คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1299 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาด: การครอบครองปรปักษ์ไม่ใช่เหตุเพิกถอน หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย
ตามคำร้องของผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ศาลยกเลิกการขายทอดตลาดที่ได้ขายไปแล้ว โดยอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องประสงค์จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยอ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งกรณีจะเป็นเรื่องของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองนั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง ขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนแต่ตามคำร้องของผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างเลยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. แต่ประการใด เพียงแต่กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดโดยการครอบครองปรปักษ์และธนาคารที่รับจำนองทรัพย์ดังกล่าวได้รับจำนองไว้โดยไม่สุจริตจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองนั้น หากเป็นความจริงก็มิใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่อาจยกเหตุที่ผู้ร้องอ้างมาเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
การที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้องได้นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประมูลทอดตลาดในคดีล้มละลาย สิทธิของผู้ประมูลซื้อ vs. การครอบครองปรปักษ์ & เหตุสุดวิสัย
ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์ภายหลังมีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 3 แล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายทีแก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ เมื่ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายกลางตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) แต่คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายที่ดิน และให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้นเป็นการมิชอบ
แม้คดีจะต้องห้ามอุทธรณ์แต่ศาลฎีกามีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาพิพากษาได้หากพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ มาตรา 26 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 4
การที่มีผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง แม้จะมีผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายโดยสุจริต สิทธิของผู้ร้องจึงมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของผู้ล้มละลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ผู้ร้องจะยังมิได้มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ยังได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ร้องมิได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดจึงมิได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด
แม้มีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแต่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยังคงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินพิพาทที่ออกโฉนดโดยไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิเพิกถอนได้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับจำนองสุจริต
อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3239/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด vs. การครอบครองปรปักษ์: สิทธิผู้ซื้อที่สุจริตได้รับการคุ้มครอง
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่าการกระทำโดยสุจริต คดีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย" ดังนั้น การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เห็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าอำนาจหรือสิทธิของโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวซึ่งเป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวบรรยายเพียงว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินและบ้านมาตั้งแต่ปี 2522 และได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวบรรยายมาในคำร้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติมาตรา 6 ดังนั้น แม้ศาลจะทำการไต่สวนและฟังว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำร้องของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องชนะคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2693/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองโดยสุจริตของผู้รับจำนอง vs สิทธิครอบครองของผู้ไม่จดทะเบียน การคุ้มครองผู้ได้สิทธิโดยเสียค่าตอบแทน
โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต เมื่อโจทก์เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองได้เต็มสัญญา ผู้ร้องจะขอกันส่วนของตนจากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินจากการบังคับจำนองหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินมือเปล่า: ผู้ซื้อฝากโดยสุจริตได้สิทธิเหนือผู้ครอบครองเดิมที่ไม่จดทะเบียน
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1989 มิใช่หนังสือสำคัญแสดงการกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่การได้มาของโจทก์เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้มีสิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สิทธิในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5641/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองสุจริตคุ้มครองบุคคลภายนอก แม้ผู้ครอบครองอ้างสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์
ผู้ร้องอ้างเพียงว่า บ. บิดาผู้ร้องได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วโดยบิดาผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจนกระทั่งบิดาผู้ร้องถึงแก่ความตายและผู้ร้องได้ครอบครองต่อมาอีกเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ดังนี้ แม้หากข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้ร้องอ้าง ก็ไม่มีข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันโจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3922/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของที่ดินประมาทเลินเล่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นนำเอกสารไปจดจำนอง ศาลยกฟ้องเพิกถอนจำนอง
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ธ. ได้ขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยให้ ม. เป็นนายหน้า ต่อมา ม. นำเอกสารให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ และโจทก์ยังได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ ม. ไปจนกระทั่งมีการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้ เป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นนำหนังสือมอบอำนาจไปใช้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามพฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกระทำดังกล่าว ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่อาจอ้างความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเพื่อให้ตนพ้นความรับผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความและผลผูกพันจากคำพิพากษาเดิม การใช้สิทธิโดยสุจริต
คดีก่อน บ. เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 คนก่อนได้ฟ้อง ข. เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 คนก่อน ให้ขนย้ายและรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางพิพาทกับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอของ บ. ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 ให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยกระทำขึ้นใหม่ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวแล้ว กับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ของโจทก์ ดังนั้นเหตุที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้จึงเป็นคนละเหตุกับที่ บ. ฟ้อง ข. ในคดีก่อน โจทก์ไม่อาจมีคำขอให้บังคับจำเลยในคดีก่อนได้ ทั้งคดีก่อน บ. ก็มิได้ดำเนินการบังคับคดีให้มีการจดทะเบียนภาระจำยอมจนพ้นกำหนดเวลาบังคับคดีไปแล้ว แม้โจทก์จะเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 จาก บ. โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 โดยอายุความ อันเป็น ทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์ กรณีหาใช่เป็นภาระจำยอมโดยนิติกรรมซึ่งยังมิได้จดทะเบียนอันเป็นบุคคลสิทธิดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยหาอาจอ้างว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ได้ไม่ เพราะสิทธิตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นสิทธิในประเภทเดียวกัน แต่ภาระจำยอมเป็นสิทธิในประเภทรอนสิทธิ ส่วนกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิในประเภทได้สิทธิ เป็นสิทธิคนละประเภทกัน ทั้งโจทก์และจำเลยเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย
แม้ทางพิพาทจะเกิดจากข้อตกลงระหว่าง พ. กับ บ. ที่ตกลงให้กันที่ดินของแต่ละฝ่ายไว้เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่เมื่อ บ. และผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 จาก บ. ตลอดมาจนถึงโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี ก็ย่อมได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้เช่นกัน
คำว่า ภาระจำยอมหมดประโยชน์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง หมายความว่าไม่สามารถใช้ภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์ได้อีกต่อไป หากภารยทรัพย์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แม้ไม่มีการใช้ภารยทรัพย์นั้น ก็หาใช่ภาระจำยอมหมดประโยชน์ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้ที่ดินของโจทก์อันเป็นสามยทรัพย์จะมีทางออกทางอื่นสู่สาธารณะและโจทก์ใช้ทางดังกล่าวนี้เป็นหลัก แต่เมื่อทางพิพาทยังมีสภาพเป็นทางเดินคงเดิม ทางภาระจำยอมจึงยังไม่หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ ภาระจำยอมยังไม่สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง
ปัญหาว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 ซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่ บ. กันไว้เป็นทางออกสู่ซอยวัดยางสุทธารามตามที่ตกลงกับ พ. แต่ที่ดินแปลงนี้อยู่ด้านในไม่เป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยที่จะออกสู่ซอยวัดยางสุทธาราม ที่ พ. ทำข้อตกลงกับ บ. ให้ บ. กันที่ดินของ บ. ดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของ พ. แปลงอื่นซึ่งอยู่ด้านในเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และการโอนสิทธิที่ไม่สุจริต
การที่จำเลยและมารดาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ ป. เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อ ล. เข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. จำเลยก็ยังเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทตลอดมานั้น ถือได้ว่าจำเลยครอบครองแทนทายาทของ ป. ทุกคน เพราะยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่ทายาทโดยชัดเจน แต่เมื่อ ล. ดำเนินการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแก่ทายาทของ ป. มารดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ป. ปฏิเสธไม่ยอมรับที่ดินที่แบ่งแยกให้โดยยืนยันต่อทายาทอื่นๆ ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว จะไม่ยินยอมยกให้ใคร จึงเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยชัดเจนว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว และเมื่อภายหลังจาก ก. รับโอนที่พิพาทจาก ล. ผู้จัดการมรดกแล้ว ก. ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด กลับปล่อยให้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองตลอดมา เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทจาก ก. เกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ก. โดยรู้ดีว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตอันจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์ เป็นการทำให้จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ
of 14