คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 423 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13255/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: เตาเผาไม่ใช่โรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรกลไกตามมาตรา 13
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 13 บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อย ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย" เมื่อเตาเผาทั้ง ๖ เตาพร้อมอุปกรณ์ของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งที่มีฐานติดตรึงกับพื้นดิน และมีเครื่องจักรเป็นเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมติดตั้งอยู่ภายใน มิได้มีสภาพเป็นที่สำหรับเข้าอยู่อาศัยหรือเป็นที่ไว้สินค้าคล้ายกับโรงเรือนแต่อย่างใด ส่วนสิ่งปลูกสร้างด้านบนแม้จะมีลักษณะคล้ายโรงเรือนโดยด้านในมีเครนไฟฟ้าอยู่และใช้โครงสร้างของตัวเตาเผาต่อเติมขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะอย่างโรงเรือนทั่วไปที่ต้องมีโครงสร้างรองรับน้ำหนักสัมผัสพื้นดิน เตาเผาทั้ง ๖ เตา ของโจทก์ไม่อาจถือเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินอุตสาหกรรม คงเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และมาตรา 13 ใช้บัญญัติให้ลดค่ารายปีเฉพาะโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรกลไกเท่านั้นมิได้หมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นด้วย การที่จำเลยมีคำชี้ขาดไม่ลดค่ารายปีให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13252/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการทางศิลปะวัฒนธรรมที่ไม่เก็บค่าบริการจากผู้ชมโดยตรง
ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (1)... (ซ) การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี" ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 11) เรื่อง กำหนดสาขาและลักษณะการประกอบกิจการให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ตามมาตรา 81 (1) (ซ) แห่ง ป.รัษฎากร "ข้อ 1 การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขานาฏศิลป์และสาขาดุริยางคศิลป์และคีตศิลป์ คำว่า "สาขานาฏศิลป์" หมายความถึง การแสดงศิลปะการร่ายรำประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การแสดงพื้นเมือง ระบำ ละคร และโขน คำว่า "สาขาดุริยางคศิลป์และคีตศิลป์" หมายความถึงเฉพาะการแสดงดนตรีไทย หรือการขับร้องเพลงไทยประกอบเครื่องดนตรีไทย ข้อ 2 การให้บริการตามข้อ 1 ผู้ประกอบการจะต้องมิได้เรียกเก็บค่าบริการโดยตรงจากผู้ชมหรือผู้ฟัง แต่ไม่รวมถึงการให้บริการโดยกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น เมื่อประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าวไม่ได้มีข้อจำกัดว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขานาฏศิลป์และสาขาดุริยางคศิลป์และคีตศิลป์โดยมุ่งค้าหากำไรแล้วจะไม่เข้าเงื่อนไขยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น แม้ในส่วนที่โจทก์ให้บริการทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขานาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์และคีตศิลป์จะเป็นการให้บริการโดยมุ่งค้าหากำไร แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้เก็บค่าบริการจากผู้ชมโดยตรงตามข้อ 2 ของประกาศฉบับดังกล่าว โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12251/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน - ขอบเขตความรับผิด - การบังคับคดี - ระยะเวลาบังคับคดี
สัญญาประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นมีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้า... ขอทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลว่า ถ้าจำเลยแพ้คดีโจทก์และไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นเท่าใด ข้าพเจ้ายอมให้บังคับคดีเอาจากหลักประกันในคดีนี้ได้ทันที..." ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนโดยยังคงให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์แล้ว เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีและมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุในสัญญาประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ร้องตามสัญญาประกันฉบับนี้จะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง หรือโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยและผู้ร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อคดียังอยู่ในระยะเวลาสิบปีที่โจทก์จะบังคับคดีได้ตามบทมาตราดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอรับหลักประกันคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12127/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ-ภาษีธุรกิจเฉพาะ-นิติกรรมอำพราง: การประเมินภาษีถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์และบริษัท ล. มุ่งประสงค์ถึงการขนถ่ายสินค้าของโจทก์จากเรือนำไปเก็บยังคลังสินค้าที่โจทก์เช่าจากบริษัท ล. ให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ โดยบริษัท ล. ทำงานได้โดยอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้น ค่าเทียบท่าเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่ผลสำเร็จของงานและมีการเรียกเก็บตามปริมาณสินค้าที่นำเข้า จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ล. จึงเป็นการจ่ายตามสัญญาจ้างทำของ โจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งต่อจำเลย
นอกจากการรับขนสินค้าแล้ว บริษัท ล. ยังให้บริการอย่างอื่นด้วย เริ่มตั้งแต่การสูบถ่ายสินค้าขึ้นรถ การวัดปริมาณการบรรจุสินค้า การจัดหาอุปกรณ์ในการเตรียมการขนส่ง ซึ่งการให้บริการต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้เป็นการตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่โจทก์ ค่าบริการสำหรับการงานดังกล่าวจึงเป็นสินจ้างเพื่อการทำงานอันเข้าลักษณะสัญญาจ้างทำของ มิใช่เป็นบำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวางแต่อย่างใด
การที่โจทก์แสดงเจตนาให้บริษัท ล. กู้ยืมเงินจากโจทก์ และบริษัท ล. นำเงินไปให้บริษัท ฟ. กู้ยืมต่อ เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงที่จะบังคับให้ผูกพันกัน แต่เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ บริษัท ล. และบริษัท ฟ. โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้กู้ยืมไม่ต้องนำมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะอ้างว่าเป็นการกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือเท่านั้น กรณีจึงต้องฟังว่าโจทก์ให้บริษัท ฟ. ซึ่งมิใช่บริษัทในเครือของโจทก์กู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10546/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์ – พยานหลักฐานไม่เพียงพอ – จำเลยปฏิเสธ – ศาลยกฟ้อง
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าวและให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องจริง จึงจะลงโทษจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์รูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ รูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี รูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สของผู้เสียหาย โดยจำเลยนำเอากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์จำนวน 24 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบีจำนวน 132 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์และของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม จำนวน 14 ชิ้น และกล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์ส จำนวน 5,330 ชิ้น ของกลางซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังนี้ โจทก์จึงต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยรวม 5 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ข้อเท็จจริงที่ว่ากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ของกลางจำนวน 24 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ จำนวน 132 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี จำนวน 14 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และจำนวน 5,330 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 2 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 3 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้ขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่บรรจุอยู่ในกล่องของกลางดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ประการที่ 4 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อหากำไร และประการที่ 5 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อการค้า
โจทก์มี ม. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายมาเบิกความลอย ๆ เพียงว่า ม. พบว่ามีสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ของผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏจากคำเบิกความของ ม. ว่ารูปการ์ตูนหุ่นยนต์ที่ปรากฏอยู่บนกล่องสินค้าของกลางเป็นงานที่ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพราะเหตุใด รูปการ์ตูนดังกล่าวแตกต่างจากรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอย่างไร ม. เคยเห็นรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ทั้งไม่ปรากฏว่า ม. ได้นำวัตถุพยานของกลางไปตรวจสอบกับรูปการ์ตูนซึ่งเป็นงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายว่ารูปการ์ตูนบนกล่องสินค้าของกลางได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปการ์ตูนของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายอย่างไร นอกจากนี้ ม. พยานโจทก์เป็นเพียงพนักงานบริษัท ว. ซึ่งประกอบกิจการดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าวัตถุพยานของกลางมีงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า กล่องสินค้าวัตถุพยานของกลาง มีรูปการ์ตูนที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อมีการจับกุมจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมนั้น ถ้อยคำของจำเลยผู้ถูกจับตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวเป็นถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานและไม่อาจนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ฟ้อง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10461/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก่อเหตุ หลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันตามสัญญา
เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันแล้ว ก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 และมาตรา 880 มีความหมายว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกันตามความเสียหายที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ความรับผิดของผู้รับขนและผู้ร่วมขนส่ง การจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
แม้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้า
แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีอันเป็นประเทศที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 31 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แต่ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องย่อมเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 กำหนดไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้นำสืบถึงรายละเอียดในกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 สามารถจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศที่เกิดความเสียหายมาตรา 31 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจจำกัดความรับผิดได้ตามมาตรา 31 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 28 เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียง 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหาย แล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่าไม่
แม้จำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์ว่าคดีอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคดีอยู่ภายในบังคับ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองเรือซึ่งต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหาย และเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องสามารถจำกัดความรับผิดได้โดยรับผิดในความเสียหายไม่เกินจำนวน 212,001.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ และการแก้ไขค่าเสียหายสกุลเงินต่างประเทศ
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน - แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ถึงมาตรา 44 เห็นได้แจ้งชัดว่า คู่พิพาทอาจร้องขอต่อศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้ และศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หรือคู่พิพาทซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศอาจขอให้ศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ถึง (6) บัญญัติได้เท่านั้น แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศ การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติหรือ "UNCITRAL Model Laws" ที่กำหนดไว้ใน Ariticle 34 และ 36 การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแย้งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวซึ่งเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ถึงกำหนดชำระเงินตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกษียณอายุตามโครงการของบริษัท และการยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติถึงเงินได้ประเภทต่าง ๆ ที่มีเหตุอันสมควรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีโดยเงินได้ในประเภทตามมาตรา 42 (17) คือเงินได้ตามที่กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง ให้อำนาจฝ่ายบริหารกำหนดได้ตามนโยบายภาษีและเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้ และตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรกำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) แสดงให้เห็นว่ารัฐประสงค์จะใช้มาตรการยกเว้นภาษีจากเงินได้ประเภทนี้เพื่อสนับสนุนระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ข้อ 1 (1) กำหนดว่า (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็แสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ประเภทนี้ ที่ประสงค์ให้มีการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเป็นระยะยาวอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุนได้ดี จึงให้ประโยชน์ในการยกเว้นภาษีแก่ผู้เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และไม่ให้ประโยชน์ในการยกเว้นภาษีในกรณีสมาชิกลาออกจากงานหรือออกเพราะเหตุที่กระทำความผิด
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยความสมัครใจร่วมกันนี้ก็คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน อันเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณ อายุงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นให้เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งประกาศนี้ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศนี้ในการออกจากงาน โดยการเกษียณอายุซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่มุ่งส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อประโยชน์ในยามชราภาพของลูกจ้างก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้ให้เป็นไปภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ขณะออกจากงานโจทก์ก็มีอายุ 55 ปีเศษ อันเป็นกรณีที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์ก็เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (36) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8689/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีผิดบุคคล การยึดทรัพย์เจ้าของที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ศาลต้องไต่สวนและเพิกถอนการบังคับคดี
ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องโดยไม่ชอบเพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มีชื่อและชื่อสกุลซ้ำกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดตั้งแต่มีการยึดทรัพย์ หาใช่เป็นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และตามคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302
การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการมาทั้งหมดย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องได้ เพราะผู้ร้องมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด รวมทั้งกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดเพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมาตรา 296 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ชอบ
เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป
of 43