คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธีระ เบญจรัศมีโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินของผู้เช่านา: การปฏิเสธบังคับตามคำวินิจฉัย คชก. หากผู้เช่าไม่ได้ทำนาเอง
คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดถือว่าเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และการพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าการบังคับจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และมาตรา 44
เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านาซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนา เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทผิดสัญญามิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องบังคับซื้อนาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
ราคาตลาดที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธราคาที่โจทก์ขอซื้อที่นาไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้อง แม้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาก็หาต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ตามราคาตลาดที่กล่าวอ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การอายัดทรัพย์ และการพิจารณาความเห็นแย้งของพนักงานอัยการ
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของตน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยตรงตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แล้ว แต่โจทก์ที่ 4 หลบหนีและยังไม่ได้ตัวมา ซึ่งคดีจะขาดอายุความ อันทำให้คำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นสิ้นผลลง จำเลยที่ 1 จึงแจ้งจำเลยที่ 2 ดำเนินการกับทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงเกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หาใช่เป็นการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง
จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือความเห็นแย้งจากพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่าคดียังไม่มีเหตุผลที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน วันที่ 18 เมษายน 2557 คณะกรรมการธุรกรรมประชุมและมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินวินิจฉัยชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสาม วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและมีมติควรเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 มีการประชุมคณะกรรมการแต่ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนลาออกทำให้มีจำนวนไม่ครบ 9 คน วันที่ 6 มีนาคม 2558 มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 9 คน วันที่ 25 มีนาคม 2558 เลขาธิการฯ เสนอเรื่องความเห็นแย้งของพนักงานอัยการให้คณะกรรมการพิจารณา วันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการได้พิจารณาความเห็นแย้งดังกล่าว โดยมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสี่ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีถือได้ว่าคณะกรรมการได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการฯ ตามมาตรา 49 วรรคสาม แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการคุ้มครองทรัพย์สินที่ถูกสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินภายใต้ พ.ร.บ.ฟอกเงิน
ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้เป็นการยื่นเข้ามาก่อนคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด ก็ต้องถือเป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 53 ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 50 เพราะไม่ทราบถึงประกาศของศาลและหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษหลายกรรมต่างวาระในความผิดอนาจารและกระทำชำเรา โจทก์มีสิทธิขอให้ลงโทษทุกกรรม
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า ต่อมาภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1.2 ซึ่งฟ้องข้อ 1.2 เกิดเหตุเมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2559 จนกระทั่งถึงประมาณเดือนเมษายน 2560 ต่อเนื่องกันตลอดมา วันที่เท่าใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยจำเลยใช้อวัยวะเพศของจำเลยกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ด้วยการสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เพื่อสนองความใคร่ของจำเลย ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันอีกรวมจำนวนยี่สิบครั้ง การที่ระบุตอนท้ายฟ้องข้อ 1.3 ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันอีก รวมจำนวนยี่สิบครั้ง เป็นการบรรยายรายละเอียดให้เห็นแล้วว่า จำเลยกระทำผิดลักษณะเดียวกันตามฟ้องข้อ 1.3 รวม 20 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน และโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทุกกรรม โดยโจทก์อ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.3 เพียงกรรมเดียว จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องความผิดอันยอมความได้ เริ่มนับแต่วันที่รู้ความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด
โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งห้าร้องเรียนโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับได้ความจากคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เคยเรียกโจทก์และจำเลยทั้งห้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ยในปี 2557 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน จึงเชื่อว่าโจทก์ทราบมูลความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยทั้งห้าตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการร้องเรียนแล้วกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดเจ้าหน้าที่ - ความรับผิดร่วม - ประมาท - เจตนาทุจริต - ค่าเสียหาย - สิทธิไล่เบี้ย
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของโจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนซึ่งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงินเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานให้กระทำการอันไม่ชอบธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143
ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 143 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หามีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม ถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเรียกและรับเงิน 9,000,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการตามหน้าที่โดยยกเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้ จ. เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีคำสั่งใหม่ให้ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ แม้คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่สามารถจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. ได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาจำกัดสิทธิการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และการปรับบทลงโทษในคดีทุจริตต่อหน้าที่
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 83 ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ความผิดในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 151 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งไม่เกินห้าปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีอื่น ต้องมีคำพิพากษาลงโทษในคดีแรกก่อน หากไม่มี ศาลชอบที่จะแก้ไขหมายจำคุกที่ไม่ถูกต้อง
การนับโทษต่อจากสำนวนคดีเรื่องใดจะต้องปรากฏว่าคดีเรื่องนั้นศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไว้ก่อนแล้ว คดีเรื่องหลังจึงจะนับโทษต่อจากกำหนดโทษในสำนวนคดีเรื่องก่อนได้ แต่คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 ภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่เป็นไม่นับโทษต่อจึงชอบแล้ว และไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีถึงที่สุดให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีนำเข้าและครอบครองเมทแอมเฟตามีนร่วมกัน ข้ามชาติ หลักฐานเชื่อมโยงจำเลย
จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งรู้จักกัน จำเลยที่ 1 กับ ส. แล่นเรือไปนำเมทแอมเฟตามีนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 ขับรถมารับจำเลยที่ 1 และ ส. พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
of 17