คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 86 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนภาระจำยอมหลังมติถูกเพิกถอน & การฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ต้องมีคู่สัญญาเป็นจำเลยร่วม
แม้การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินสาธารณูปโภคและบริเวณสาธารณะตามโฉนดเลขที่ 2603 ที่จำเลยรับโอนมาจากบริษัท บ. ผู้จัดสรร ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2346 ของบริษัท บ. ผู้จัดสรร จะเป็นมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมตินี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่รับโอนมาให้แก่ที่ดินของบริษัท บ. ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเสียแล้วสภาพแห่งคดีจึงไม่เปิดช่องที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ได้ และแม้จะอนุเคราะห์ให้ถือว่าคำขอของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างจำเลยกับบริษัท บ. ก็ดี แต่การจะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวโจทก์จำต้องฟ้องบริษัท บ. เจ้าของสามยทรัพย์ผู้เป็นคู่สัญญากับจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยด้วย ลำพังแต่เพียงฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะคำพิพากษาย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย โดยประกอบด้วยสภาพแห่งข้อหาหลายข้อด้วยกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช. พ้นจากตำแหน่งจากการเป็นกรรมการตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว การที่ ช. ในนามประธานกรรมการของจำเลยทำหนังสือเชิญประชุมและดำเนินการประชุมมีการลงมติในวาระต่างๆ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ อันนำไปสู่การบังคับตามคำขอของโจทก์ได้แล้ว การที่ยังจะต้องวินิจฉัยข้อหาอื่นเพื่อนำไปสู่การบังคับตามคำขอเดียวกันนี้อีกจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อหาที่เหลืออีก กรณีเช่นนี้หาใช่ว่าศาลไม่ได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ หากโจทก์เห็นว่าข้อหาที่เหลือยังมีการกระทำที่ทำให้โจทก์ต้องเสียหายก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดทางละเมิด, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าอุปการะเลี้ยงดู และอำนาจฟ้องในคดีละเมิด
ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง
ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล.
คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง
ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4560/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความและร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกง: การมีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดี
แม้ในเบื้องต้นโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่งในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถ โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และมาตรา 120 ตามลำดับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4339/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ห้าม โรงงานประเภท 3 ผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน
โจทก์ระบุข้อหาของจำเลยมาในช่องฐานความผิดที่หน้าฟ้องว่า ตั้งและประกอบกิจการโรงงาน (ในท้องที่ห้ามตั้งโรงงาน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12, 32 (1), 50 โดยบทบัญญัติแห่งมาตรา 50 นี้มีความว่า "ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษ...ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่ง เป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำในกฎหมายว่า "โดยไม่ได้รับใบอนุญาต" มาในฟ้อง ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า จำเลยบังอาจตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานทำการดูดทราย...โดยใช้เครื่องจักรเป็นเรือดูดทรายขนาดประมาณ 50 ถึง 60 แรงม้า 1 ลำ ทำการดูดทราย อันเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำนวนหรือขนาดที่ไม่อาจให้ตั้งในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ และไม่เป็นโรงงานที่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ตั้งได้ โดยได้แนบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในเขตท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2550 ซึ่งออกตามมาตรา 32 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาท้ายฟ้องด้วย และกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเท่ากับยืนยันมาในฟ้องว่าการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ของจำเลยได้กระทำไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายนั่นเอง ไม่ใช่ไม่ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนต่อกฎหมายในเรื่องใดดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดเจ้าพนักงานที่ดิน: ประเมินวันทำละเมิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่วันออกโฉนด
ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยของจำเลยที่ 3 กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จะพิจารณาว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำละเมิดอย่างไรจึงต้องพิจารณาฟ้องของโจทก์ทั้งฉบับ มิใช่พิจารณาเฉพาะการออกโฉนดให้แก่ผู้ครอบครองในขณะนั้น หรือการเพิกถอนการออกโฉนดซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์เท่านั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำการโดยประมาทออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ส. โดยไม่ชอบเพราะอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ต่อมาโฉนดที่ดินของโจทก์ถูกเพิกถอน โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงแสดงว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหลังจากที่โฉนดพิพาทถูกจำเลยที่ 1 เพิกถอน มิใช่ได้รับความเสียหายนับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่ดินพิพาท
สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยได้อาศัยแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหารซึ่งมีมาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 แต่ขณะที่จำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ใช้ระวางแผนที่ภายถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตรวจสอบ การออกโฉนดที่ดินแล้วเพิกถอนนั้น เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มีส่วนผิดอยู่ แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ยังไม่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในขณะนั้น เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและถูกจำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเพราะวันดังกล่าวโจทก์เพิ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 3 ครบองค์ประกอบฐานละเมิด เมื่อนับถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่ล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด หรือล่วงพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่เลือกตั้งลงชื่อแทนผู้ใช้สิทธิที่ไม่มาใช้สิทธิจริง เป็นความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การลงลายมือชื่อปลอมของ ด. กับ ส. ผู้ซึ่งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเพียงรายละเอียดของการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา 157 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษ นอกเหนือจากการเป็นสาระสำคัญของการกระทำอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 ที่โจทก์ขอให้ลงอีกข้อหาหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีมีข้อควรสงสัยว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดฐานทำและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสี่ แต่การที่จำเลยทั้งสี่ทราบเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มชื่อ ด. กับ ส. ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กลับนิ่งเฉยปล่อยให้มีการแก้ไขโดยไม่ทักท้วงหรือให้คำแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงคงเป็นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในรายละเอียดมิใช่ในข้อสาระสำคัญสำหรับข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้หลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการฟ้องขับไล่ของผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดที่ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วน
โจทก์ประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์เสนอราคาสูงสุด และได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนรวมแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังครอบครองที่ดินอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว และโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและได้ชำระราคาแล้วบางส่วนมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1912/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสมาชิกภาพ สิทธิคืนเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์อื่นที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่ง ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าว และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำไม่เป็นความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันจะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นที่สุด แม้ในคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการดังกล่าวด้วยตนเองก็ตาม แต่การออกจากตำแหน่งเพราะเหตุนี้มีผลทำให้จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์
เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ และค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน นั้น จำเลยเป็นผู้เลือกผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงาน และเสนอขอให้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งตามหนังสือยืนยัน โดยผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางวิชาการแก่จำเลย ส่วนผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่จำเลยกำหนด ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยอาศัยสิทธิที่จำเลยมีอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 97 บัญญัติบังคับให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการสวมสิทธิเป็นคู่ความ รวมถึงการพิสูจน์การสั่งซื้อสินค้าและการร่วมรับผิดชอบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วย โดยผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แม้กรณีของผู้ร้องจะไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือกฎหมายอื่นใดทำนองเดียวกันที่กำหนดให้ ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความเดิมได้ ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมาก็ดี แต่การที่ผู้ร้องรับโอนกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดจากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและถือว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์แล้ว จึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคืนการให้เนื่องจากเนรคุณและการหมิ่นประมาท การกระทำที่ไม่เคารพไม่ถึงขั้นเนรคุณ
คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่แก่แล้วอายุตั้ง 90 ปี พูดกลับไปกลับมา แม่ใหญ่ได้แค่ในห้องนี้แหละ ข้างนอกฉันใหญ่ ถ้าไม่มีแม่ ฉันก็ดูแลทุกอย่างเองได้ ออกไปจากบ้านเถอะ" ต่อมาชั้นสืบพยานโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่อายุ 90 ปี แล้ว พูดกลับไปกลับมา แม่ไม่อยู่ไม่มีแม่เค้าก็ทำได้" และจำเลยบอกคนดูแลโจทก์ให้จูงโจทก์ออกไปข้างนอก แม้ในข้อนี้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้พูดข้อความเช่นนั้นและอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
of 9