คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 423 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลง: การทำซ้ำ, ดัดแปลง, อนุญาตใช้สิทธิ, และความเสียหายต่อชื่อเสียง/เกียรติคุณ
การที่จำเลยจงใจและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ที่โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ตามคำฟ้อง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์มิได้โอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ดังกล่าวแก่จำเลยนั้น แม้จะมิใช่การทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเพลงอันเป็นงานดนตรีกรรมที่โจทก์มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยจงใจทำต่อโจทก์โดยไม่มีสิทธิและผิดต่อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่มิได้ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์
เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสิบห้าเพลงดังกล่าวซึ่งเป็นเพลงส่วนหนึ่งของเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องและยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์มิได้โอนลิขสิทธิ์ให้จำเลย การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซีดีเพลงดังกล่าวเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และการที่จำเลยโดยรู้อยู่แล้วได้นำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้ายังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย เมื่อโจทก์พบการกระทำของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 จึงเป็นการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
การชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 การที่จำเลยนำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากกำไรที่ได้มาจากการขายซีดีดังกล่าวโดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรนั้นให้แก่โจทก์ และโจทก์ย่อมสูญเสียประโยชน์ในการแสวงหากำไรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ด้วย แต่ผลกำไรที่จะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายก็ต้องหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายออกเสียก่อนด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องคำนึงถึงการที่ซีดีแต่ละชุดมิได้ประกอบด้วยเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหมด จึงต้องเทียบตามสัดส่วนของเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในแต่ละชุดด้วย เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเพลงทั้งหมด 6 ชุด จำนวนชุดละ 14 เพลง รวมจำนวน 84 เพลง แล้ว จะเป็นสัดส่วนเพลงของโจทก์ประมาณร้อยละ 10 ของเพลงทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อเพลงของโจทก์ทั้งเก้าเพลงดังกล่าวเป็นเพลงดังในอัลบั้มเพลงจำนวน 4 ชุด ในจำนวน 6 ชุด ดังกล่าวซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพลงทั้งเก้าเพลงนี้ย่อมมีความสำคัญกว่าเพลงอื่น จึงเห็นควรกำหนดความสำคัญของเพลงโดยการเทียบสัดส่วนกับเพลงอื่น ๆ ในจำนวน 6 ชุด นั้นเป็นร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมด เพื่อนำไปหาค่าเฉลี่ยผลกำไรที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับสำหรับการกำหนดค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงผลกำไรที่หักต้นทุนเพื่อให้เห็นถึงผลกำไรที่แท้จริงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ขายแผ่นซีดีที่มีเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แผ่นละ 100 บาทเศษ หากขายได้ 50,000 แผ่น จะได้กำไรแผ่นละ 30 บาทเศษ อัตราผลกำไรดังกล่าวเป็นอัตรากำไรที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ จึงเห็นสมควรนำมาเทียบเคียงและกำหนดค่าประมาณในการคำนวณหาผลกำไร โดยกำหนดผลกำไรให้เป็นอัตราร้อยละ 30 ของยอดขายจำนวน 36,000,000 บาท ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้ง เมื่อคำนวณแล้วได้ผลกำไรจากการขายเพลงทั้งหมดในซีดีทั้งหกชุดเป็นเงินจำนวน 10,800,000 บาท เมื่อนำสัดส่วนเพลงดังของโจทก์ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมดมาคำนวณจากผลกำไรดังกล่าวแล้ว จะได้ค่าเสียหายที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับจากกำไรเป็นเงิน 2,160,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 2,160,000 บาท
การที่จำเลยแอบอ้างว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวนดังกล่าว จำเลยนำเพลงนั้นไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จำนวน 15 ฉบับ และที่จำเลยอ้างต่อบริษัทที่จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ว่าเพลงที่จัดเก็บลิขสิทธิ์นั้นเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย กับการที่จำเลยได้ทำซ้ำและดัดแปลงงานเพลงจำนวน 15 เพลง อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วผลิตเป็นซีดีสิ่งบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้นมิใช่การละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์โดยการบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นในลักษณะเดียวกันจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าวเพราะจำเลยมิได้ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องหรือทำนองเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเนื้อร้องหรือทำนองเพลงที่โจทก์ได้แต่งขึ้นในลักษณะที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ลามก หรือให้ผิดเพี้ยนไปจากที่โจทก์ประสงค์จะสื่อสารไปถึงผู้ฟังเพลงแต่อย่างใด ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมในอันที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวโดยมิชอบ เพราะจำเลยยังคงระบุในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 15 ฉบับ ว่าโจทก์เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงดังกล่าว มิได้บิดเบือนว่าจำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 15 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18358/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุคคลที่ซื้อทรัพย์สินจากผู้อื่นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้ทรัพย์สินนั้นได้มาจากการฉ้อโกง ก็ไม่ต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหาย
แม้โจทก์จะถูก ส. ฉ้อโกงหลอกลวงซื้อปุ๋ยจากโจทก์อันมีผลทำให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับ ส. ที่เกิดขึ้นโดยโจทก์ถูกกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะและโจทก์จะบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วก็ต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 160 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งปุ๋ยพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตเช่นนี้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เสียไปถึงแม้ว่า ส. ผู้โอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมที่ทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์อันตกเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1329 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่คืนปุ๋ยพิพาทให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16358/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คล้ายคลึงกันของเครื่องหมายการค้าทำให้สับสน: เพิกถอนเครื่องหมายการค้าได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า มาตรา 61(4)
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำนอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และที่สำคัญต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า "แทงโก้" และอักษรโรมันคำว่า "Tango" แต่คำว่า "Tango" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับคำว่า "TANGO", "TANGO THINS", "TANGO MAXCRUNCH" และ "TANGO SAPPHIRE" ของ จ. และคำว่า "TANGO" เป็นคำนำหน้าในเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ซึ่งเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นที่สาธารณชนผู้บริโภคสินค้าประเภทลูกอม ขนมหวาน และช็อกโกแลตจะจดจำในการเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวคำว่า "THINS" คำว่า "MAXCRUNCH" และคำว่า "SAPPHIRE" ที่ต่อท้ายคำว่า "TANGO" มิใช่สาระสำคัญหรือส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าที่ผู้บริโภคจะจดจำเพื่อแยกแยะความแตกต่างในการเลือกซื้อสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของ จ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14590/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดภาษีที่ไม่มีเหตุผล และค่าขึ้นศาลที่คำนวณจากจำนวนทุนทรัพย์ที่ไม่ถูกต้อง
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 ระบุว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่มิได้ระบุว่าจะต้องทำตามแบบพิมพ์ลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ถึงผู้จัดการโจทก์ โดยอ้างถึงคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ มีรายละเอียดว่า ตามที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในการประชุมครั้งที่ 1/2551 มีมติให้ใช้อัตราค่าภาษีต่อตารางเมตรตามที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการประเมินและจัดเก็บภาษีของโจทก์ในปี 2548 เป็นเกณฑ์ประเมินและจัดเก็บภาษีในปี 2549 และระบุจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 หนังสือลงนามโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ข้อความในหนังสือดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์แล้ว และถือได้ว่าเป็นใบแจ้งคำชี้ขาดที่จำเลยที่ 2 แจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13936/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ไม่ถือเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร ไม่ได้รับเครดิตภาษี
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1084 แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งจากกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงหุ้น ดังนี้ กำไรยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรอันจะได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เนื่องจาก ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติให้เครดิตภาษีแก่กำไรทั้งหมดของห้างหุ้นส่วน แต่ให้เครดิตภาษีแก่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาภาษีแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนมิให้ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนกับหุ้นส่วน และสนับสนุนการลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำนวน 66,188.86 บาท มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การชำระบัญชีเมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้จ่ายกำไรสะสมแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากออกจากทรัพย์อื่นของห้างหุ้นส่วนได้ แต่ต้องนำมารวมกันเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไป โดยกำไรที่จะแจกกันในระหว่างการชำระบัญชีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชำระหนี้ ชดใช้เงิน และคืนทุนทรัพย์ตามลำดับไปแล้วยังมีทรัพย์เหลือ ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป ส่วนเงินที่โจทก์ได้รับมีส่วนที่เป็นกำไรจากการปรับปรุงบัญชีรวมอยู่ด้วย 9,470.49 บาท เมื่อเงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำกัด เป็นกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชี จึงไม่ใช่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุนซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13935/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินปันผล vs. ส่วนแบ่งกำไรจากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน: การพิจารณาเพื่อประโยชน์ทางภาษี
ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า เงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรไว้โดยเฉพาะการพิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. เป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรหรือไม่ จึงต้องพิเคราะห์จากบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 1084 ที่แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงทุนขณะที่ยังประกอบกิจการปกติยังมิได้เลิกห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. ไม่แบ่งกำไรดังกล่าวจนกระทั่งจดทะเบียนเลิกห้าง ดังนี้ กำไรที่ยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร อันจะได้รับเครดิตภาษี เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้ อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. เป็นกำไรที่เกิดขึ้นในระหว่างการชำระบัญชี จึงมิใช่เงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13933/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์ไม่ใช่ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม เหตุเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าตอบแทนจากการให้บริการ
แม้โจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการกิจการใดบ้างนั้น ต้องพิจารณาตามสภาพของการประกอบกิจการแต่ละประเภท สำหรับค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นเงินที่โจทก์ได้รับตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่าในการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีสหกรณ์ ให้จัดสรรเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ จึงเห็นได้ว่าเงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยมิใช่เป็นการชำระค่าบริการในฐานะเป็นคู่สัญญากับโจทก์ เงินดังกล่าวเป็นเพียงเงินที่สหกรณ์มีหน้าที่ต้องจัดสรรให้แก่โจทก์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งโจทก์ไม่อาจนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการอย่างอื่นได้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 108 กำหนดให้ต้องกระทำการอันมิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรหรือรายได้ส่วนที่โจทก์มีหน้าที่ตามมาตรา 110 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ได้แก่ ส่งเสริมและเผยแพร่กิจการสหกรณ์ และอื่น ๆ ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่ต้องกระทำเพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงมิใช่เป็นการงานที่โจทก์กระทำให้เป็นการตอบแทนสำหรับการรับเงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยโดยตรง การที่สหกรณ์ผู้จ่ายเงินและโจทก์ผู้รับเงินแต่ละฝ่ายต่างมีหน้าที่ต่อกันโดยผลของกฎหมายเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำสัญญาให้บริการอันเป็นการหาประโยชน์อันมีมูลค่าของโจทก์ การกระทำของโจทก์ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าบริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่ง ป.รัษฎากร เงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13335/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิจารณาคดีโกงเจ้าหนี้: ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนอกเหนือจากความผิดเกี่ยวกับการค้าตามที่กฎหมายกำหนด
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 บัญญัติให้ความผิดในประมวลกฎหมายอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีเฉพาะในส่วนคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ถึงมาตรา 275 อันเป็นบทความผิดในภาค 2 ลักษณะ 8 ความผิดเกี่ยวกับการค้า เท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รวมถึงความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 อันเป็นความผิดในภาค 2 ลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไว้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13159/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธินักแสดงต้องแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ การแสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไปไม่คุ้มครอง
สิทธิของนักแสดงในประเทศไทยเพิ่งจะได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก โดยบัญญัติอยู่ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ต่อจากหมวด 1 ว่าด้วยลิขสิทธิ์ แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นักแสดงซึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 44 และ 45 มีความหมายตามบทนิยามในมาตรา 4 ว่า "ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด" โดยมาตรา 44 และตามบทนิยามมาตรา 4 มิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่แสดงและได้รับความคุ้มครองในฐานะสิทธินักแสดงควรเป็นเช่นไร แต่เมื่อพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์และเนื้อความจากบทนิยามในมาตรา 4 จะเห็นได้ว่าสิทธิของนักแสดงเป็นการที่นักแสดงได้นำงาน "ดนตรีกรรม" หรืองาน "นาฏกรรม" อันได้แก่ การเล่นดนตรี การร้อง หรือการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราว ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์มาแสดงให้ปรากฏต่อผู้อื่น หรือนำคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาแสดงให้บุคคลอื่นชื่นชม โดยที่นักแสดงนั้นมิใช่ผู้สร้างสรรค์งานหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ซึ่งการนำเสนองานดังกล่าวนักแสดงได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะให้เกิดมีคุณค่าอันควรได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องจากผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ทำนองเป็นสิทธิข้างเคียงกับลิขสิทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำสิ่งใด ๆ ของนักแสดงแล้วก็จะได้สิทธินักแสดงเสมอไปโดยไม่มีข้อจำกัด โดยที่สิทธิของนักแสดงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นี้ ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น จะต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย
โจทก์เป็นนักแสดงโดยรับจ้างให้ทำหน้าที่พิธีกรร่วมในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้า มีหน้าที่วิจารณ์และสัมภาษณ์นักแสดงที่เชิญมาร่วมงาน โดยโจทก์แสดงท่าทาง เต้นและร้องเพลงให้งานสนุกสนานเท่านั้น ซึ่งลักษณะการกระทำของโจทก์ไม่ได้เป็นการสื่อความหมายหรือแสดงให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงที่เป็นการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบเป็นเรื่องราวของนักแสดงตามที่บัญญัติไว้ในบทนิยามมาตรา 4 ทั้งไม่ปรากฏว่าสิ่งที่โจทก์นำมาแสดงประกอบท่าทางหรือการแสดงในงานรื่นเริงดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการอุทิศฝีมือหรือความสามารถเฉพาะตัวของโจทก์ซึ่งได้สั่งสมมายาวนานหลายสิบปี ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถในการสร้างความบันเทิงของโจทก์แก่ผู้ร่วมงานตามที่รับจ้างมา ซึ่งไม่อยู่ในความหมายของสิทธิของนักแสดงอันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13157/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเดิมเนื่องจากพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน แม้มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ได้
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้กำหนดค่าเสียหายเพิ่มจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้ให้เป็นจำนวนตามคำฟ้องของโจทก์นั้น แม้จำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ชำระเพิ่มขึ้นไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41 แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์ส่งมายังศาลฎีกาแล้ว และปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวจึงรับพิจารณาให้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 44
จำเลยที่ 5 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ แต่อ้างถึงเหตุที่จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเพื่อให้ยกฟ้อง กรณีเช่นนี้ต้องยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อยื่นเป็นคำแก้อุทธรณ์มาโดยไม่ชอบ จึงไม่วินิจฉัยให้
of 43