คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 295

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 581 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4898/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาและแพ่งควบคู่กัน การพิพากษาคดีอาญาและการฎีกาคดีแพ่งที่เกี่ยวข้อง
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าไม่ได้สมัครใจวิวาทกับจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และพิพากษาแก้โทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกา ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาขอให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฐานวิ่งราวทรัพย์ได้
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจกับความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เป็นความผิดคนละกรรมกัน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ร่วมสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย ก็มีผลทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เมื่อโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2936/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296 แล้ว หาจำต้องบรรยายฟ้องว่า ผู้กระทำความผิดได้รู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำตามหน้าที่ เนื่องจากไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าวหากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคสาม เท่านั้น
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบกันเป็นซ่องโจรเพื่อทำร้ายผู้อื่น และการพิพากษาที่ไม่ตรงกับบทบัญญัติกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่า ความผิดนั้นมีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 210 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามมาตรา 210 วรรคสอง ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์-บังคับใช้แรงงาน: การกระทำครบองค์ประกอบความผิด, พนักงานรัฐวิสาหกิจมีโทษหนักกว่า, การพิพากษาต้องเป็นไปตามกฎหมายที่หนักที่สุด
เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” และคำว่า “บังคับใช้แรงงาน” และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 โดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 และในส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการและบทกำหนดโทษตามมาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 ขึ้นใหม่ เมื่อขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวและกำหนดโทษไว้ จึงใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับแก่จำเลยคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม)องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ผู้เสียหายดังกล่าวหลบหนีโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายดังกล่าวเพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายสำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้พยายามหลบหนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้โดยถูกพวกของจำเลยที่ 1 พากลับมาส่งที่ฟาร์ม จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์ม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป การจับตัวผู้เสียหายดังกล่าวไว้เมื่อหลบหนีและเอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตาม ป.อ. มาตรา 310 ทวิ อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นบทหนัก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721-6722/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดร่วมกันทำร้ายร่างกาย: การแบ่งแยกความรับผิดชอบเมื่อการกระทำรุนแรงเกินเจตนาเริ่มต้น
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พูดจาหรือกระทำการใด ๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วม ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาเพียงต้องการชกต่อยทำร้ายโจทก์ร่วมเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำโดยลำพังของจำเลยที่ 1 อันเป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ดังนั้นการที่โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสจากการถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทง จึงมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายเท่านั้นการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อคดีอาญาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายโจทก์ร่วม ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บจากการถูกชกต่อยทำร้ายแต่ก็ต้องถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ชดใช้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758-7759/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามฆ่าและการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีเยาวชนและครอบครัวต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หากอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้าม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15667/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายสาหัส และการยอมความในคดีความรุนแรงในครอบครัว ศาลพิจารณาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297(8)
แม้รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า การบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์ที่ทำไว้ขณะตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) แล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง ตอนท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 4 วรรคสอง ตอนต้น เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 ว่า ไม่ประสงค์หรือติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป พอแปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายที่ไม่ชัดเจนถึงอันตรายร้ายแรง ทำให้ความผิดเป็นเพียงลหุโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ (ค) ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ท่อนไม้และขวดขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสองโดยมีเจตนาทำร้าย จำเลยทั้งสองกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีได้ทัน ทำให้ท่อนไม้และขวดไม่ถูกร่างกายของผู้เสียหายทั้งสอง โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยทั้งสองขว้างปาท่อนไม้และขวดถูกผู้เสียหายทั้งสอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสองได้อย่างแน่นอน อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวมาด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นขนาดของขวดและไม้มาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งหากขวดหรือท่อนไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักขว้างถูกผู้เสียหายทั้งสอง ไม่แน่นอนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) ดังกล่าวนี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองอาจไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.อ. มาตรา 391 ประกอบมาตรา 80 และ 83 เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 105

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. ฆ่า และการร่วมกระทำความผิด: กรณีพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกาย
จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่พบเห็นผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิง ม. ซึ่งเคยเป็นคนรักของจำเลยที่ 2 มาซื้อของ จำเลยที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปปาดหน้ารถของผู้เสียหายที่ 1 และใช้อาวุธมีดชี้หน้าบังคับให้หยุดรถ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาโดยมีคนร้ายนั่งซ้อนท้ายมาจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ทันที และหลบหนี้ไปด้วยกันย่อมบ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบกับพวกมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับพวกในการใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 จริง แต่การที่พวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ก็ฟันเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทันระวังตัว ไม่ได้ต่อสู้หรือมีผู้ใดขัดขวาง หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยที่ 2 ฟันผู้เสียหายที่ 1 ซ้ำอีก ทั้งบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับ มีความยาว 5 เซนติเมตร ไม่ลึกถึงกะโหลกศีรษะ สามารถรักษาได้ภายใน 7 ถึง 14 วัน แสดงว่าไม่ได้ฟันโดยแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ฟัน อันตรายต่อชีวิตได้โดยฟันครั้งเดียว พฤติการณ์แห่งคดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่า ผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ผิดฐานพยายามฆ่า และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดย่อมได้รับประโยชน์ด้วย แม้คดีส่วนของจำเลยที่ 1 จะยุติแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
of 59