทรัพย์และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาและสถานการค้าประเวณี ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐานเป็นธุระจัดหา
ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและเพื่อการอนาจารและความผิดฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อกระทำการค้าประเวณีนั้น กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้ที่เป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อการอนาจารหรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี ไม่ว่าการเป็นธุระจัดหาดังกล่าวกระทำขึ้นโดยวิธีการใด ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีนั้น กฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้จัดการกิจการหรือสถานที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าประเวณีหรือเพื่อใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลเพื่อกระทำการค้าประเวณีเป็นการเฉพาะ ดังนี้ เมื่อสภาพแห่งความผิดทั้งสองอย่างดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่มีเจตนากระทำความผิดแตกต่างกันจึงเป็นความผิดต่างกรรม มิใช่กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหานี้ขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษทั้งสองบทในความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเพื่อการอนาจารและฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณีตามจำนวนผู้เสียหาย รวม 4 กระทง กับฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล ผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี อีก 1 กระทง ต่างหากได้ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาหลังพ.ร.บ.ล้างมลทิน ศาลฎีกาแก้ไขได้หากจำเลยได้รับประโยชน์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ซึ่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการพิพากษาโดยมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 190 บัญญัติให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วได้เฉพาะถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงการแก้ไขกรณีมีข้อผิดหลงเล็กน้อยไว้เหมือนดังเช่น ป.วิ.พ. มาตรา 143 ดังนี้ แม้คดีจะถึงที่สุดไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขอให้งดเพิ่มโทษจำเลย เท่ากับจำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องและคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งแร่ต่อการกระทำความผิดของลูกจ้าง กรณีมิได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ
แม้ผู้ร้องที่ 1 เคยรับจ้างขนแร่ให้แก่บริษัท จ. มาก่อน และไม่เคยถูกจับกุม แต่ก็มิใช่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ร้องที่ 1 กำชับให้จำเลยตรวจสอบใบอนุญาตให้ถูกต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ทราบว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นได้ และการกำชับดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องคอยควบคุมดูแลมิให้จำเลยขนแร่โดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย การที่ผู้ร้องที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องที่ 1 นำรถพ่วงของกลางไปบรรทุกแร่ โดยเป็นผู้ตรวจสอบใบอนุญาตขนแร่เองทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่รู้ว่าใบอนุญาตขนแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลักษณะอย่างไร ถือได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นอีกด้วย จึงให้ริบรถพ่วงของกลางและยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1
of 15