คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วันชัย ศศิโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 66 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายยาเสพติด: การแบ่งยาให้ผู้อื่นเสพถือเป็นการจำหน่ายตามกฎหมาย
จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด มาแบ่งให้ ธ. เสพ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นโดยวิธีการให้อันเป็นการจำหน่ายตามบทนิยามคำว่า "จำหน่าย" ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน การบังคับชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย และอำนาจฟ้องของทายาท
ส. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลย โดย ส. ชำระราคารวมมัดจำให้แก่จำเลยแล้ว 1,691,272 บาท คงมีหนี้ค้างชำระ 22,828 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. กับจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์จะเลิกสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายยังมีความประสงค์ที่จะให้มีการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน ดังนี้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ต่อกัน หากบังคับฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ก็ต้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ตอบแทนได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยมิได้มีคำขอท้ายฟ้องเสนอขอชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลือให้แก่จำเลยตามสัญญาก็ตาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่เข้าใจว่า ส. ได้ชำระราคาให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วเช่นนี้ ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง และศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา โดยบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และกำหนดให้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอของโจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนของดอกเบี้ยและค่าขึ้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้บังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ใช่คู่ความรายเดียวกันกับคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4409/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักลอบนำเข้าเรือโดยหลีกเลี่ยงภาษี, การประเมินราคา, การริบของกลาง, และการจ่ายสินบน/รางวัลจากประกัน
จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเรือยอช์ท ซึ่งเป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องแล่นเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 โดยแจ้งต่อนายด่านศุลกากรว่าเป็นการนำเข้าชั่วคราว ซึ่งมีเวลาอยู่ในราชอาณาจักร 6 เดือน คือภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2540 จากนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกนำเรือของกลางจอดแล่นใช้งานตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2540 จนกระทั่งมีผู้แจ้งความนำจับและเจ้าพนักงานอายัดเรือไว้เป็นของกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ดังนี้ วันที่กระทำความผิดจึงเป็นวันที่ 20 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเรือของกลางเข้ามา หาใช่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่เรือของกลางอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด 6 เดือน ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำผิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 นั้น จึงชอบแล้ว
เงินตามสัญญาประกันค่าเรือที่บริษัท ล. ซึ่งเป็นเจ้าของเรือทำสัญญาไว้กับกรมศุลกากรในการรับเรือของกลางไปเก็บรักษา หากเรือของกลางชำรุดเสียหายหรือไม่สามารถส่งมอบเรือคืนให้ในสภาพเดิมได้ จะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 133,821,659 บาท นั้น เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบแทนเรือของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิด เพราะหากปรากฏภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ริบเรือของกลางแล้ว บริษัท ล. ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ กรมศุลกากรก็มีสิทธิฟ้องบังคับเงินค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนที่ให้ริบเงินตามสัญญาประกันเท่ากับขายเรือของกลาง และให้จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดจากเงินตามสัญญาประกันจึงไม่ชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านในประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย โจทก์มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดก: ศาลไม่ควรบังคับให้ผู้ร้องนำเอกสารที่ไม่ใช่ข้อบังคับมาพร้อมคำร้อง ขอให้รับคำร้องและไต่สวน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ผู้ตาย โดยบรรยายคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นบุตรของ บ. และ ห. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน บิดามารดาและพี่น้องบางคนได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยไม่เคยแต่งงานและไม่มีบุตร ผู้ตายมีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก คำร้องขอของผู้ร้องได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นทายาทที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นคำร้องที่สมบูรณ์และชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 171 ประกอบมาตรา 172 วรรคสอง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนต่อไป
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายซึ่งรับรองโดยเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายใน 7 วัน จึงจะพิจารณาสั่งคำร้องขอ มิฉะนั้นถือว่าไม่รับ แม้เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วใช้ดุลพินิจสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ก็ตาม แต่หนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำร้องขอ คงเป็นเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดที่ผู้ร้องสามารถนำสืบได้ในชั้นไต่สวนว่า บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย เป็นทายาทผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผู้ตาย และอาจส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนได้ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้ผู้ร้องจะมิได้ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องที่ยื่นโดยชอบแล้วหาได้ไม่และกรณีไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องทิ้งคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ด้วยก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ไต่สวนแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งทิ้งคำร้องจึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายโดยให้รับคำร้องขอแล้วดำเนินการไต่สวนต่อไปตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานจากคำรับของจำเลย แม้เช็คพิพาทไม่มีแสตมป์ และการฟ้องไล่เบี้ยจากอาวัลผู้สั่งจ่าย
จำเลยให้การรับว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจริงเพียงแต่อ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ การรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยคดีจึงไม่จำต้องอาศัยเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐาน เพราะรับฟังได้ตามคำรับของจำเลยแล้ว จึงไม่มีกรณีอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามรับฟังตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525-526/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้ยืนยันหลักการเรื่องการยื่นคำร้องซ้ำ และอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งยกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14948/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้า แม้ผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ผู้ซื้อ ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค หากมีเจตนาออกเช็คโดยไม่มีเงิน
การชำระหนี้ค่าสินค้าด้วยเช็ค เช็คนั้นอาจออกสั่งจ่ายโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ซื้อสินค้าก็ได้เพียงแต่หนี้ค่าสินค้านั้นมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานออกเช็คตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แล้ว
จำเลยสั่งจ่ายเช็คอันเป็นการออกเช็คทั้งสี่ฉบับ เพื่อชำระค่าสินค้านมผงเด็กให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ลงในเช็คซึ่งเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินแต่ละฉบับ ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยในธนาคารตามเช็คที่จะพอจ่ายเงินตามเช็คแก่ผู้เสียหายได้ จำเลยจึงมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันพึงจะให้ใช้เงินได้ในขณะออกเช็คนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์นายจ้างโดยปรับปรุงบัญชีเงินเดือน – ความผิดหลายกรรมต่างกัน – ศาลฎีกาพิพากษากลับ
จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14296/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ. กรณีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท และหน้าที่การยื่นคำร้องขอรับรองเหตุอุทธรณ์
คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติข้อยกเว้นให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณีซึ่งการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้นั้นมาตรา 224 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามมาตรา 242 (1) ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์มาโดยไม่ชอบนั้น มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) อันจะเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งใหม่ได้
of 7