คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 65 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9033/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนทรัพย์สินของบริษัทล้มละลายที่ขัดต่อคำสั่งศาล
ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยในคดีล้มละลายซึ่งมีอำนาจรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอ้างว่า จำเลยซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และบันทึกข้อตกลง เรื่อง โอนชำระหนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 กับโจทก์ โดยฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ที่ให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และห้ามมิให้จำเลยเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างตามปกติตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 การโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 70108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 38/138 และ 38/139 ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ และมีผลให้ผู้คัดค้านซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เนื่องจากนิติกรรมที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์เป็นโมฆะกรรมไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และไม่มีสิทธิโอนให้แก่ผู้คัดค้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องว่ากล่าวตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องในคดีล้มละลาย มิใช่ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพราะมิใช่เรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลซึ่งคำร้องนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำสั่งศาลหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด: ห้ามแก้ภาระความรับผิดนอกเหนือจากคำสั่งเดิม
คำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอของผู้ร้องย่อมผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียถ้าหากมี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 เมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองถึงที่สุดแล้ว และข้อที่ผู้ร้องขอแก้ไขคำสั่งของศาลขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 65,000,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการขอให้ศาลทำคำสั่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาระความรับผิดของจำเลย นอกเหนือไปจากคำสั่งของศาลซึ่งมีผลเป็นการแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง กรณีมิใช่เรื่องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ที่จะเพิ่มเติมแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลสำหรับผู้ยากจนในการอุทธรณ์คดีผู้บริโภค และผลกระทบต่อการวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นคนยากจนไม่มีเงินชำระว่า อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งมีความหมายว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฟ้องอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องวางค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งรวมถึงเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 157 ด้วย สำหรับเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ คือ เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 229 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์โดยไม่ต้องวางเงินความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6901/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ไม่มีผลให้ทนายความสิ้นสุดอำนาจยื่นฎีกาแทนลูกหนี้ได้
คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่มีผลทำให้อำนาจหน้าที่โจทก์ที่มีอยู่ในกิจการและทรัพย์สินของโจทก์สิ้นสุดลงเช่นอย่างคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแต่มีผลให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของโจทก์สิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ทนายความที่โจทก์แต่งตั้งไว้แล้วโดยชอบก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาแทนโจทก์ ฎีกาที่ยื่นจึงมิใช่ฎีกาที่ไม่ชอบอันจะมีผลให้คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ผูกพันจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน: เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจดำเนินการหลังคำพิพากษาถึงที่สุด
การขอให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ มิใช่เป็นการบังคับคดีที่ต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. และไม่มีกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง แต่การเพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว เป็นกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ และตามวรรคแปดของบทบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด" ดังนั้น การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินนั้น โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ก็ต่อเมื่อคำพิพากษานั้นถึงที่สุดเป็นต้นไป และที่ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ก็ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดทั้งคดี เมื่อนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์จึงยังมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาคดีอาญาผูกพันคดีแพ่ง: การพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาอาญาในคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 385 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 385 โดยโจทก์เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีทั้งสองดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 229 โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกับประชาชนอื่นปิดถนนอันเป็นการกระทำเดียวกับที่จำเลยทั้งสามกับพวกถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาดังกล่าว โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4218/2549 เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) และปรากฏตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2208/2549 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีนี้) และสำหรับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) อาจกระทำไปโดยเข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิทำได้เพราะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขยะที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวนำไปฝังกลบ และทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) เป็นผู้นำถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร วางขวางถนน แม้ในคดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นผู้เสียหาย จึงถือว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ และส่วนที่วันกระทำผิดตามฟ้องคือวันที่ 29 ธันวาคม 2546 แตกต่างจากคดีนี้นั้น ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าวันที่ 30 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 มีกลุ่มประชาชนนำเต็นท์และสิ่งกีดขวางปิดกั้นถนน โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกากอุตสาหกรรมทำให้น้ำเน่าเสีย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากวันที่ 30 กันยายน 2546 ในคดีนี้ต่อเนื่องกันไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 อันเป็นวันกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้และจำเลยทั้งสี่ (รวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3551/2550 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำเดียวและต่อเนื่องกันซึ่งเป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ตรงกัน ทั้งถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับในคดีนี้ และเมื่อคดีดังกล่าวทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำคำพิพากษาคดีอาญามาใช้ในคดีแพ่ง ต้องเป็นประเด็นโดยตรงและคู่ความต้องเป็นเดียวกัน
การที่จะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา เมื่อปรากฏว่าการพิพากษาคดีอาญาในคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อันเป็นการวินิจฉัยถึงการทำงานของจำเลยที่ 1 รวมถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่ามิได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งหก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีแพ่งคดีนี้อีกว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก อันมีข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งหกว่าเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นกรณีของการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้วถึงการกระทำของจำเลยทั้งหก คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำไปทำให้โจทก์ขาดรายได้เท่าที่ควรจะได้เป็นเงิน 6,000,000 บาท นั้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงถึงการตรวจสอบห้างจำเลยที่ 5 และบริษัทจำเลยที่ 6 ที่โจทก์พบว่าเมื่อนำใบซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 พิจารณาสั่งขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคาต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ในการซื้อขายแต่ละคราว ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงินรวม 6,000,000 บาท เท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาที่ฟังยุติแล้วว่า ที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเรื่องซื้อขายกันตามปกติทางการค้า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายไปในราคาต่ำกว่าทุนอันจะเป็นตัวชี้เจตนาได้ว่าจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกมิได้กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจรและขอบเขตความรับผิดในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาตามคำพิพากษาถึงที่สุด
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน คดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ของ อ. ผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ พฤติการณ์ในคดีส่วนแพ่ง คือ พบชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพิพาทในบริเวณอู่ซ่อมรถที่จำเลยดำเนินกิจการ จำเลยรับว่าซื้อรถยนต์พิพาทจาก ก. ราคา 200,000 บาท โดยโอนลอยทั้งที่ ก. เพิ่งซื้อมาจากบริษัท ห. ในราคา 650,000 บาท ดังนั้น จำเลยรับซื้อรถยนต์ทั้งคันไว้ในราคาต่ำผิดปกติ จึงฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาททั้งคันโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ลักมา แม้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ มิได้รับของโจรรถยนต์ทั้งคันก็ตาม แต่คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 เมื่อคดีส่วนแพ่งฟังว่า จำเลยรับรถยนต์ไว้ทั้งคันก็ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งคันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5952/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท แม้เกิน 10 ปี ก็ยังบังคับคดีได้
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกำหนดว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยตกลงให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทที่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ซื้อคืนจากโจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยขนย้ายรวมทั้งรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ทั้งจำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวอ้างว่ามิใช่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝากและมิใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอน เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์กลับแถลงว่าไม่เคยขัดขวางมิให้จำเลยรื้อถอนตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ยิ่งกว่านั้นในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านดังกล่าวของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทโดยเร็ว จำเลยกลับเป็นฝ่ายแถลงขอเวลาขนย้ายบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็ยินดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปทั้งหมด แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าหากจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยรื้อบ้านทั้งสองเลขที่ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วย จำเลยจะมากล่าวอ้างภายหลังว่าเป็นการนอกเหนือไปจากคำฟ้องหรือเกินคำขอมิได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประวิงการบังคับคดีของโจทก์ให้ชักช้า
ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์บังคับคดีเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ตามยอมวันที่ 24 มีนาคม 2544 นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยปิดประกาศให้ขับไล่จำเลยและบริวารรวมทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 30 มกราคม 2546 อันอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อการบังคับคดีได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมายังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5657/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการบังคับคดีในคดีล้มละลาย: สิทธิของผู้รับโอนเมื่อเจ้าหนี้เดิมยื่นคำขอรับชำระหนี้
ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีต่อจำเลยทั้งสามมาจากโจทก์โดยชอบ และศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว แม้ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องว่า โจทก์ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาที่ผู้ร้องได้รับโอนมาในคดีนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามในคดีล้มละลายที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดแล้ว สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้ในฐานะรับโอนหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากโจทก์จึงชอบที่จะไปว่ากล่าวตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายล้มละลาย ไม่มีกรณีที่ผู้ร้องจะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยทั้งสามในคดีนี้แทนโจทก์อีก
of 7