คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 423 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมาชิกภาพโดยปริยายในหมู่บ้านจัดสรร: สิทธิและหน้าที่ชำระค่าส่วนกลาง
แม้พยานโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่าที่ดินพร้อมบ้านของจำเลยซื้อจากบริษัทที่จัดสรรที่ดินหมู่บ้าน ช. แต่ปรากฏตามแผนผังหมู่บ้านดังกล่าวว่า ที่ดินของจำเลยอยู่ติดถนนทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าว ต้องใช้ถนนนี้ร่วมกับผู้มีที่ดินและบ้านในหมู่บ้านนี้ และที่ดินของจำเลยก็มีลักษณะตำแหน่งที่ตั้งไม่ต่างจากการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านจัดสรรนี้ และแม้ทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าวเจ้าของที่ดินได้มอบให้เป็นทางสาธารณะแล้ว รวมทั้งการเก็บขยะมีพนักงานกรุงเทพมหานครมาจัดเก็บก็ตาม แต่ตามบัญชีรายชื่อผู้เข้าประชุมการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ช. มีชื่อจำเลยเข้าร่วมประชุมโดยมีการลงลายมือชื่อไว้ซึ่งคล้ายกับลายมือชื่อจำเลยในใบแต่งทนายจำเลย ทั้งทนายจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านก็ไม่ยืนยันให้แน่ชัดว่าไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย และพยานยังเบิกความทำนองว่า จำเลยบอกว่าเคยบริจาคเงินค่าส่วนกลาง แต่ไม่เคยชำระค่าส่วนกลาง เจือสมกับคำเบิกความพยานโจทก์ปาก ก. รองประธานกรรมการโจทก์ซึ่งซื้อบ้านและที่ดินโดยเข้าอยู่อาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวตั้งแต่ปี 2534 ที่เบิกความว่า จำเลยร่วมประชุม ทั้งจำเลยเคยชำระค่าส่วนกลางด้วย เนื่องจากจำเลยมีสิทธิใช้สอยสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา สวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ ท่อบำบัดน้ำเสีย และการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจำเลยก็นำสืบปฏิเสธการใช้สาธารณูปโภคเฉพาะถนนทางเข้าหมู่บ้านที่เป็นถนนสาธารณะและการเก็บขยะเท่านั้น ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้สาธารณูปโภคอื่นแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าจำเลยร่วมประชุมจัดตั้งนิติบุคคลโจทก์ และเคยชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง กับใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะของหมู่บ้านจัดสรร ช. ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นสมาชิกของโจทก์โดยปริยายแล้ว จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของโจทก์ ในอันที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การกำหนดค่ารายปีสำหรับพื้นที่ที่เจ้าของใช้เอง และการคืนเงินภาษีที่ชำระเกิน
ค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร คดีนี้โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้น โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายจากการจำหน่ายสินค้า ส่วนการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่า ลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปี โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายอัตราตารางเมตรละ 622.65 บาทต่อเดือน โดยวิธีเทียบเคียงจากพื้นที่ของโจทก์ที่นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันกับพื้นที่ขายของโจทก์เพียงประการเดียว ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2559 ที่กำหนดค่ารายปี สำหรับพื้นที่ขายของโจทก์ที่พิพาทในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน ชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2563 ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ค่ารายปีในปีภาษี 2560 แตกต่างไปจากเดิม จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีส่วนพื้นที่ขายสำหรับปีภาษี 2560 ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้บทบัญญัติมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา จึงให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินให้แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีหลังบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน: สิทธิในการประเมินและผลของการสิ้นสภาพนิติบุคคล
เมื่อจำเลยถูกขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 กล่าวคือ บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 แม้ตามมาตรา 1273/4 วรรคหนึ่ง จะกำหนดว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ให้ถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้บริษัทกลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่การที่จะถือเสมือนว่าบริษัทคงอยู่ตลอดมา เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน เมื่อโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมิน ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบสามปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 ที่จำเลยถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนกลางขีดชื่อออกจากทะเบียนตามมาตรา 1273/3 แต่กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลของจำเลยและดำเนินการให้มีการจดชื่อบริษัทจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก่อนมีการออกและส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยทั้งที่มีระยะเวลานานที่จะดำเนินการได้ และการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลกระทำได้ไม่ยาก แม้ขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีผู้ลงชื่อรับตามไปรษณีย์ตอบรับ แต่ขณะนั้นศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 1 กลับเพิ่งยื่นคำร้องต่อศาลให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยระบุในคำร้องด้วยว่าจำเลยถูกขีดชื่อจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบสภาพบุคคลของจำเลยดีอยู่แล้ว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนได้ตามมาตรา 1273/4 ก็ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งและวางข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนี้ ดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่สิ้นสภาพนิติบุคคลในขณะนั้นจึงไม่สามารถทำได้และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยแล้ว เมื่อการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยพอใจและการประเมินเป็นอันยุติแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้าและการใช้ประโยชน์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่น ระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดอัตราศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าพิกัด 8307.10 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่ามีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า สินค้าพิพาทจัดเข้าประเภทพิกัด 7326.209 นั้น เห็นว่า ความเห็นแย้งดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีตามราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นจำนวนเงินค่าอากรเท่าใด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ และใน ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร ก็ต้องปรับจำนวนฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามราคาสินค้าบวกค่าอากรขาเข้าที่ถูกต้องตามผลคดีที่โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าเพื่อให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 308/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำท้าทางกฎหมาย: ศาลผูกพันตามคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้อง แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด
คู่ความตกลงท้ากันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาในคดีที่ ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. บริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. และโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยร่วมกันขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท หากผลคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร ให้ถือตามผลคดีนั้น คู่ความมิได้ตกลงกันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นข้อวินิจฉัยตามคำท้า คำท้าดังกล่าวต้องถือว่าคู่ความมีเจตนาถือเอาผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเป็นข้อวินิจฉัยในประเด็นที่ได้ท้ากัน เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าในคดีที่ท้ากันศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยชอบ ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตรงตามคำท้าที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 โจทก์ทั้งสองและจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำท้าที่ตกลงกันตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์ทั้งสองย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4535/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับ: ยึดทรัพย์/อายัดสิทธิ แม้มีการกักขังแทนค่าปรับ
ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับเอาค่าปรับจากจำเลยที่ 2 โดยวิธียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับด้วยนั้นก็เป็นกรณีที่ศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ จึงให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนซึ่งย่อมมีอำนาจกระทำได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ โดยการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับดังเช่นจำเลยที่ 2 นี้ ป.อ. มาตรา 29/1 บัญญัติถึงวิธีการในการบังคับคดีดังกล่าวรวมทั้งการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับไว้ในวรรคหนึ่งถึงวรรคสามและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 29/1 วรรคสี่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบต่อการที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง" จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับชำระค่าปรับทั้งโดยวิธีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และอาจใช้วิธีสั่งกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อน ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นไปด้วยกันได้ มิได้ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเท่านั้นแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไว้แล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ยังมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อใช้ค่าปรับได้ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ มาตรา 29/1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 วางประกันการปล่อยชั่วคราวจำนวน 200,000 บาท ชำระค่าปรับตามคำพิพากษากับออกหมายบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 แม้อยู่ในระหว่างจำเลยที่ 2 ถูกกักขังแทนค่าปรับ ก็เป็นการดำเนินการในการบังคับชำระค่าปรับโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้คืนเงินหรือปล่อยทรัพย์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้อง: ศาลอุทธรณ์แก้ไขได้เพื่อความเป็นธรรม
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเฉพาะค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ การที่ศาลชั้นต้นนำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินซึ่งโจทก์ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยและมิได้ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยมาหักออกจากค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษา จึงเป็นการนำค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้องนอกประเด็นและคนละประเภทกันมาหักจากค่าสินไหมทดแทนในคดีเกินกว่าสิทธิที่โจทก์เรียกร้องและจะได้รับ มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้นอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน: การชำระเงินตามสัญญาโดยไม่ต้องตรวจสอบความผิดสัญญาของลูกหนี้ และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับ A โดยมีข้อสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาหลักทรัพย์ประกันการปฏิบัติงานโดยหนังสือค้ำประกันต้องเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาตามที่กำหนดและต้องจัดทำโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก A หนังสือค้ำประกันที่ A กำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดหามาให้นั้นต้องมีข้อความสำคัญระบุว่า เมื่อธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันได้รับหนังสือเรียกร้องจาก A ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทันที อันเป็นการที่ต้องชำระเงินเพียงเพราะได้รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่จำต้องตรวจสอบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่ ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็ไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวได้เนื่องจากมีข้อความตอนต้นว่า ธนาคารตกลงรับรองและรับประกันต่อ A อย่างไม่มีเงื่อนไขและปราศจากสิทธิในการแก้ต่างหรือฟ้องแย้งใด ไม่ว่าในนามของธนาคารหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อความแสดงถึงการสละสิทธิในการต่อสู้คัดค้านหรือโต้แย้ง และการที่ A กำหนดรายละเอียดของหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหามาให้ A โดยธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันที่มีรายละเอียดดังกล่าวได้และจำเลยที่ 1 ทำคำขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันโดยมีข้อความที่รับกับข้อความตามหนังสือค้ำประกันที่ A ต้องการดังกล่าว รวมทั้งการที่หนังสือค้ำประกันการปฏิบัติงานที่โจทก์ออกไปตามข้อความที่ A ต้องการ แสดงว่าการที่ผู้ว่าจ้างต้องการหนังสือค้ำประกันที่มีข้อความเช่นนี้และการที่ธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของสถาบันการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้างได้รับหลักประกันของสถาบันการเงินที่มั่นคง และเรียกร้องให้ชำระเงินได้รวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาได้โดยเร็ว โดยไม่จำต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่ผู้รับจ้างและธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน ส่วนปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างก็สามารถว่ากล่าวกันต่างหากได้ ข้อตกลงนี้แม้จะมีลักษณะที่ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระเงินได้ง่ายซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องค้ำประกัน แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามทำข้อตกลงเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารในลักษณะดังกล่าวและไม่เป็นการพ้นวิสัย เมื่อโจทก์จะต้องออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ต้องชำระตามหนังสือค้ำประกันเมื่อได้รับหนังสือเรียกร้องให้ชำระเงินจากธนาคาร ส. ในประเทศไทยโดยไม่มีสิทธิคัดค้านไม่ว่าด้วยประการใด โจทก์จึงกำหนดข้อสัญญาในคำขอของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันที่ระบุถึงการยอมให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน และจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะทักท้วงการจ่ายเงินของโจทก์ ทั้งจะต้องชดใช้เงินที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยเงื่อนไขในการที่โจทก์ต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันนั้นพิจารณาเฉพาะการได้รับหนังสือเรียกร้องเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะปฏิบัติผิดสัญญาต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินรวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย และให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จึงชอบแล้ว
of 43