คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 18

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 120 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนของกลางคดีอาญา: การริบอาวุธปืนและสัตว์ป่า, เจ้าของต้องไม่รู้เห็นเป็นใจ
ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จําเลยทั้งสองกระทําความผิดบัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทําความผิดเสียทั้งสิ้นโดยไม่ต้องคํานึงว่าเป็นของผู้กระทําความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาของศาลหรือไม่และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 57 ก็บัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้...ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทําความผิดหรือมีไว้เนื่องในการกระทําความผิดเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ ส่วนการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ ให้เจ้าของแท้จริงยื่นคําร้องขอต่อศาลที่สั่งริบในคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปของการขอคืนของกลางในคดีอาญา และศาลจะสั่งให้คืนทรัพย์สินเมื่อเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีคําขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (3) (9) (13) (16), 24, 25, 27, 29 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 19 วรรคหนึ่ง, 47, 57 ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสองตามกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว และสั่งริบของกลางรวมทั้งอาวุธปืนยาว 2 กระบอก การที่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 บัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้...เสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคํานึงว่าเป็นของผู้กระทําความผิดหรือไม่ นั้น มิใช่เป็นการริบโดยเด็ดขาดเพราะจะเป็นการลงโทษบุคคลอื่นผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมิใช่ผู้กระทําผิดอาญา เนื่องจากริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาสถานหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) ขัดกับหลักทั่วไปของการใช้กฎหมายอาญาที่ว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเจ้าของที่แท้จริงมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคืนทรัพย์ที่ถูกริบได้ สําหรับคดีนี้คือการยื่นขอคืนตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะจําเลยทั้งสองกระทําความผิด
พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 109 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 56 บัญญัติให้ศาลเป็นผู้สั่งริบทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทําความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิดโดยการร้องขอของพนักงานอัยการเช่นเดิม แต่ก็ยังให้โอกาสเจ้าของทรัพย์สินยื่นคําขอคืนได้ มิได้ตัดโอกาสเจ้าของมิให้ขอคืน โดยการขอให้ริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 56 วรรคสอง และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 109 วรรคสอง พนักงานอัยการสามารถร้องขอได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าของที่แท้จริงสามารถพิสูจน์ในทํานองเดียวกับการขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 โดยต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนําทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทําความผิด อีกทั้งตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 109 วรรคสอง ดังกล่าว ไม่อาจนํามาบังคับใช้กับคดีนี้ซึ่งศาลได้มีคําพิพากษาไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทําความผิดได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิร้องขอคืนของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 36 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคําร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคําพิพากษาถึงที่สุด จึงชอบด้วย ป.อ. มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โทษกักขังแทนค่าปรับสิ้นสุดเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ การบังคับคดีเรียกค่าปรับจึงไม่ชอบ
การกักขังเป็นโทษประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 และตามมาตรา 29 มาตรา 29/1 และมาตรา 30 แห่ง ป.อ. กำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากมิได้มีการชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลานั้น ผู้ต้องโทษปรับจะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นอาจถูกกักขังแทนค่าปรับ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษปรับ โดยหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังจำเลยมีกำหนด 1 ปี แทนค่าปรับ 3,837,025 บาท และจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับจนต้องรับโทษกักขัง จึงเป็นกรณีที่โทษเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นโทษปรับ ได้เปลี่ยนไปเป็นโทษกักขังจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี แทน เพราะหากจำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี โทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมสิ้นสุดลง ไม่มีโทษปรับที่จะต้องถูกบังคับอีกต่อไป ต่อมาเมื่อมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง..." ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและเป็นผู้ต้องกักขังแล้วตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) หาใช่นักโทษเด็ดขาดซึ่งยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษไม่ แต่ไม่รวมถึงการยึดหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วยตามมาตรา 5 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย และถือได้ว่า โทษกักขังในส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งจำเลยจะต้องรับเป็นอันสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย โทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงสิ้นสุดลง ไม่แตกต่างจากการที่จำเลยถูกกักขังครบ 1 ปี จึงไม่มีโทษปรับที่จำเลยจะต้องถูกบังคับอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับโทษปรับ และยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีเมาแล้วขับไม่ใช่โทษทางอาญา ลดโทษ ป.อ.มาตรา 78 ไม่ได้
การที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่นั้น เป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ ดังนี้ การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จึงไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะลดเวลาสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักใช้/เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แม้เป็นคนละประเภทกับรถที่ใช้ก่อผิด ศาลมีอำนาจสั่งได้เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ
การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ไม่ใช่โทษที่ใช้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 18 หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 แต่ก็มีบทบังคับเช่นเดียวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วยเจตนาคุ้มครองประชาชนหรือสังคมเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ขับขี่ไปกระทำความผิดอีก ทั้งตามนิยามของคำว่า รถ ใน พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 4 (15) ก็ให้คำนิยามว่า รถ หมายถึง ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง ดังนั้น รถจักรยานยนต์และรถยนต์อยู่ในความหมายของคำว่า รถ ด้วย โดยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตจะอยู่ในลักษณะ 19 บทกำหนดโทษ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงยานพาหนะชนิดใดชนิดหนึ่งไว้โดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวถึงการขับขี่ยานพาหนะที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดแล้วให้ศาลมีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดไปยุ่งเกี่ยว ควบคุม ยานพาหนะทั้งหมดที่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ดังนั้นศาลจึงต้องพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ไม่ว่าใบอนุญาตขับขี่นั้นจะเกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ผู้กระทำความผิดขับขี่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม แม้จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่รถคนละประเภทกับรถที่จำเลยขับขณะกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659-3661/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินฟอกเงิน: ไม่ใช่โทษอาญา แม้ความผิดมูลฐานบัญญัติเพิ่มภายหลังก็ใช้บังคับย้อนหลังได้
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)
แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้กระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กฎหมายเปลี่ยนแปลงหลังกระทำผิด: ผลกระทบต่อความผิดฐานรับคนต่างด้าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปและตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9, 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9, 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504-506/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็ก, กระทำชำเรา, และอนาจาร: ศาลฎีกาแก้ไขโทษและชี้ข้อไม่ชอบในการส่งตัวจำเลยเข้ารับการฝึกอบรม
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลให้ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกควบคุมในระหว่างพิจารณาคดีจึงให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษคดีเก่ากับคดีใหม่: เมื่อโทษคดีเก่าเป็นการส่งตัวเข้าสถานพินิจ ไม่ใช่การรอการลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง และขอให้บวกโทษจำคุกที่เปลี่ยนเป็นคุมความประพฤติของจำเลยไว้ในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวคดีก่อน เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 14 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ หากแต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มีกำหนด 5 ปี หลังจากนั้นภายในกำหนดเวลาที่ถูกคุมความประพฤติซึ่งเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวจำเลยในคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้อีกหลังมีอายุพ้นเกณฑ์การเป็นเยาวชน ซึ่งชอบที่จะว่ากล่าวไปตามวิธีการที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่อาจนำมาเทียบเคียงว่ากรณีเช่นนี้ของจำเลยเป็นการกลับมากระทำความผิดภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 58 ฉะนั้น แม้คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกก็ไม่อาจนำโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว: ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหลังศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 83 จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยซึ่งไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีเยาวชนและครอบครัวต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หากอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้าม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
of 12