คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระ เบญจรัศมีโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วันนับจากวันที่ทราบข้อเท็จจริง
ผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องได้เข้าร่วมประมูลที่ดินแปลงที่ 1 และเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 605,000 บาท แต่เมื่อผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายเจ้าพนักงานบังคับคดีกลับระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้ชนะการประมูลที่ดินแปลงที่ 2 เนื่องจากเกิดจากความผิดพลาดในการจดรายงานการขายทอดตลาดและการทำสัญญาซื้อขาย คำร้องดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องเสียหายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามมาตรา 296 วรรคสาม เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 และผู้ร้องเข้าทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันดังกล่าวตามสำเนาสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 เอกสารท้ายคำร้องคัดค้านขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2554 แสดงว่าผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้วนับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องสอดเพื่อเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมในคดีซื้อขายที่ดิน จำเลยอ้างฉ้อฉล ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างว่าเป็นการตั้งข้อพิพาทใหม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จากผู้รับจำนองเดิม จำเลยที่ 1 กับภริยาของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ชำระหนี้ที่บุคคลทั้งสองเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 รวม 118,191,930.54 บาท แทนโดยจำเลยที่ 1 จะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ลดหนี้ของจำเลยที่ 1 กับภริยาที่โจทก์จะชำระแทนลงเหลือ 42,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยรับเงินมัดจำ 400,000 บาท ไปจากโจทก์และตกลงให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 4,800,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ชำระเงินบางส่วน 3,561,499.63 บาท ให้จำเลยที่ 2 และชำระเงิน 1,000,000 บาท ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องตามข้อกำหนดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำกับจำเลยที่ 2 แล้ว ระหว่างนั้นโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้บุคคลอื่นในราคา 70,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กับภริยา ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระโดยแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการทำนิติกรรมของโจทก์แล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ขายที่ดินทั้ง 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ก่อนหน้าโจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และภริยานั้น จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ร้องไว้ก่อน จากนั้นอีกวันผู้ร้องจึงทำบันทึกข้อตกลงจะขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ โจทก์อาศัยสิทธิจากการทำข้อตกลงดังกล่าวไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับทำบันทึกข้อตกลงจะซื้อขายที่ดิน 21 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการฉ้อฉลผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลยทั้งสอง จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ข้ออ้างของผู้ร้องเป็นการตั้งข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นมาใหม่ต่างจากข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยผู้ร้องมิได้มุ่งขอบังคับเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ การร้องสอดของผู้ร้องจึงเสมือนเป็นอีกคดีหนึ่ง ผู้ร้องไม่มีความจำเป็นต้องร้องสอดเข้ามาในคดีอย่างแท้จริง ทั้งมิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19140-19173/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพจ้างขัดแย้งกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ถือตามข้อตกลงเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้อง และให้จ่ายค่าจ้างส่วนต่าง
จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 (ฉบับเดิม) ว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานของลูกจ้างโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานประชุมและตกลงเป็นหนังสือว่าให้จำเลยแบ่งทยอยปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 3 ช่วง แทนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้คราวเดียวตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก และกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เมื่อสหภาพแรงงานกระทำไปโดยไม่ได้แจ้งให้สมาชิกทราบและไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่เห็นด้วย ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานกระทำไปโดยมติที่ประชุมใหญ่และเป็นการกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (1) และมาตรา 103 (2) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 19 จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้องโดยไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามมาตรา 20 ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยต้องถือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม
เงินที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิที่จะได้รับเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนทวงถามจึงถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนผิดนัดชำระหนี้ จำเลยมีสิทธิไม่ส่งมอบโฉนด ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับประโยชน์ตามกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิที่ตกทอดแก่ทายาท
ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี
แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15899/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีละเมิด: การกระทำผ่านผู้แทนของหน่วยงานของรัฐ
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ใช้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ใส่กุญแจประตูทางเข้าบริเวณที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออก ใช้สอยและผลิตสินค้าในที่เช่าได้ เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ และยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ให้พนักงานของจำเลยที่1 กระทำการดังกล่าว แม้จะบรรยายในลักษณะว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดก็ตาม จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 การแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผ่านทางจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบโดยตรง กรณีต้องด้วยมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในขอบเขตของตนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนอง: คำร้องรับชำระหนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แม้เป็นคดีคู่ความเดิม
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 หรือไม่ ส่วนคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้กู้ยืมผู้ร้อง อันเป็นหนี้ประธานหรือไม่ ส่วนที่มีคำขอให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทเป็นหนี้อุปกรณ์ ประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงเป็นคนละประเด็นกัน แม้ทรัพย์จำนองจะเป็นแปลงเดียวกันและผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินพิพาทมาด้วย ก็เป็นการรับรองสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองในคดีเดิมเท่านั้น เมื่อประเด็นข้อพิพาทของคำร้องคดีนี้และตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคนละประเด็นกัน โดยผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองในคดีก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ กรณีจึงหาเป็นเรื่องฟ้องซ้ำไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12041/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ต้องเป็นศาลชั้นต้น แม้คดีอุทธรณ์ยังไม่สิ้นสุด
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์นั้น แม้คดียังอยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา และคดีอยู่ระหว่างพิจารณาในศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็ยังมิได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์คำพิพากษาในเนื้อหาคดี คำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง หาอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในประเด็นนี้ขึ้นมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการวิวาทและผลกระทบต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรง ที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข
of 17