คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 302

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 95 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการบังคับคดี: ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีเดิม ไม่ใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งธนบุรีและคดีดังกล่าวถึงที่สุด โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 459/2543 ของศาลแพ่ง ซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งให้ไปศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน และจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15 วรรคท้าย และมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย โจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีคือยื่นต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี หรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทน ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสนอคดีนี้โดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นในคดีเดิมคือศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 459/2543 ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี หาใช่ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) เป็นคดีใหม่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10665/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องเกี่ยวกับการบังคับคดีต้องยื่นต่อศาลเดิมที่พิจารณาคดี หากไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม
การเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม มิใช่เสนอคำร้องเป็นคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4522/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ใช่คู่ความ ไม่มีสิทธิฎีกา และไม่ต้องรับผิดชอบค่าฤชาธรรมเนียม
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 และมาตรา 302 บัญญัติกำหนดให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน" เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้คัดค้านไม่ใช่คู่ความในคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4290/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาดที่มิชอบ แม้ศาลแพ่งเป็นผู้มีคำสั่งบังคับคดี
ศาลแพ่งได้ออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้เมื่อจำเลยเห็นว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ชอบเพราะราคาที่ขายได้ต่ำเกินสมควร เพราะเกิดจากการคบคิดฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นไปให้ศาลแพ่งได้และหากศาลชั้นต้นพบว่ามีความไม่ถูกต้องของการบังคับคดีจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ย่อมมีอำนาจสั่งไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง หาขัดต่อมาตรา 302 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการบังคับคดีและการอุทธรณ์คำสั่ง กรณีศาลหนึ่งมอบหมายให้ศาลอื่นดำเนินการแทน
ศาลจังหวัดชลบุรีได้รับมอบหมายจากศาลแพ่งให้ดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน จึงมีอำนาจสั่งไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ สำหรับการยื่นอุทธรณ์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คู่ความจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อศาลจังหวัดชลบุรีเป็นศาลที่ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องได้ ศาลจังหวัดชลบุรีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการบังคับคดีต้องยื่นคำร้องในคดีเดิม ไม่ใช่ฟ้องคดีใหม่
ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1408/2540 ของศาลชั้นต้น ดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์จำเลยตกลงกันว่าให้โจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเพียง 360,000 บาท นอกนั้นไม่ติดใจดำเนินการบังคับคดีกับโจทก์ โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามข้อตกลงครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีกับโจทก์ ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีเสีย แม้โจทก์จะกล่าวมาในคำฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายอันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์มาด้วยก็ตาม แต่โจทก์มิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญา โดยเพียงแต่ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีเดิมเท่านั้น คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปโดยครบถ้วนและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2), 302 วรรคหนึ่ง กรณีเช่นว่านี้โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิม มิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
ตามคำร้องโจทก์ที่ยื่นในคดีหมายเลขแดงที่ 1408/2540 ของศาลชั้นต้นเป็นเรื่องที่อ้างว่าการดำเนินการบังคับคดีเดิมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะนัดพร้อมเพื่อสอบถามคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อนที่จะได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยมิได้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวน โจทก์มิได้อุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นในกรณีดังกล่าวอีกได้ เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2842/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการบังคับคดีและการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาด
คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีอย่างหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และตามบทบัญญัติมาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดี คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น ศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้จึงได้แก่ศาลชั้นต้น ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น มิใช่ยื่นต่อศาลที่บังคับคดีแทน ทั้งมาตรา 290 วรรคสี่ บัญญัติหลักเกณฑ์เพียงว่า การขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นอย่างช้าที่สุดต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่มีการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องก่อนวันที่มีการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2842/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องเฉลี่ยทรัพย์จากการบังคับคดี และสิทธิในการยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาด
คำร้องเฉลี่ยทรัพย์เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีอย่างหนึ่งซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และตามบทบัญญัติมาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดี คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้นศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้จึงได้แก่ศาลชั้นต้น ส่วนศาลจังหวัดปทุมธานีเป็นเพียงศาลที่บังคับคดีแทนการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
มาตรา 290 วรรคสี่ บัญญัติหลักเกณฑ์เพียงว่าการขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นอย่างช้าที่สุดต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดมิได้ห้ามมิให้ยื่นคำร้องก่อนวันที่มีการขายทอดตลาด ทั้งสิทธิของผู้ร้องที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เกิดมีขึ้นตั้งแต่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หาใช่ยังไม่มีสิทธิดังกล่าว ก่อนวันที่มีการขายทอดตลาดไม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนวันที่มีการขายทอดตลาดจึงไม่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการบังคับคดี: ต้องฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีเท่านั้น
ตามคำฟ้องโจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ขายที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดและเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อนซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นสาระสำคัญ กับมีคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคำขอต่อเนื่อง ฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวในคดีของศาลแพ่งซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน และจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15 วรรคท้าย และมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย เช่นกัน โจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี คือศาลแพ่งหรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีและบังคับคดีแทนเท่านั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีที่จำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) หาได้ไม่เพราะบทบัญญัติมาตรา 4 อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการรับคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ต้องยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ไม่ใช่ศาลที่บังคับคดีแทน
คำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามมาตรา 7 (2) ต้องเสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น ศาลที่ออกหมายบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ย่อมหมายถึงศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ส่วนมาตรา 15 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้ถือเสมือนหนึ่งว่าศาลที่บังคับคดีแทนเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องและให้ผู้ร้องไปดำเนินการที่ศาลที่มีอำนาจต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับหรือคืนคำร้องนั้นไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ จึงต้องคืนค่าคำร้องแก่ผู้ร้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าคำร้องเป็นพับเป็นการไม่ชอบ
of 10