คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 7

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย: สัญญาเป็นโมฆะ แม้ธนาคารคิดดอกเบี้ยภายในกรอบประกาศ แต่การหักชำระหนี้ต้นเงินชอบด้วยกฎหมาย
ธนาคาร ก. ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมที่ธนาคาร ก. ทำกับจำเลยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และประกาศธนาคาร ก. เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์หนี้สินรายจำเลยมาและคิดดอกเบี้ยตามประกาศทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ธนาคาร ก. มีสิทธิเรียกจากลูกค้าได้ในขณะทำสัญญานั้นจึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นโมฆะแม้ตามความเป็นจริงธนาคาร ก. จะคิดดอกเบี้ยภายในกรอบของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคาร ก. ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัด แต่เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยเป็นเพียงลูกค้าของธนาคาร ก. ที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินแล้วธนาคาร ก. นำเงินไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารคิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยอันตกเป็นโมฆะตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ที่ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะไปหักชำระหนี้ต้นเงินจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คผิดนัดชำระหนี้: การคิดดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายโดยความสมัครใจ ไม่ใช่การฉ้อโกง
แม้สัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้มีการตกลงไว้ว่าหากผิดสัญญาสามารถกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายกันได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมจะคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แก่ลูกหนี้ทุกรายที่ผิดนัด รวมทั้งจำเลยด้วย เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ร่วมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน การที่เช็คพิพาทเป็นเช็คค่าสินค้าที่คิดรวมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไว้ด้วยจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หาใช่เป็นการคิดค่าเสียหายเอาตามอำเภอใจของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทไม่ใช่หนี้กู้ยืม ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6277/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ กรณีผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขับเอง และการกำหนดดอกเบี้ยที่เหมาะสม
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามสัญญาประกันภัยในกรณีที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ม. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการที่โจทก์กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเฉี่ยวชนรถยนต์ของ ม. และ ส. ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ส่วนที่โจทก์จะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. และ ส. บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมิใช่กรณีรับช่วงสิทธิ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่การที่จำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากมีหลักฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ และคนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสู้ความโดยมีเหตุสมควร สมควรกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาซื้อขาย: ศาลฎีกาแก้ไขอัตราดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ม.7 และวินิจฉัยประเด็นนอกคำให้การ
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประเภทประจำ (12 เดือน) ของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ฝากเงิน เพื่อความสะดวกในการคิดคำนวณให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันฟ้องนั้น ตามทางพิจารณาไม่ได้ความจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารพาณิชย์ หรืออัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันฟ้อง มีอัตราร้อยละเท่าใด จึงกำหนดให้จำเลยเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย การหักเงินเพิ่ม และการประเมินรายได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าหุ้น
โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เมื่อหักแล้วต้องนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 52 และในการตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้น เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ยื่นบัญชีจ่ายเงินได้หรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวให้ปฏิบัติตามภายใน 15 วัน ตามมาตรา 51 แห่ง ป.รัษฎากร จึงเป็นกรณีที่ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร และสิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเรียกเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบพบว่าโจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่ครบถ้วนและแจ้งให้โจทก์นำส่งให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระค่าหุ้นจาก น. ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 การที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระค่าหุ้นดังกล่าว แต่กลับลงบัญชีว่าได้ชำระแล้ว เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเสมือนให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยและโจทก์จะอ้างการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1121 อันเป็นเรื่องการบอกกล่าวให้ชำระค่าหุ้นเป็นเหตุให้ถือว่าผู้ถือหุ้นยังไม่ต้องเสียดอกเบี้ยไม่ได้ด้วย
โจทก์นำเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีบางส่วนไปใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงาน รายจ่ายดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจ แต่ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4
เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาว่าโจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่ามูลค่าคงเหลือตามบัญชีหรือไม่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินในปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในปัญหาดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) มาตรา 8 ประกอบ ป.รัษฎากร มาตรา 30
คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้ระบุว่าโจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ คงบรรยายเพียงว่าโจทก์คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไรเท่านั้น การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจึงถือว่ายุติ แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งยุติแล้วกลับเป็นไม่ยุติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ไม่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนเติมมูลค่า แต่ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นเติมมูลค่าถือเป็นการกระทำโดยจงใจ และการที่โจทก์ให้กรรมการและพนักงานกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุสมควร นั้น มิใช่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์ กรณีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญา กู้ยืมเงิน – กรณีไม่ระบุชัดเจน ศาลใช้ ป.พ.พ. ม.7 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเบี้ยปรับ
ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชี เป็นเพียงตกลงกันว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งในสัญญา เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชีไม่แน่นอนย่อมขึ้นลงได้ตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ที่จะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด และโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้ดอกเบี้ยไม่ชัดเจน ศาลใช้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ธนาคาร ก. กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชี โดยจะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจนกว่าจะได้ชำระต้นเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามข้อตกลงดังกล่าวเพียงแต่ตกลงกันว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งในสัญญาว่าอัตราเท่าไร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคาร ก. กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชีไม่แน่นอนย่อมขึ้นลงได้ตามประกาศธนาคาร ก. จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ที่จะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญา กู้ยืมเงิน การชำระหนี้ และผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน
สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ ที่โจทก์ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 นั้น ระบุว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายจึงเป็นกรณีมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง จึงต้องตีความเป็นคุณแก่ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าได้มีการตกลงกันด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กรณีหาใช่เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้องไม่
โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 155,505 บาท แต่จำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้สินรายใด เมื่อหนี้สินมีจำนวน 150,000 บาท และจำนวน 30,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่หนี้สินรายแรกมีผู้ค้ำประกัน 2 ราย ส่วนหนี้รายหลังมีผู้ค้ำประกันเพียงรายเดียว หนี้สินรายหลังจึงเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ จึงต้องถือว่าหนี้รายหลังเป็นอันปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
เมื่อการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันไม่ได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดและสัญญาประกันภัย: การวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและการแยกความรับผิดของจำเลย
แม้ว่าในการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่ฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย
ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) กำหนดให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีด้วย เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทในการทำละเมิด ย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีและฝ่ายจำเลยก็ได้ดำเนินคดีไปตามข้อต่อสู้และสิทธิของตน โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินคดีไปโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 จึงสมควรแล้ว
เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันโดยจำเลยที่ 2 แยกยื่นอุทธรณ์อีกฉบับต่างหาก จึงต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี แต่มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งเป็นความรับผิดในมูลละเมิดโดยผลของกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมถูกจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นความรับผิดในมูลสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และความรับผิดของจำเลยร่วมจึงแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย
การวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์และเพื่อเป็นประกันการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้น จะบังคับชำระเอาทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางไม่ได้ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวาง และหากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่วางไว้คืนได้ ซึ่งจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิขอเงินที่วางไว้ดังกล่าวคืนไปแล้วด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อน ไม่ขัดต่อมาตรา 229 และ 162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงิน: อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไม่ขัดแย้งกับประกาศธนาคารและกฎหมาย แม้มีประกาศอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
หนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในหนังสือสัญญากู้เงินระบุ ความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้และผู้กู้ ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคาร ฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามหนังสือสัญญากู้เงินไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว การทำสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์และจำเลยเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาและอยู่ในกรอบที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ และแม้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ก็ตาม ก็ได้ความว่าในทางปฏิบัติจริง โจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้
of 28