คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วยุรี วัฒนวรลักษณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันพยายามฆ่า, เป็นซ่องโจร, ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน, และการหักเงินที่ได้รับก่อนออกจากค่าสินไหมทดแทน
โจทก์บรรยายคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกฐานเป็นซ่องโจรอีกกรรมหนึ่ง โดยการกระทำความผิดฐานนี้ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันวางแผนเพื่อกระทำการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทำการตามที่ได้สมคบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนนั้น ไม่ถูกต้อง ทั้งปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหก ซึ่งกระทำผิดฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงมิอาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งหกได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งหก ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าเกิน 30 ปีเป็นโมฆะ แม้เจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย ศาลยืนตามสัญญาเดิม
การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาลักษณะที่รวมการเช่าระยะแรก 30 ปี แต่กำหนดมีคำมั่นที่โจทก์จะให้เช่าอีกสองคราว คราวละ 30 ปี ในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังชำระเงินการเช่าสองคราว คราวละ 30 ปี เช่นที่กล่าวข้างต้น ไม่มีรายละเอียดกำหนดค่าเช่าใหม่ เงื่อนไขการเช่าใหม่ ทั้ง ๆ ที่กำหนดระยะเวลายาวนานล่วงเลยไปแล้วถึง 30 ปี จะให้ต่อระยะเวลาเช่าไปอีก 2 คราว คราวละ 30 ปี รวมเป็น 90 ปี ซึ่งปกติสภาพความเจริญของที่ดิน สภาวะเศรษฐกิจ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่การทำคำมั่นของโจทก์จำเลยเท่ากับถือตามอัตราค่าเช่าเดิม เงื่อนไขการเช่าเดิม ทุกประการ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์จำเลยต่างประสงค์หลีกเลี่ยง ป.พ.พ. มาตรา 540 ที่ห้ามเช่าเกิน 30 ปี ฉะนั้นสัญญาส่วนที่เป็นคำมั่นที่จะต่อสัญญาเช่าอีก 2 คราว ๆ ละ 30 ปี จึงตกเป็นโมฆะ เนื่องจากวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายชัดแจ้ง และกรณีไม่อาจจะให้ตีความเป็นสัญญาบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อให้มีผลบังคับต่อไปตามที่จำเลยฎีกา เพราะมิฉะนั้นวัตถุประสงค์ของ ป.พ.พ. มาตรา 540 ดังกล่าวย่อมจะไร้ผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4290/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) ศาลลดเบี้ยปรับลงได้ และปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 9.2 กำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าต้องการเลิกสัญญาก่อนกำหนด โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าตามเงื่อนไขดังนี้... 9.2.2 กรณียกเลิกสัญญาในปีที่ 2 ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับร้อยละ 40 ของยอดค่าเช่าพึงชำระ นับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา..." สัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นการให้เช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี หากครบกำหนดโจทก์จะได้รับค่าเช่า 876,000 บาท แต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยการคืนรถยนต์ที่เช่าและให้โจทก์รับรถวันที่ 19 มีนาคม 2561 หลังจากทำสัญญาเช่าเพียง 1 ปี 4 เดือน 19 วัน โจทก์ได้รับค่าเช่าเพียง 242,548.39 บาท จึงไม่ได้รับค่าเช่าส่วนที่เหลือ 633,451.61 บาท แต่อย่างไรก็ตามสัญญา ข้อ 9.2.2 ดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท: การกระทำต่อเนื่องเพื่อทำสัญญาขายฝากที่ดิน
โจทก์แยกฟ้องการกระทำผิดของจำเลยทั้งสามข้อโดยคำฟ้อง 1.1 และข้อ 1.2 โจทก์ระบุวันเวลากระทำผิดอย่างเดียวกันคือระหว่างวันนี้ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดกับบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อ 1.1 ว่า ร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารโฉนดที่ดินของผู้เสียหาย และข้อ 1.2 ว่า ภายหลังเกิดเหตุข้อ 1.1 ร่วมกันปลอม ทำปลอมหนังสือมอบอำนาจ (ท.ค. 21) ขึ้นทั้งฉบับ จากนั้นบรรยายการกระทำตามฟ้องข้อ 1.3 ว่า วันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลากลางวัน ภายหลังเกิดเหตุข้อ 1.2 ร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมตามฟ้องข้อ 1.2 อ้างแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาอย่างเดียวคือเพื่อจะทำสัญญาขายฝากที่ดินของผู้เสียหายกับ ท. ให้ได้ การกระทำได้ของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425-3426/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด
คำให้การของผู้คัดค้านในคดีแพ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องก่อนเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นเพียงการอ้างว่าสัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำฟ้องล้วนมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้น โดยไม่มีข้อความแสดงถึงการยอมรับว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านผูกพันกันในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด คำให้การดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านยอมรับว่าข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องต้องระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 วรรคสอง
แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ก็ตาม แต่ในเรื่องขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ความมีอยู่ ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงปัญหาว่าสัญญาดังกล่าวผูกพันผู้ร้องหรือไม่นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 44
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงว่าจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง ข้อสัญญาที่ผู้ร้องอ้างถึง มีลักษณะเป็นการประมาณรายรับจากการลงทุนที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายของผู้ร้อง ทั้งยังไม่อาจถือเป็นหนี้ที่แน่นอน โดยผู้ร้องมีลักษณะเป็นเพียงตัวแทนของคู่สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ แทนคู่สัญญา ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และผู้ร้องก็ไม่มีฐานะเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลอันจะมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องมิใช่คู่สัญญาดังกล่าว ผู้ร้องย่อมไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้ย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2979/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษคดียาเสพติด: การใช้กฎหมายใหม่ (ประมวลกฎหมายยาเสพติด) และการพิจารณาโทษกรรมเดียว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนคดีถึงที่สุดแล้ว ระหว่างจำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำอย่างเดียวกันคือการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งแยกเป็นคนละฐานความผิด จึงต้องลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 เพียงบทเดียว ส่วนการที่จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ป.ยาเสพติด มาตรา 153 ยังคงบัญญัติให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งดังกล่าวน้อยกว่าอัตราโทษ ที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ ทำนองเดียวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 แต่กฎหมายใหม่กำหนดหลักเกณฑ์ให้โจทก์ต้องระบุในคำฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล หรือมิฉะนั้นผู้กระทำความผิดต้องยื่นคำร้องต่อศาล ศาลจึงจะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ส่วนการกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ป.ยาเสพติด มาตรา 126 ยังคงบัญญัติให้ระวางโทษผู้พยายามกระทำความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จทำนองเดียวกับ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 แต่เมื่อลงโทษจำเลยตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว จึงต้องบังคับตามกฎหมายใหม่ มาตรา 126 ด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 3
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 4,018 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 70.823 กรัม และจำเลยพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 1,996 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 35.180 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนทราบการกระทำความผิดของจำเลยมาจากผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้โทษที่เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย จึงวางแผนล่อซื้อและจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลาง พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ถึงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และหากมีการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางออกไปย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังผู้เสพหลายคนโดยสภาพเข้าลักษณะเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) มิใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ตามที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ทั้งยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป อันเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เช่นนี้ เมื่อ ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท และการมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามกฎหมายใหม่ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่จำเลยพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,996 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 4,018 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวลงโทษได้เพียงกระทงเดียว โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทั้งในเรื่องการกำหนดโทษและจำนวนกระทงลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จะกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบมาตรา 126 ป.อ. มาตรา 80 และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2934/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติจ้างเหมาเอื้อประโยชน์พวกพ้องละเลยการแข่งขันราคา
จำเลยที่ 1 ตำแหน่งนายกเทศมนตรี มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย กับมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 จำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างโดยทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่าการดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุไม่รู้ระเบียบมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดเทศบาล มีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย แม้จะไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบระเบียบการดำเนินการจ้างโดยตรง และไม่มีอำนาจอนุมัติการจ้าง รวมทั้งไม่มีหน้าที่ในการตรวจรับการจ้างก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบรายงานที่ต้องเสนอจำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ลงนามในบันทึกขออนุมัติตกลงจ้างโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่รู้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดระเบียบ เสนอให้จำเลยที่ 1 ลงนาม โดยมีการดำเนินการในลักษณะเร่งรีบและรวบรัดเพื่อจะกำหนดตัวผู้รับจ้างได้เอง อันเป็นพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปเพื่อช่วยเหลือให้ ก. และ ส. เป็นผู้รับจ้างทำสัญญากับเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมได้รับความเสียหาย ไม่อาจพิจารณาคัดเลือกหาผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำที่สุดจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาเงินค่าอาหาร หรือทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151
สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคลัง ย่อมมีอำนาจหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบกำกับดูแลภายในกองคลัง ทั้งยังมีฐานะเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และมีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน การรับรองสิทธิการเบิกเงินงบประมาณ การควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน และเป็นฝ่ายตรวจอนุมัติฎีกาและควบคุมงบประมาณ มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ และมติรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตามคำสั่งเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม การดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัสดุของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม แต่จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้มีการอนุมัติจัดจ้างด้วยวิธีการที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยไม่ทักท้วง และเสนอความเห็นทำนองรับรองความถูกต้องในการปฏิบัติตามระเบียบ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ในการอนุมัติและเห็นชอบให้มีดำเนินการจ้างเหมาประกอบโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่ตามระเบียบจะต้องดำเนินการจ้างโดยวิธีสอบราคา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำไปโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นไปในทางเอื้ออำนวยให้ ก. และ ส. เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาจ้างกับเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อมจึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ/ละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ, สนับสนุนความผิด, ความรับผิดทางอาญาของนายก อบต., และการกำหนดโทษ
จำเลยที่ 2 หัวหน้าสำนักงานปลัดมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการ และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปมีหน้าที่ในขั้นตอนการจัดทำและรับรองเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณตามที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเสนอมาเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาและเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารโดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อหรือสั่งจ้างและเบิกจ่ายเงินงบประมาณในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 โดยภาระดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ต้องบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาด้วยความโปร่งใสและไม่ผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบอนุมัติการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างปิดกั้นคลองบางแพรกให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีการจัดจ้างจริง เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปในการจัดจ้างอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้รถยนต์เพื่อช่วยเหลือซ่อนเร้นผู้กระทำผิดข้ามจังหวัด ศาลมีอำนาจริบได้ตามกฎหมาย
การขับรถกระบะบรรทุกของกลางที่มีการทำหลังคาฝาปิดด้านข้างและด้านท้ายจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจังหวัดสมุทรปราการมีระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินไปได้เอง จำเลยจำเป็นต้องใช้รถของกลางเป็นยานพาหนะพาคนต่างด้าวเดินทางไป โดยใช้วิธีการให้คนต่างด้าวสองคนหลบซ่อนอยู่ในช่องใต้หลังคาด้านบนของหัวรถ แล้วใช้ถังน้ำมันขนาดประมาณ 30 ลิตร หลายถังปิดบังไว้ อันเป็นการซ่อนเร้นคนต่างด้าวดังกล่าว จึงมิใช่การใช้รถของกลางตามสภาพอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป อันเป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่มุ่งประสงค์จะใช้รถของกลางในการช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม รถของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้จดข้อความเท็จ ประเด็นการใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายแก้ไขใหม่
ท. ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เรื่องการถอนฟ้องของ ท. เพื่อให้ได้ความกระจ่างว่า ท. มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้จริงหรือไม่ แต่ ม. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันเนื่องจากสถานการณ์โลกในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นวงกว้าง ม. จึงส่งบันทึกถ้อยคำตอบข้อซักถามของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่กระทำในต่างประเทศโดยมีโนตารีพับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นรับรองว่า ม. ลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าตนต่อศาลชั้นต้นแทนการให้ถ้อยคำด้วยวาจาซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จึงรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการสอบถามข้อเท็จจริงด้วยวาจาได้ ทั้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. ด้วยวาจาในเรื่องการถอนฟ้องเป็นไปเพื่อความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นการให้สืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) จึงไม่จำต้องสืบพยานปาก ม. ที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาล โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 230/1 ดังนี้ เมื่อบันทึกถ้อยคำของ ม. ระบุว่า ท. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และตราประทับที่ ท. ได้ประทับในคำร้องขอถอนฟ้องไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ กับ ท. ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในนามของโจทก์ คำร้องขอถอนฟ้องของ ท. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และปรากฏตามหนังสือรับรองข้อเท็จจริงว่า ม. ในฐานะกรรมการผู้แทนแต่เพียงผู้เดียวของโจทก์ขอรับรองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะถอนฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถอนฟ้องคดีนี้
of 4