คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 95 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรจากการนำเข้าสินค้าและบริการ การตีความมูลค่าศุลกากรที่แท้จริง
พนักงานสอบสวนมีการแจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาแก่ ซ. ขณะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทยของจำเลย โดย ซ. ให้การปฏิเสธ แม้ ซ. มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยอันจะถือว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล แต่หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อันเป็นหนังสือรับรองว่าบริษัทจำเลยได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจบริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบ โครงการก่อสร้าง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. โดยมี ซ. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย ซ. ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้จัดการสำนักงานสาขาของจำเลยในประเทศไทย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนได้ แม้จำเลยจะมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ซ. มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยด้วยก็ตาม เพราะ ซ. อยู่ในฐานะผู้จัดการตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 7 วรรคหนึ่ง แล้ว กระบวนการสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย บรรดากรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คุณสมบัติประการหนึ่งของคนต่างด้าวตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง (2) คือ มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ฮ. พำนักอยู่ที่สาธารณรัฐเกาหลี และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ออกนอกราชอาณาจักรไทยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ส่วนที่ ฮ. ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวสำหรับการติดต่อและประกอบธุรกิจและการทำงานในราชอาณาจักรไทยก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการตรวจลงตราที่กระทำโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในสาธารณรัฐเกาหลี ฮ. มิได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความเป็นจริงแต่ประการใด ดังนี้ เมื่อ ฮ. มิใช่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยและมิใช่บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซ. จึงยังเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทยในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านอธิบายฟ้อง สอบคำให้การ และสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้า ซ. จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 165 และมาตรา 172 แล้ว
แม้เอกสารการนำเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการตรวจยึดในการค้นในเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาว่านำเข้าสารเคมีซึ่งเป็นวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และพยานโจทก์ยอมรับว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหานำเข้าสารเคมีอันเป็นวัตถุอันตราย แต่เอกสารที่ยึดมาชุดเดียวกันนั้นเป็นเอกสารที่นำไปสู่การสอบสวนและดำเนินคดีนี้ อันเกิดจากการตรวจค้นและยึดโดยชอบตามคำสั่งศาล ทั้งเอกสารดังกล่าวสามารถตรวจสอบความมีอยู่และความถูกต้องได้จากหน่วยงานของรัฐได้อีกทางหนึ่งอยู่แล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนจนนำไปสู่การออกหมายค้นจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่หากตรวจพบข้อเท็จจริงในภายหลังจากเอกสารที่ยึดนั้นเองว่าอาจมีการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากร พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีต่อไปได้ หาใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบแต่อย่างใดไม่ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
สำหรับความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (6) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องพ้นกำหนดสิบปี ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว
จำเลยทำสัญญารับจ้างก่อสร้างโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้ง 480 เที่ยวเรือโดยมีเจตนาที่จะนำมาเพื่อผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องจักรแยกก๊าซธรรมชาติในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 โดยมีค่างานวิศวกรรมและการออกแบบโรงแยกก๊าซธรรมชาติชุดเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นลำดับต้นที่ขาดไม่ได้สำหรับใช้เป็นแนวทางในการผลิตหรือประกอบเครื่องจักรแยกก๊าซในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติตามเจตนาที่แท้จริงของการนำเข้าวัสดุปกรณ์ และไม่ได้มีมูลค่าเพียงต้นทุนราคากระดาษในการออกแบบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำค่างานด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่บริษัท ป. ชำระแก่จำเลยและเป็นคนละจำนวนกับที่ชำระให้แก่ผู้ขายวัสดุอุปกรณ์ที่นำเข้ามาจากประเทศต่าง ๆ มารวมไว้ในราคาการนำเข้าเที่ยวแรกโดยให้สำแดงรายการแยกไว้ต่างหากจากราคาของนำเข้าตามความในกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) ข้อ 11 (4) และประกาศกรมศุลกากรที่ 39/2543 เมื่อจำเลยมิได้นำมูลค่าค่าบริการดังกล่าวมารวมเข้ากับราคาการนำเข้าเที่ยวแรกและสำแดงแยกไว้ต่างหากจากราคาของนำเข้าด้วยย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) ข้อ 11 (4) และประกาศศุลกากรที่ 39/2543 จำเลยจึงมีความผิดฐานนำของเข้าโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร
การดำเนินคดีนี้ไม่ได้เกิดจากมีบุคคลผู้มิใช่เจ้าพนักงาน ซึ่งนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่เกิดสืบเนื่องจากการสอบสวนขยายผลของพนักงานเจ้าหน้าที่เอง ดังนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับศาลก็ไม่อาจสั่งจ่ายสินบนนำจับตามคำขอท้ายฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบอนุญาต ป.4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิ แต่เป็นเอกสารราชการควบคุมการใช้อาวุธปืน ความผิดใช้เอกสารปลอมขาดอายุความ
ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) เป็นเพียงเอกสารซึ่งนายทะเบียนอาวุธปืนออกให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ซึ่งผู้ขอใบอนุญาตต้องยื่นคำขอและผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และไม่อาจโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ รวมถึงไม่ตกทอดแก่ทายาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้อาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 จึงเป็นเพียงเอกสารราชการ ไม่ใช่เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานตรวจรับงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์โดยเจตนาทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(4)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง จัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อทำการตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว งวดที่ 10 และ 11 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับพร้อมกัน โดยถือเอาคำฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจรับงานโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน เป็นการกระทำความผิด และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จและจะเป็นความผิดต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว ตราบใดที่เจ้าพนักงานผู้นั้นยังไม่ได้ลงลายมือรับรองเอกสารแล้วความผิดยังไม่เกิดขึ้น สัญญาโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน กำหนดอายุโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 8 มิถุนายน 2551 จึงไม่ใช่วันกระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารตรวจรับงาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วก็ไม่มีผลทำให้เกิดการกระทำความผิดในวันที่ 8 มิถุนายน 2551 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่า จำเลยที่ 6 ทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงอยู่ภายในอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
หนังสือส่งงานก่อสร้างว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2551 เป็นความเท็จ ซึ่งความจริงงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่างานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายที่จำเลยที่ 6 ทำหนังสือส่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องไม่รับตรวจงานจ้างดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำใบรับงานจ้างเหมาว่าผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเห็นสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญา ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงเป็นการทำเอกสารในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกงและการไม่ขาดอายุความ แม้มีการถอนฟ้องคดีอื่น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหลอกลวงโจทก์และโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในวันที่ 26 กันยายน 2558 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 แล้ว แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่าสามเดือน แต่ยังไม่พ้นอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ซึ่งอนุญาตให้ฟ้องคดีภายในสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ส่วนที่โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1238/2560 ของศาลแขวงลพบุรีนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์ถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้และศาลชั้นต้นได้ประทับฟ้องไว้แล้ว ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาผิดแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดิน, ละเมิด, ค่าเสียหายจากการรื้อถอนและขาดประโยชน์จากทรัพย์สิน, อายุความฟ้องคดี
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่
การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016-3017/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติ/ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และสนับสนุนการกระทำความผิดในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน
จำเลยที่ 2 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไปดำเนินการเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่ขออออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แล้วร่วมกับจำเลยที่ 1 พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนายช่างรังวัดไปรังวัดที่ดิน ทำแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และรู้เห็นเสนอรูปแผนที่ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งการกระทำในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ การได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ทางราชการกรมที่ดินออกให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ในวันดังกล่าวการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอันเป็นการสนับสนุนของจำเลยที่ 2 ยังดำเนินอยู่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11108/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแจ้งความเท็จ และความรับผิดในละเมิดต่อชื่อเสียง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา 172 173 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม และจำเลยได้กล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ มีผลกระทบถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยจะถอนคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ก็ไม่มีผลให้ความเสียหายของโจทก์ที่มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด จำเลยจึงคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12454/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งจากความเสียหายทรัพยากรธรรมชาติ: กำหนดตามอายุความอาญาที่เกี่ยวข้อง
จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่มีความเห็นในการสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม แต่เป็นกรณีถือได้ว่าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายและเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งเสริม ทำนุบำรุงป่าและการเกี่ยวกับการป่าไม้ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและติดอยู่ในเขตพื้นที่โซนอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีได้รับความเสียหายทางด้านป่าไม้ คิดเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 97 และมีโทษทางอาญาตามมาตรา 99 ประกอบมาตรา 43 ถือว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้อายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 99 ดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9568/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญา เริ่มนับแต่วันกระทำความผิด ไม่ใช่วันรู้เรื่องความผิด แม้โจทก์จะรู้เรื่องช้ากว่า
ในความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 มีอายุความสิบปี ป.อ. มาตรา 95 (3) บัญญัติว่า หากมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ หมายความว่า อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไป
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาลร่วมกับ ห. โดยเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จดทะเบียนโอนเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสามแปลงแก่ ห. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 มิใช่อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งคู่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 อายุความตามมาตรา 96 เป็นอายุความร้องทุกข์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 95 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เกินกำหนดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 ที่จำเลยกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) สิทธินำคดีอาญาย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6) และปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9323/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความและบทลงโทษ: การปรับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในคดีเลือกตั้ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 52 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี แต่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 17 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 20 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 101 และมาตรา 137 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับตามลำดับ ซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่เมื่อกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี คดีความผิดฐานดังกล่าวจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปี แล้ว คดีของโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ส่วนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 71 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 83 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 101 และมาตรา 137 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับตามลำดับ ซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดเป็นคุณกว่าโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ภายหลัง แต่โทษจำคุกตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก
ปัญหาเรื่องอายุความและการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 5