คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 8 (10)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 33 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า SOLEX ไม่กระทบเครื่องหมายการค้า ROLEX เนื่องจากสินค้าและกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน
เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้าคำว่า "ROLEX" ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปสำหรับสินค้านาฬิกาและอุปกรณ์ชิ้นส่วนนาฬิกา สินค้านาฬิกาและอุปกรณ์ชิ้นส่วนนาฬิกาของโจทก์เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียงในการบอกเวลาที่เที่ยงตรงและมีความทนทานแต่มีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับนาฬิกาที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องมีฐานะทางการเงินดีจึงจะสามารถซื้อสินค้านาฬิกาของโจทก์ได้ ความมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของนาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์เป็นเหตุให้มีผู้ผลิตสินค้านาฬิกาโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ROLEX" ปลอมออกขายหลายราย แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดผลิตสินค้านาฬิกาโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ROLEX" ออกขาย แสดงให้เห็นว่าหากนาฬิกานั้นใช้เครื่องหมายการค้าที่ไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "ROLEX" ผู้ซื้อย่อมสังเกตเห็นได้โดยง่ายว่าสินค้านาฬิกานั้นไม่ใช่สินค้าของโจทก์ ไม่อาจสับสนหลงผิดว่าเป็นสินค้านาฬิกาที่มีชื่อเสียงของโจทก์ นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าที่บริษัทโซเล็กซ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการได้ยื่นคำขอจดทะเบียนนั้น ใช้กับสินค้าเครื่องประดับทำจากบรอนซ์หรือโลหะมีค่าจำเลยมิได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้านาฬิกาแต่อย่างใด ดังนี้การยื่นขอจดทะเบียนของจำเลยจึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเจตนาจะผลิตสินค้านาฬิกาเช่นเดียวกับโจทก์เพื่อให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า หากแม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้า กับสินค้านาฬิกาแล้วนำสินค้านาฬิกานั้นออกจำหน่ายก็ไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผู้ซื้อนาฬิกานั้นจะสับสนหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์เพราะประชาชนทั่วไปทราบดีว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "SOLEX" เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงสำหรับสินค้ากุญแจ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ROLEX" เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปสำหรับสินค้านาฬิกา กรณีไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและการเพิกถอนคำขอจดทะเบียน
แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า DAI แต่โจทก์ก็ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลย จำเลยเคยติดต่อค้าขายกับโจทก์จึงทราบดีว่า คำว่า DAI เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยกลับลอกเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนำไปขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยเอง การที่จำเลยมายื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DAi ของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า DAi ดีกว่าจำเลย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนดังกล่าวไม่ได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า DAi กับห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8433/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าโดยไม่สุจริต ละเมิดสิทธิเจ้าของชื่อเดิม ศาลสั่งห้ามใช้ชื่อ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ทราบเป็นอย่างดีว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ที่โจทก์ทั้งสองได้ใช้กับกิจการให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 นำชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ไปขอจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยนำชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า "บริษัทไทยคมเทเลคอม จำกัด" โดยจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งบริการรับซ่อมและติดตั้งเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดอันเป็นวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการทำนองเดียวกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้เช่าช่องสัญญาณสื่อสารดาวเทียมและจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการเอาชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองมาใช้เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบและเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและต้องเสื่อมเสียประโยชน์เนื่องจากประชาชนผู้ซื้ออุปกรณ์สื่อสารของบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจสับสนหรือหลงผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือโจทก์ทั้งสอง ส่งผลให้โจทก์ทั้งสองจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารของโจทก์ทั้งสองได้น้อยลง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสองเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 จำเลยทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิใช้ชื่อ "ไทยคม" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสิบสองใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยทั้งสิบสองใช้คำว่า "ไทยคม" และภาษาอังกฤษคำว่า "THAICOM" ทั้งในการเขียนและเรียกขานเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือใช้ประกอบกิจการค้าของจำเลยที่ 1 แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองคำว่า "ไทยคม" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4034/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีคำบางส่วนซ้ำกัน และสินค้ามีราคาสูง-ต่ำแตกต่างกัน ไม่อาจสับสนได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า CHARLIE อ่านว่า "ชา-ลี" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้คำว่า ROYAL CHARLE อ่านว่า "รอ-ยอล-ชาร์ล" โดยวางคำว่า ROYAL และ CHARLE อยู่คนละบรรทัดกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงมีเสียงเรียกขานต่างกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าจากต่างประเทศและวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีราคาอย่างต่ำขวดละ 200 บาท ในขณะที่สินค้าของจำเลยมีราคาเพียง 15 ถึง 19 บาทเท่านั้น จึงสามารถสังเกตถึงความแตกต่างดังกล่าวได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนหรือหลงผิดระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย เครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลยจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHARLIE ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8034/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกัน ละเมิดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายเดิม ศาลสั่งเพิกถอนและชดใช้ค่าเสียหาย
สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยอยู่ที่คำว่า "UNIOR" ส่วนอักษรตัวอื่นเป็นเพียงส่วนปลีกย่อย เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และเมื่อโจทก์ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมาก่อนจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย จึงมีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันได้ ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในคำ "UNIOR" เพราะไปคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "UNITOR" ของผู้อื่นที่จดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์ ก็เป็นปัญหาระหว่างโจทก์กับผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "UNITOR" มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลย และไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในคำว่า "UNIOR" ดีกว่าโจทก์
การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียนและนำไปใช้กับสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าพวกเดียวกันซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายของโจทก์ แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ ก็เป็นกรณีที่เกิดจากการที่จำเลยขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ซึ่งโจทก์ผู้มีสิทธิดีกว่ามีสิทธิขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับสินค้าในการลวงขายว่าเป็นสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย ทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้แล้วเสร็จจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเป็นว่าเฉพาะในเรื่องค่าเสียหาย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รายเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่เหมือนหรือคล้ายกัน แม้มีรูปสี่เหลี่ยมเป็นส่วนประกอบ หากรูปลักษณ์และช่องทางการขายแตกต่างกัน
โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ และใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยประมาณ 3 ปี ทั้งสินค้าของโจทก์อยู่ในรูปวัตถุดิบ ไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป แตกต่างจากสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ลูกค้าของโจทก์และลูกค้าของจำเลยจึงเป็นคนละประเภท นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปซึ่งมีลักษณะประกอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 2 รูป เท่า ๆ กันวางอยู่ใต้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบซึ่งมีด้านยาวขนาดเดียวกับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 รูป วางเรียงกันส่วนด้านกว้างมีความยาวเท่ากับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมทั้ง 3 รูปนั้น โจทก์จงใจให้เกิดช่องว่างเป็นรูปอักษร T ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอักษรต้นของชื่อโจทก์ แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเพียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 4 รูปเท่ากันวางเรียงกันในลักษณะสมดุล อยู่ข้างบน 2 รูป ข้างล่าง 2 รูป และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 รูป มีช่องว่างเป็นรูปเส้นตรง 2 เส้น ตัดกันเป็นมุมฉากไม่มีใครเรียกสินค้าของจำเลยว่า ยาตราสี่เหลี่ยม และในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมักจะใช้ชื่อจำเลยคำว่า CHINTA ประกอบด้วย ทำให้บางครั้งลูกค้าเรียกสินค้ายาของจำเลยว่า ยาชินต้า จึงมิใช่กรณีที่เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีการเรียกขานเหมือนกัน และช่องว่างของรูปสี่เหลี่ยมพื้นทึบในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ความหมายอยู่ที่รูปสี่เหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งสี่เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีรูปลักษณ์ของรูปสี่เหลี่ยมจำนวนรูปสี่เหลี่ยมรวมทั้งช่องว่างระหว่างรูปสี่เหลี่ยมที่มีการประดิษฐ์แตกต่างกัน ไม่ได้เรียกขานเหมือนหรือคล้ายกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวสาธารณชนย่อมสามารถสังเกตข้อแตกต่างได้ไม่ยาก นอกจากนี้ลูกค้าก็เป็นกลุ่มคนคนละประเภท ทั้งโจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้ในต่างประเทศมาก่อนจำเลย มิใช่กรณีที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปสี่เหลี่ยมเป็นส่วนประกอบสำคัญก็ตาม ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112-5113/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้า ‘โต๊ะกัง’ ที่เป็นชื่อเสียงและบ่งเฉพาะ ทำให้การใช้ชื่อทางการค้าอื่นคล้ายคลึงกัน ก่อให้เกิดความสับสนได้
คำว่า "โต๊ะกัง" เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า "โต๊ะกัง" จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า "โต๊ะกัง" ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
ปัญหาข้อพิพาทในคดีที่ พ. ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนถูกฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของ พ. เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นั้น เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ พ. แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่า พ. มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8585/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเหมือน/คล้ายของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาจากความรู้สึกของสาธารณชนว่าสับสนหรือไม่
ความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าต้องถือเอาความรู้สึกของสาธารณชนที่ซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ เป็นหลักว่ารู้สึกสับสนหรือก่อให้เกิดความหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีลักษณะเป็นคำประกอบด้วยตัวอักษรโรมันมีขนาดเดียวกันจำนวน 9 ตัว อ่านออกเสียงว่า "เพรสซิเดนท์"ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 275667ประกอบด้วยอักษรโรมัน 17 ตัว แม้จะมีคำว่า "PRESIDENT" อยู่ด้วยแต่ก็มีคำว่า "UNI" นำหน้าเป็น "UNIPRESIDENT" ซึ่งมีส่วนที่แตกต่างจากของโจทก์ ทั้งยังมีขนาดเล็กกว่าอักษรตัว P ประดิษฐ์ และอักษรคำว่า"UNIF" หลายเท่า สำหรับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 275668มีอักษรโรมันตัวเดียวเป็นรูปตัว P ประดิษฐ์ นอกนั้นเป็นอักษรไทยว่า"ยูนิ-เพรสซิเดนท์"ซึ่งตัวเล็กมากแต่เน้นคำว่า"ยูนิฟ" ให้มีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการแสดงออกให้คนซื้อสินค้าทราบว่าสินค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายนี้มีชื่อเรียกขานที่สำคัญว่า "UNIF" หรือ "ยูนิฟ" รูปลักษณะโดยรวม ตลอดจนสำเนียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลยหรือผู้ร้องสอดเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากจนไม่อาจทำให้สาธารณชนที่ซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เรียกขานว่า "UNIF" หรือ "ยูนิฟ" เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "PRESIDENT" ของโจทก์หรือเป็นสินค้าที่โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไปได้ สาธารณชนย่อมไม่สับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายอันจะทำให้เข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือผู้ร้องสอดทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1451/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าต่างกันชัดเจน ไม่ทำให้สาธารณชนสับสน ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายหนึ่งคือ "CK" อ่านว่า "ซีเค" ส่วนอีกเครื่องหมายหนึ่งคือ "CK Calvin Klein" โดยคำว่า "CK" กับ "Calvin Klein" วางทับซ้อนกันรวมเป็นอักษร 13 ตัว อ่านแยกกันเป็น "ซีเค" และ "คาลวินไคลน์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน คือ ในส่วนคำสำคัญคือคำว่า "CCKK" นั้น มีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ โดยอักษรตัวแรกคือ ตัว C และ อักษรตัวที่ 3 คือตัว K มีขนาดเท่ากัน อักษรตัวที่สองคือตัว C และอักษรตัวสุดท้ายคือตัว K มีขนาดใหญ่กว่า รวมเป็นตัวอักษร 4 ตัววางเรียงกัน แม้ตัวอักษรตัวที่ 2 คือตัว C และอักษรตัวที่ 4 คือ ตัว K จะมีขนาดใหญ่กว่าอักษรอีก 2 ตัว แต่ก็เห็นได้ชัดว่าระหว่างตัว C และ K ที่ขนาดใหญ่ขึ้นนั้นมีอักษรตัว K อีกตัวหนึ่งคั่นอยู่ จึงอ่านได้ว่า "ซี ซี เค เค" มิใช่ "ซีเค" อย่างของโจทก์แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ดังกล่าวมีรูปลักษณะตัวอักษร การวางตัวอักษร จำนวนตัวอักษร และเสียงเรียกขานที่แตกต่างกันจนสังเกตได้ชัดเจน ถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดนับได้ว่าทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และไม่ปรากฏว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามรับจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8(10) และ (11) การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้หรือขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
of 4