คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ม. 42/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักเงินเดือนชำระหนี้ฐานะผู้ค้ำประกัน: ชอบด้วยกฎหมายหากมีหนังสือยินยอม
กฎหมายที่ใช้บังคับแก่สภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ คือ ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยประกาศดังกล่าวข้อ 31 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และเพื่อความมั่นคงของตัวลูกจ้างซึ่งจะส่งผลให้ลูกจ้างมีกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงานให้แก่นายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดเป็นหลักการว่า ห้ามไม่ให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดไว้ แต่หากลูกจ้างให้ความยินยอมล่วงหน้าไว้ นายจ้างก็มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ หากลูกจ้างให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าด้วย นายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างและเงินอื่นใดดังกล่าวเพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วเกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำไว้ และไม่ได้กำหนดว่า หนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเป็นหนี้สินโดยตรงของลูกจ้างที่เกิดขึ้นแล้วในขณะลูกจ้างทำหนังสือให้ความยินยอม
โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยยินยอมให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป โดยให้หักเงินและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลันโดยไม่ต้องฟ้องร้องแต่อย่างใด โดยโจทก์ยินยอมให้หักได้เกินกว่าร้อยละสิบและให้หักรวมกับรายการหักอื่น ๆ ได้เกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิรับ ขณะโจทก์ทำหนังสือยินยอม หนี้เงินกู้ระหว่าง ฉ. ผู้กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทนหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ การที่โจทก์ทำหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 อันเป็นการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้า ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ได้ นอกจากจำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังหักเพื่อชำระค่าหุ้นของโจทก์และหนี้เงินกู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้กู้ด้วย ในขณะทำหนังสือยินยอมโจทก์สามารถคาดหมายได้ว่า เมื่อหักแล้วเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดจะเหลือเพียงพอแก่การดำรงชีพได้หรือไม่ การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแล้วคงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีพได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาทจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง
ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 บัญญัติเกี่ยวกับการหักเงินเดือนค่าจ้างและเงินอื่นใด เพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้แล้ว จึงหาอาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) มาปรับใช้ในฐานเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยให้ถือว่าจำนวนเงินสองหมื่นบาทเป็นเงินเดือนค่าจ้างที่ต้องคงเหลือภายหลังการหักชำระหนี้หรือให้ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินคงเหลือได้ไม่
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 เป็นระเบียบที่ออกโดยเฉพาะเพื่อใช้ปฏิบัติภายในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้ไว้ การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า ในกรณีของรัฐวิสาหกิจก็ต้องออกระเบียบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเช่นกัน หรือต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 เสียก่อน การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลือศูนย์บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการหักเงินปันผล/เฉลี่ยคืนชำระหนี้: ข้อจำกัดตามกฎหมายสหกรณ์และหลักกฎหมายทั่วไป
เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนเป็นเงินที่ผู้ร้องจ่ายให้แก่จำเลย ไม่ใช่เงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดในฐานะนายจ้างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่อยู่จ่ายให้แก่จำเลยตามความในมาตรา 42/1 แห่ง พ.รบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542
ข้อตกลงตามสัญญากู้ที่จำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน ผู้ร้องจึงไม่อาจนำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวได้
การขอให้นำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนมาหักชำระหนี้ได้กระทำภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับหนังสืออายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนปี 2561 จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจหักเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคสอง
หนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเป็นเพียงหนี้กู้ยืมไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 และมาตรา 324 ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของจำเลยในอันที่จะนำไปหักชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตามกฎหมายสหกรณ์ และผลกระทบจากการละเว้นการใช้สิทธิ
เงินบำเหน็จจากการลาออกจากการรับราชการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้สามัญกับโจทก์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหนี้ที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากรและหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้สามัญอันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9981/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องมีผลบังคับใช้ แม้จำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว ผู้คัดค้านต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว
สำหรับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ถือเป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม)