คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 65 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดตามเช็ค แม้จะอ้างว่าให้ยืมเช็คเพื่อค้ำประกันการขายลดเช็ค
เมื่อฟังได้ว่า จำเลยที่ 8 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยไม่ปรากฏในเช็คพิพาททั้งสองฉบับว่า เป็นเช็คค้ำประกันการขายลดเช็คดังที่จำเลยที่ 8 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 8 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเนื้อความในเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์มีเช็คดังกล่าวไว้ในครอบครอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 การที่จำเลยที่ 8 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ขอยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาเปลี่ยน จำเลยที่ 8 มิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นการยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยที่ 8 กับจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนมาต่อสู้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ส่วนที่จำเลยที่ 8 อ้างว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 8 มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์คบคิดกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลจำเลยที่ 8 อย่างไร จำเลยที่ 8 นำสืบมาเพียงว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังดังที่จำเลยที่ 8 อ้างมา จำเลยที่ 8 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับย่อมต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานที่ไม่หนักแน่นเพียงพอ และการรับฟังคำรับสารภาพที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ศาลยกฟ้อง
บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เป็นพยานบอกเล่าอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธต่อศาลและไม่มีข้อเท็จจริงแวดล้อมน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ลำพังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ยิ่งบันทึกคำให้การของผู้ให้ถ้อยคำ ซึ่งจำเลยให้การปรักปรำตนเองโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหา ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตน จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นอกจากจะเป็นพยานบอกเล่าแล้วยังไม่ชอบธรรมที่จะรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลย ย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: การยกที่ดินโดยเสน่หาต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส หากไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องเพิกถอนได้
การที่จำเลยที่ 1 และ ช. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทมา ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์ เป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 บัญญัติว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ (5) ให้โดยเสน่หา และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้น เป็นโมฆะหรือโมฆียะ บัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอน นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ย่อมสมบูรณ์ โจทก์ไม่จำต้องบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสดังกล่าว จำเลยที่ 1 และโจทก์จึงต้องจัดการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3363/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบริษัทบริหารสินทรัพย์ในการสวมสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แม้พ้นกำหนดเวลาบังคับคดี
ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีนี้มาจากโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้ อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้พิเศษนอกเหนือไปจากบททั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เท่านั้นที่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อคดีอยู่ระหว่างการขายเช่นนี้ แสดงว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้น ย่อมเป็นสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมายที่จะร้องขอเข้าสวมสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อดำเนินการบังคับคดีสืบต่อจากโจทก์ได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม เพราะตราบใดที่สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ยังไม่หมดสิ้น ผู้ร้องก็ชอบที่จะเข้าสวมสิทธิบังคับคดีแทนโจทก์ได้ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ทั้งมิใช่เรื่องการร้องสอดดังที่อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349-3350/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย, การให้สัตยาบัน, ตัวแทน, อนุญาโตตุลาการ: ศาลยืนคำพิพากษาตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้ร้อง และผู้คัดค้านปฏิบัติต่อกันมีลักษณะเป็นการตกลงกันโดยปริยายระหว่างคู่สัญญาสามฝ่ายให้ผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า น. กระทำในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้กระทำในฐานะกรรมการบริษัทผู้คัดค้าน เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของศาล และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า ผู้คัดค้านมิได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหากมีการโอนสิทธิเรียกร้องแต่การโอนมิได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จึงไม่ผูกพันผู้คัดค้านนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้
สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับผู้ร้อง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาได้แต่ฝ่ายเดียว การโอนหนี้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทำได้แต่โดยโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง หากกระทำได้แต่ด้วยวิธีแปลงหนี้ใหม่ การแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 บัญญัติเพียงจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ดังนี้ การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มาเป็นผู้คัดค้าน แม้มิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ แต่ก็มิได้เป็นการทำขึ้นโดยขืนใจห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมแล้ว จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีผลให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อหนึ่งของสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ย่อมผูกพันผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 13 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่เกิด เป็นอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในคำคัดค้าน ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า อ. กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้อง จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ แม้ อ. กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าโดยมิได้ประทับตราสำคัญของผู้ร้อง เป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทผู้ร้องอันได้จดทะเบียนไว้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน กรณีจึงเป็นเรื่อง อ.ในฐานะตัวแทนลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวแทนผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจ การที่ผู้ร้องได้ยอมรับและปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงเป็นข้อแสดงว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่การนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวได้
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า การตั้ง ส. เป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ในวันนัดสืบพยานนัดสุดท้าย เมื่อความปรากฏเหตุที่ผู้คัดค้านแถลงคัดค้าน ส. อนุญาโตตุลาการถึงเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ คณะอนุญาโตตุลาการจดบันทึกในรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษและแทรกข้อความไว้ในรายงานดังกล่าวว่าสอบถามคู่กรณีแล้วไม่คัดค้านถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ โดยผู้คัดค้านไม่ได้สังเกตเห็นข้อความดังกล่าว กรณีนับเป็นความบกพร่องของผู้คัดค้านเอง ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าซื้อกิจการของผู้ร้องในราคา 238,303,046 บาท ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ข้อ 10 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีสิทธิซื้อกิจการของผู้ร้องได้ในราคา 30,000,000 บาท จึงไม่ตรงตามสัญญานั้น อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้ปรากฏว่า คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดราคาประเมินกิจการของผู้ร้องตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยราคาค่าซื้อ/ซื้อกิจการประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน คือเงินที่ต้องชำระตามข้อ 10 และข้อ 14.3 เมื่อผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่า การกำหนดราคาดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตรงไหน อย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงบางส่วนขึ้นกล่าวอ้างว่าการกำหนดค่าซื้อกิจการของคณะอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ มีผลเท่ากับเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการซื้อกิจการตามข้อ 14.3 ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย: การแบ่งแยกตัวการและการซื้อขาย
ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฝ่ายซื้อกับผู้ขายไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนพร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผู้ขาย ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นฝ่ายซื้อ จึงไม่เป็นตัวการร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองก่อนบังคับคดีล้มละลาย: ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น แม้มีการขายสิทธิเรียกร้อง
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเป็นการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 มิใช่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ในคดีนี้เมื่อยังไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ซึ่งติดจำนองอยู่แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้ก่อนเอาที่ดินนั้นออกขายทอดตลาดในคดีนี้ การจัดทำบัญชีรับ - จ่าย ในการบังคับคดีล้มละลายของโจทก์นั้นไม่เกี่ยวกับคดีนี้ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อมิให้ผู้ร้องเข้ามาขอรับชำระหนี้หรือสวมสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้แทนโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์จำนอง: สายไฟฟ้าและถังน้ำในโรงงาน ไม่เป็นส่วนควบ/อุปกรณ์ของโรงงาน จึงไม่เป็นการยึดซ้ำ
สายไฟฟ้ามิใช่ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารโรงงานอันเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งจำเลยจำนองแก่ผู้ร้องและที่ผู้ร้องยึดไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ก่อนที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดในคดีนี้ ทั้งไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป สายไฟฟ้าพิพาทจึงไม่เป็นส่วนควบของโรงงานของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทั้งมิใช่เป็นของใช้ประจำอยู่กับโรงงานดังกล่าวที่เป็นทรัพย์ประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะเป็นอุปกรณ์ของโรงงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดสายไฟฟ้าพิพาทในคดีนี้ จึงไม่เป็นการยึดซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290
ถังน้ำพิพาทเป็นชุดเตรียมสารเคมีซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่จำเลยจำนองแก่ผู้ร้อง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอย่างไม่มีภาระจำนองนั้น จำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งตกติดไปกับตัวทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดโดยไม่มีภาระจำนองตามคำขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็ไม่มีผลทำให้สิทธิจำนองที่ผู้ร้องมีอยู่เสื่อมเสียไป สิทธิจำนองของผู้ร้องมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น แม้โจทก์จะมิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบซึ่งการจำนองที่มีอยู่ในทรัพย์สินนั้นก็ไม่ทำให้การยึดเสียไป และชอบที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินซึ่งจำนอง จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดโดยอ้างเหตุว่าการยึดไม่ชอบตามคำร้องของผู้ร้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีกับทายาทหลังจำเลยเสียชีวิต: หน้าที่ความรับผิดชอบของกองมรดก
ก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ทราบคำบังคับและหมายบังคับคดีได้ออกโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องชำระหนี้ที่เหลือตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ย่อมเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท แต่มิใช่ทายาทจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอออกคำบังคับหรือหมายบังคับแก่ทายาทอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งให้วางเงินประกันค่าสินไหมทดแทนเป็นที่สุด ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลชอบที่จะจำหน่ายคดีได้
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องวางเงินเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (1) เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสาม ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249
การที่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือไม่ เมื่อผลของคำสั่งจำหน่ายคดีทำให้คดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องเสร็จไปจากศาล คดีจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบอีกต่อไป ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องดังกล่าวเสียได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด คำสั่งให้จำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสาม
of 7