พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค้ามนุษย์-แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก: ศาลแก้โทษจำคุกรวม หลังพิพากษาอุทธรณ์
แม้การร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไปหรือชักพาผู้เสียหายทั้งสองไปเพื่อการอนาจาร หรือเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี รวมทั้งการร่วมกันชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ที่กระทำแก่ผู้เสียหายแต่ละคนในแต่ละครั้งอาจเป็นความผิดหลายกระทงได้ แต่การที่ผู้เสียหายทั้งสองขายบริการทางเพศคนละ 4 ครั้ง เกิดจากเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานอื่นดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ที่ร่วมกันกระทำแก่ผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่แรกเพียงเจตนาเดียว การขายบริการทางเพศที่เนื่องมาย่อมไม่เป็นความผิดต่างกรรมไปจากความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์และฐานอื่นดังกล่าวแต่ละฐานอีก จึงไม่อาจลงโทษในการกระทำที่กระทำแก่ผู้เสียหายทั้งสองแยกเป็นคนละ 4 กระทงได้ ปัญหานี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยซึ่งมิได้อุทธรณ์หรือฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีค้ามนุษย์: การสมคบคิด, ความเสียหาย, และค่าชดใช้
ความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นในคดีนี้ เป็นความผิดคนละประเภทกับความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้เข้าพักอาศัยโดยซ่อนเร้นให้พ้นจากการจับกุมตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 และยังเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันด้วย ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกัน สามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ แม้กระทำความผิดในคราวเดียวกัน ก็เป็นคนละกรรมกัน กรณีมิใช่โจทก์นำการกระทำกรรมเดียวกันมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไปเฉพาะกระทงความผิดดังกล่าวเท่านั้น ส่วนกระทงความผิดอื่นในคดีนี้ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิด จะถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สมคบค้ามนุษย์: การกระทำความผิดต่อเนื่อง vs. ความผิดกรรมเดียว
การที่จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 3 อายุ 15 ปีเศษ ไปขายบริการทางเพศ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และวันที่ 19 สิงหาคม 2561 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ใหม่ การกระทำที่สมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์มีเพียงครั้งเดียวตั้งแต่แรกที่พันตำรวจโท ก. กับพวกทำการล่อซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จากจำเลยกับพวกครั้งแรก การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปขายบริการทางเพศแก่สายลับที่ล่อซื้ออีกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จึงเป็นเพียงการอาศัยการสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตั้งแต่แรกที่เคยล่อซื้อบริการทางเพศมาแล้วเท่านั้น มิได้มีการกระทำอันเป็นการสมคบขึ้นใหม่อันจะเป็นความผิดทุกครั้งที่มีการซื้อบริการทางเพศ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่ได้กระทำในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เพียงกรรมเดียว แต่ไม่มีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ของวันที่ 19 สิงหาคม 2561 อีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานสมคบกันเพื่อการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นความผิดฐานคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีค้ามนุษย์: พยานหลักฐานไม่เพียงพอ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2
ตามพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงยินยอมเปลี่ยนลักษณะงานจากการทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลามาเป็นการทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมง แม้ถูกไต้ก๋งเรือบางคนบังคับขู่เข็ญให้ทำงานก็เป็นลักษณะนิสัยใจคอของไต้ก๋งเรือแต่ละคน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน และเป็นเรื่องปกติที่เรือประมงซึ่งไปหาปลานอกน่านน้ำไทยต้องล่องทะเลหาปลาเป็นเวลานานจึงจะกลับเข้าฝั่ง และการที่ไต้ก๋งเรือเก็บหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไว้เพื่อความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างเดินทางก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เรือประมงโดยทั่วไปกระทำกัน มิใช่เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดหลบหนี ส่วนค่าจ้างโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงให้ น. และ ก. รับเงินค่าจ้างแทนเพื่อนำไปส่งให้แก่ครอบครัวของแต่ละคนที่ประเทศกัมพูชาแล้วถ่ายรูปส่งให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดดูระหว่างที่ทำงานอยู่บนเรือประมง โดยมีการนำเงินค่าจ้างส่งให้จริง และหลังเกิดเหตุตัวแทนของ ค. เจ้าของเรือประมงได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดแล้ว เพียงแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยังโต้แย้งว่ามีค่าแรงในการทำงานวันหยุดและค่าแรงการทำงานล่วงเวลาต้องจ่ายเพิ่มอีก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงานโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีต้องมีเจตนาขูดรีดบุคคล การรับเงินค่าค้าประเวณีเพื่อส่งคืนให้ผู้เสียหายไม่ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์
บทนิยาม "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คดีคงได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันติดต่อเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลให้ผู้เสียหายค้าประเวณี แต่งหน้าแต่งตาให้ผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณีกับรับเงินค่าค้าประเวณีส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 หักเงินเพียงเท่าที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้คืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยปกติทั่วไป เมื่อเหลือเงินเท่าใดจำเลยที่ 2 คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิ้น แต่ผู้เสียหายขอฝากส่วนที่เหลือนั้นไว้แก่จำเลยที่ 2 เอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์อื่นใดโดยตรงจากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย จึงไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย อันเป็นการขูดรีดบุคคลตามบทนิยามดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่เป็นความผิดฐานสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) เดิม, 9, 52 (เดิม) และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15241/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายค้ามนุษย์หลังมี พ.ร.บ. 2551 ทำให้ฟ้องเดิมขาดองค์ประกอบความผิด
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แม้ความผิดฐานสมคบและรับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งเด็ก ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ต้องเป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำ "เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสมคบค้ามนุษย์ต้องมีเจตนาและส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่ต้น การรับตัวผู้เสียหายภายหลังไม่ถือเป็นความผิดสมคบ
การกระทำใดที่จะเป็นความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) และมาตรา 9 จะต้องได้ความว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมวางแผน ตัดสินใจร่วมกันหรือแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามความหมายในมาตรา 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมวางแผนหรือเกี่ยวข้องกับการที่เด็กหญิง น. ไปชักชวนหรือใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้ไปขายบริการทางเพศ โดยจำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นรถยนต์พาเข้าโรงแรมเพื่อร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดต่างหากเฉพาะตัวจำเลยที่เกิดขึ้นหลังจาก เด็กหญิง น. และ ช. กระทำการเป็นธุระจัดหาผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปค้าประเวณีอันเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์สำเร็จลงแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยสมคบกับเด็กหญิง น. และ ช. กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์