คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
แก้ว เวศอุไร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 77 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ-ป่าสงวนฯ โจทก์-จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง ศาลยกฟ้อง
ที่ดินพิพาทแปลงที่สามที่โจทก์และจำเลยกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่สามมาก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ และตามมาตรา 36 ทวิ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ที่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อ ค. กับจำเลยยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองได้ความว่ามีหลักฐานเป็นเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิในที่ดินอย่างหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน โดยตามสำเนาใบ ภ.บ.ท. 5 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2525 แสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ช่วงระยะเวลาหลังจาก ป.ที่ดิน ใช้บังคับแล้ว ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 โจทก์กับ พ. และจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 9 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 108 หรือ 108 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน แล้วแต่กรณี ทั้งที่ดินแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองยังเป็นป่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และมาตรา 14 มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วย เมื่อการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่หนึ่งและแปลงที่สองเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์มรดก: สิทธิทายาทในการแบ่งทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งสันดาน
แม้ที่ดินพิพาทมีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เมื่อเจ้ามรดกผู้ครอบครองถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ได้แก่ ส. บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาจำเลย ว. บุตรเจ้ามรดกและ พ. บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นมารดาโจทก์ ว. และ พ. พักอาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทโดยมีโจทก์และจำเลยอยู่ด้วย ส่วน ส. พักอาศัยอยู่ที่อื่น การที่ ว. และ พ. พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการครอบครองในฐานะทายาทและแทนทายาทอื่น หลังจาก ว. ถึงแก่ความตายในปี 2538 พ. พักอาศัยอยู่ต่อมาและถึงแก่ความตายในปี 2543 การที่ พ. ยังคงพักอาศัยอยู่ต่อมาก็เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ส่วนที่ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2536 ที่ดินมรดกส่วนของ ส. ตกทอดแก่ทายาทของ ส. รวมทั้งจำเลย การที่จำเลยพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทหลังจากนั้นร่วมกับ ว. และ พ. ก็เป็นการร่วมกันครอบครองแทนทายาทอื่นเช่นกัน ที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกและกรณีต้องถือว่าการที่ พ. และจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกทุกคน ส่วนการที่จำเลยรื้อถอนบ้านเดิมออกไปและนำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินมรดกเป็นครอบครองด้วยตนเองและแสดงเจตนาแก่ฝ่ายโจทก์แล้ว ที่ดินดังกล่าวยังเป็นมรดกของเจ้ามรดก จึงเป็นกรณีที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้มีการแบ่งปันแทนทายาทอื่น ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกเพราะเข้าสืบสิทธิมรดกส่วนของ พ. จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำท้าทางกฎหมาย: ศาลผูกพันตามคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้อง แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด
คู่ความตกลงท้ากันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาในคดีที่ ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. และโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยร่วมกันขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท หากผลคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร ให้ถือตามผลคดีนั้น คู่ความมิได้ตกลงกันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นข้อวินิจฉัยตามคำท้า คำท้าดังกล่าวต้องถือว่าคู่ความมีเจตนาถือเอาผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเป็นข้อวินิจฉัยในประเด็นที่ได้ท้ากัน เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าในคดีที่ท้ากันศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยชอบ ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตรงตามคำท้าที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 โจทก์ทั้งสองและจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำท้าที่ตกลงกันตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์ทั้งสองย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์และพรากผู้เยาว์ การพิพากษาความผิดฐานต่างๆ และการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้ ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบังคับคดีประกันภัย: การชำระหนี้หลังหมดอายุความและสิทธิการคืนเงิน
ฎีกาของผู้ประกันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ประกันนำเงิน 500,000 บาท มาชำระตามสัญญาประกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ทั้งที่ผู้ประกันอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า ศาลชั้นต้นสิ้นสิทธิในการบังคับคดีเพราะไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกันชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: คำวินิจฉัยคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจศาลเป็นที่สุด โจทก์ไม่อาจคัดค้านหรือแก้ไขคำฟ้องหลังมีคำวินิจฉัย
แม้โจทก์ทั้งสิบฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสิบไว้พิจารณา แต่เมื่อต่อมามีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีนี้ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 บัญญัติความว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลให้เป็นที่สุด และตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติความว่า ถ้าคณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ศาลที่รับฟ้องสั่งโอนคดีหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ดังนี้ เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในศาลชั้นต้นได้เฉพาะการโอนคดีหรือการจำหน่ายคดีตามมาตรา 11 ดังกล่าวเท่านั้น โจทก์ทั้งสิบจึงไม่อาจยื่นคำแถลงคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 44/2560 และไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับอันเป็นการไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงชอบแล้ว และกรณีเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสิบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบจึงไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องพิพากษายกอุทธรณ์เสีย และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาอีกด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3610/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความผิดฐานทะเลาะวิวาทและการเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้: การพิจารณาเจตนาและพฤติการณ์
ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวายโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย การที่จำเลยที่ 1 กับพวกฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 กับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892-893/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก 1 ปี: การครอบครองทรัพย์สินโดยทายาท และผลของการไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ข. พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แต่ข้อนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่ ข. ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการให้การต่อสู้เรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง กับให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเนื่องจากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี อันเป็นอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้โจทก์ทั้งสามไม่ฎีกาในข้อนี้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
of 8