คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 87 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่กระทบถึงคดีอาญาถึงที่สุด แม้ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องในส่วนอาญา
คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามบทบัญญัติมาตรา 170 แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกา หมายถึงเฉพาะคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเท่านั้น แต่หากเป็นการคัดค้านเรื่องผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ และศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด และไม่ทำให้คดีในส่วนอาญาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่และการพนันออนไลน์: ฟ้องครบองค์ประกอบและลงโทษถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลากลางวัน จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันประชุมในที่ประชุมอั้งยี่และกระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่ โดยร่วมกันจัดให้มีการเล่น ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนทางเว็บไซต์ http://www.biz99.bet/ โดยชักชวนผู้ที่ต้องการเล่นพนันบอลออนไลน์ บาการาออนไลน์ และสล็อตออนไลน์ให้สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ดังกล่าวด้วยข้อความประกาศที่หน้าเว็บไซต์ที่ว่า "เว็บไซต์ออนไลน์ แทงบอล บาการา สล็อต ฝาก ถอน ออโต 1 วิ มีโปรโมชั่น กิจกรรม เครดิตฟรี มากที่สุด" โดยบาการาออนไลน์ เป็นการพนันที่ระบุในบัญชี ก. หมายเลข 27 สล็อตออนไลน์เป็นการพนันที่ระบุในบัญชี ข. หมายเลข 28 และบอลออนไลน์ เป็นการพนันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันรับเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายและอยู่ด้วยในที่ประชุมขณะกระทำความผิด ไม่ได้คัดค้านในการกระทำความผิดนั้น ตามฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยทั้งยี่สิบรู้อยู่แล้วว่าคณะบุคคลที่ตนเป็นสมาชิกมีความมุ่งหมายเพื่อร่วมกันจัดให้มีการเล่น ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนทางเว็บไซต์สำหรับผู้ที่ต้องการเล่นพนันบอลออนไลน์ บาการาออนไลน์ และสล็อตออนไลน์ให้สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ดังกล่าวโดยจำเลยทั้งยี่สิบต่างร่วมกันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และทราบข้อกฎหมายซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไปว่า บาการาออนไลน์ สล็อตออนไลน์ และบอลออนไลน์ ล้วนแต่เป็นการพนันที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นการกระทำที่มีความมุ่งหมายโดยเจตนาให้ผิดต่อกฎหมายอยู่ในตัวแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายคำฟ้องว่าจำเลยทั้งยี่สิบรู้อยู่ก่อนแล้วโดยเจตนาว่าเป็นการเล่นพนันที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งยี่สิบได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งยี่สิบเข้าใจข้อหาได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว ส่วนการที่จำเลยทั้งยี่สิบยื่นใบสมัครต่อบุคคลใด ตั้งแต่เมื่อใด มิใช่องค์ประกอบความผิด และเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา แต่เมื่อจำเลยทั้งยี่สิบให้การรับสารภาพ ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งยี่สิบเข้าใจข้อหาตามคำฟ้องแล้วโจทก์หาจำต้องบรรยายมาในคำฟ้องไม่ คำฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่แล้ว สำหรับการปกปิดวิธีการดำเนินการตามคำฟ้องก็เป็นเรื่องวิธีการหรือขั้นตอนในการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอังยี่ส่วนการร่วมกันจัดให้มีการเล่น ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนทางเว็บไซต์ผู้ที่ต้องการเล่นการพนันออนไลน์ก็เป็นวิธีการหรือขั้นตอนอย่างหนี่งในการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ด้วยเหมือนกัน หาได้ขัดแย้งและเป็นฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจัดให้มีการเล่นพนันฟุตบอลต่างประเทศ ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศ เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสามฐานร่วมกันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวอีกกระทงหนึ่งได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับนั้น เมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ามีผู้ประสงค์เงินสินบนนำจับนำเจ้าพนักงานไปจับกุมจำเลยทั้งสาม จึงไม่อาจจ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้นำจับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานพนัน, โรคติดต่อ, และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกรรมเดียว ความผิดหลายบท ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไข
ความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 มีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนันซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน
ทั้งจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและฐานร่วมกันเล่นการพนันตาม พ.ร.บ.การพนันก็เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละฐานความผิดด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทในแต่ละฐานความผิดดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 เมื่อลงโทษบทหนักตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4898/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาและแพ่งควบคู่กัน การพิพากษาคดีอาญาและการฎีกาคดีแพ่งที่เกี่ยวข้อง
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าไม่ได้สมัครใจวิวาทกับจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และพิพากษาแก้โทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกา ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาขอให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฐานวิ่งราวทรัพย์ได้
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจกับความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เป็นความผิดคนละกรรมกัน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ร่วมสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย ก็มีผลทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เมื่อโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4245/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาทดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย เช็คไม่เป็นเหตุให้บังคับได้ จำเลยไม่ต้องรับโทษ
เช็คพิพาททั้งสามฉบับมีดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมกับต้นเงินไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายให้เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับไม่ได้ เช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงไม่ใช่การชำระหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ปรากฎจากทางนำสืบของโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังคำรับสารภาพของจำเลยประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ลงโทษจำเลย อีกทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีว่า ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ให้ศาลยกฟ้องปล่อยจำเลยไป ซึ่งการพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, การสนับสนุนความผิด, เจตนา, ความผิดฐานยักยอก, การคืนทรัพย์
โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมหลายข้อ โดยข้อ 2 ให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เป็นโจทก์ร่วม และข้อ 6 ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนตามความจำเป็นในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ บ. ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมได้ โดยไม่จำกัดตัวบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี และอำนาจของ บ. ดังกล่าวยังสามารถมอบอำนาจช่วงได้อีกด้วย ฉะนั้น การที่ บ. มอบอำนาจช่วงให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยชอบภายในขอบอำนาจที่ บ. ได้รับมอบมา แม้ตามสำเนาหนังสือรับรองจะมีเงื่อนไขให้กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่การมอบอำนาจช่วงมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีการประทับตราสำคัญของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้การมอบอำนาจช่วงต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย การมอบอำนาจช่วงโดยไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ช. ผู้รับมอบอำนาจช่วงย่อมมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกแทนโจทก์ร่วม มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความที่ได้รับแจ้งจาก ช. ว่า ช. มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เรื่อง กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ส. และจำเลยที่ 4 จากเหตุที่โจทก์ร่วมได้ขายรถแบ็กโฮ 2 คัน ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาไม่สามารถติดตามหารถแบ็กโฮที่ขายให้ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ไม่มีการส่งค่างวด ถูกผู้เช่าซื้อปฏิเสธ จึงมาลงบันทึกประจำวันไว้ดังกล่าว ร้อยตำรวจโท ป. พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้ง ช. เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ร่วมไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย แต่วันนี้ผู้แจ้งไม่พร้อมที่จะให้ปากคำและจะมาให้การในวันต่อไป ดังนี้ แม้พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป และจากข้อความที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งบันทึกไว้ เมื่ออ่านประกอบกับหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ช. นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในการแจ้งความซึ่งระบุมอบอำนาจให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในฐานความผิดยักยอกหรือความผิดอาญาอื่นใดแล้ว พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้รับโทษ การแจ้งความของ ช. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 หาใช่เป็นแต่การแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้โดยยังไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนกันยายน 2558 การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ 3 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 96
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าคดีโจทก์ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้วดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้อง ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารฉบับดังกล่าวรวมอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ อันเป็นสรรพเอกสารตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 27 นั่นเอง เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอถือเอาบัญชีระบุพยานและสรรพเอกสารในคดีนี้ของโจทก์เป็นของโจทก์ร่วมด้วย กรณีถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามติงพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อยืนยันถึงวันที่ที่แน่นอนซึ่งโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ได้ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลชั้นต้นซักถามร้อยตำรวจเอก ป. เพิ่มเติม หรือนำพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสืบหักล้างในภายหลัง กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานในลักษณะจู่โจมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีดังข้ออ้างในฎีกา ดังนั้น สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลคดีฉ้อโกง: การพิจารณาจากสถานที่รับเงินและความต่อเนื่องของการกระทำผิด
ปัญหาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดย ป.วิ.อ. มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น..." และ ป.อ. มาตรา 341 บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..." แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การที่ น. ภริยา พ. โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่ น. ภริยา พ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีดอกเบี้ยเกินอัตรา และข้อจำกัดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องโดยบรรยายวันเวลากระทำผิดของจำเลยฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีทั้งก่อนวันที่แก้ไขกฎหมายและหลังแก้ไขกฎหมาย เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดวันเวลาใด จึงต้องนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาบังคับใช้ตาม ป.อ. มาตรา 3 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องนำกฎหมายและโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นมาปรับใช้ เพราะการใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น กฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาบังคับใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา: รายละเอียดประกาศผู้อำนวยการทางหลวงไม่เป็นสาระสำคัญ
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาจึงต้องรับวินิจฉัย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติแต่เพียงว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงหรือไม่ มิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย จึงเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า "อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 อธิบดีกรมทางหลวงในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน และผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทานได้ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน และผู้อำนวยการทางหลวงสัมปทาน เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน (ฉบับที่ 2) ..." อันมีความหมายอยู่ในตัวว่า ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงข้างต้นได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้ออกประกาศฉบับดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ทุกประการและเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 9