คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 423 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสืบสวนคดียาเสพติด ทำให้ศาลลดโทษจำเลยได้ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจนได้มีการสืบสวนขยายผลจนไปพบ ซ. ที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่ง แม้จับกุมตัว ซ. ผู้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งไม่ได้ แต่ก็นำไปสู่การยึดเมทแอมเฟตามีนได้ถึง 5,800 เม็ดเศษ มากกว่าของกลางในคดีนี้ และเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้มีโอกาสเห็นตัว ซ. อีกทั้งยังได้บันทึกรูปพรรณสัณฐานของ ซ. ไว้แล้วอันเป็นประโยชน์ในการสืบสวนติดตามจับกุมในโอกาสต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4612/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ หากทำกับผู้ไม่มีอำนาจ และผู้ทำละเมิดต้องรับผิดมากกว่าผู้มีส่วนประมาท
การชำระหนี้แก่ผู้ครองทรัพย์ในขณะเกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 441 จะถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้โดยชอบก็ต่อเมื่อผู้ชำระหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นไม่รู้ว่าผู้ที่รับชำระหนี้นั้นไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และความไม่รู้นั้นมิใช่เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน เมื่อฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และ ส. พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 2 รู้หรือควรรู้ได้แล้วว่า น. ผู้ขับขี่ควบคุมรถของโจทก์อันถือว่าเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์กระบะนั้น ซึ่งแม้จะอ้างว่าไม่รู้ แต่การไม่รู้นั้นก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคนทั้งสองเอง การชำระหนี้รวมตลอดถึงการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ น. จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้หรือไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยทั้งกรณีก็ฟังไม่ได้ว่า น. เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ดังนี้ สัญญายอมรับในความประมาทของผู้ขับรถทั้งสองฝ่ายจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะมีผลผูกพันโจทก์ได้
แม้ น. จะขับรถไปถึงทางสี่แยกก่อน แต่ก่อนที่จะขับรถผ่านทางแยกนั้นไปก็ควรจะดูให้เห็นถึงความปลอดภัยก่อน การที่รถยนต์กระบะที่ น. ขับไปถูกรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านท้ายขณะกำลังจะผ่านสี่แยกไป เหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกชนก็เพราะ น. ได้ขับรถผ่านสี่แยกไปโดยไม่ดูให้เห็นถึงความปลอดภัยอย่างชัดเจนก่อน จึงมีส่วนประมาทด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อนุมัติทุเลาภาษีอากรหลังมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ คำสั่งเดิมสิ้นผลบังคับ ไม่ต้องพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า"การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ถ้าไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี" และคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรของโจทก์เป็นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรไว้ระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร พ.ศ.2546 ข้อ 14 (1) ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวพร้อมกับคำอุทธรณ์การประเมินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 แม้ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2555 จำเลยมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรซึ่งโจทก์ยื่นอุทธรณ์และจำเลยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่อนุมัติให้ทุเลาและยกอุทธรณ์โจทก์ก็ตาม แต่ปรากฏว่าต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์การประเมินฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้วแต่ให้ลดเบี้ยปรับลงกึ่งหนึ่ง โดยวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ดังนั้น คำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีย่อมสิ้นผลบังคับแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการขอทุเลาการเสียภาษีอากรของโจทก์ในระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: การเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานประเมินและการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเกินกำหนด
วันที่ 4 กรกฎาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษี (ค.10) วันที่ 2 สิงหาคม 2549 จำเลยแจ้งว่า โจทก์ยื่นคำร้องเกิน 3 ปี จึงไม่อนุมัติให้คืนภาษี วันที่ 17 สิงหาคม 2549 โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง วันที่ 21 เมษายน 2551 จำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและโจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 โจทก์มีหนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากร วันที่ 8 มีนาคม 2556 จำเลยมีหนังสือแจ้งว่า โจทก์ยื่นคำร้องเกิน 3 ปี คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรชอบแล้ว การปฏิบัติของจำเลยต่อการที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยทบทวนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรเช่นนี้ มีลักษณะที่พอให้เข้าใจได้ว่า จำเลยรับพิจารณาคำร้องขอทบทวนหรือขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์ โดยไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์รู้ถึงเหตุที่อาจขอให้พิจารณาใหม่ แล้วยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ต่อจำเลยเกินกว่า 90 วัน จากนั้นจำเลยก็มีคำตอบแจ้งแก่โจทก์ตามหนังสือที่ กค 0707 (อธ.1)/2916 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2558 อันถือเป็นคำสั่งทางปกครองเช่นกัน โดยตามหนังสือของจำเลยฉบับนี้ก็มีข้อความระบุว่า ถ้าหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งนี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือทราบคำสั่ง และโจทก์ก็ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของจำเลยตามหนังสือแจ้งแก่โจทก์ฉบับนี้ โดยระบุในคำขอท้ายฟ้องว่าขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนภาษีแก่โจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค 0707 (อธ.1)/2916 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นคำสั่งของจำเลยคนละคำสั่งกับที่จำเลยแจ้งตอบอุทธรณ์ของโจทก์ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 ทั้งนี้ โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรไว้ก่อนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 ประกอบมาตรา 7 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้าย และการพิจารณาความแตกต่างของสินค้า
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า "ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง" เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18
ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วแม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า "เวสเซล" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า "เวสเซลล์" แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน "S" ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบ ส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าวางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน "S" บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า "VESCELL"และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน "V" และ "C" บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากับยาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (ATM) เพื่อการยกเว้นอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 กำหนดให้ของในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 รายการเฉพาะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว มิได้ให้คำนิยามของ "เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้" จึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ประเภทพิกัด 84.72 เครื่องสำนักงานอื่น ๆ (Other office Machines) ประเภทย่อย 8472.90 อื่น ๆ (6) ระบุว่า เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้ฝาก ถอน และโอนเงินและดูยอดคงเหลือของบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ดังนั้น แม้สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามโบรชัวร์สินค้า จะใช้ชื่อว่า "Cash Dispenser" คล้ายกับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียวคือการจ่ายธนบัตร และตามพิกัดนี้ไม่ได้รับยกเว้นอาการขาเข้า ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แต่ตามโบรชัวร์สินค้าพิพาทได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) พิพาทไว้ว่า เป็นเครื่องสำหรับให้บริการ ทำรายการธุรกรรมทางการเงิน ดังนี้ ถามยอดบัญชี โอนเงิน เบิกเงินสด ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจึงจัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณเงินเพิ่มภาษีอากรต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ แม้มีการผ่อนชำระหนี้
ป. รัษฎากร มาตรา 89/1 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติที่กำหนดจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ว่าจะคำนวณเงินเพิ่มอย่างไร เงินเพิ่มที่คำนวณได้ทั้งหมดต้องมีจำนวนไม่เกินไปกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ อันเป็นไปเพื่อมิให้ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในส่วนนี้มากไปกว่ามูลหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเหตุให้มีการเสียเงินเพิ่มนั้น จำนวนเงินขั้นสูงสุดดังกล่าวย่อมต้องเป็นจำนวนที่แน่นอนสอดคล้องกับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่ง ส่วนการผ่อนชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่งลดลงนั้น ก็เป็นเพียงกรณีที่การคำนวณเงินเพิ่มต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนที่ลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ แต่หาเป็นเหตุให้จำนวนเงินขั้นสูงสุดที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ได้เร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างและนำเงินที่ยึดหรืออายัดไปชำระหนี้ภาษีอากรตามบัญชีแสดงรายละเอียดการผ่อนชำระหนี้ คงมีหนี้ค้างคงเหลือเป็นค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มโดยเมื่อรวมเงินเพิ่มเก่าและเงินเพิ่มใหม่ยังไม่เกินจำนวนภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามหนังสือแจ้งการประเมิน และเจ้าพนักงานของโจทก์ได้คำนวณหนี้ภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคงค้างชำระหนี้ทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แล้ว การคำนวณเงินเพิ่มของโจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อการคืนเงินภาษี: การพิจารณาบทบัญญัติที่ใช้บังคับ ณ ขณะยื่นคำร้อง
ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การพิจารณาว่า กรณีจะต้องมีการคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่ง ป.รัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 แต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง และตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่านเท่านั้น ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงทำให้ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จึงไม่มีผลทำให้ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีป้าย: การประเมินป้ายที่มีอักษรไทยและต่างประเทศผสมกัน การตีความลักษณะป้ายตามกฎหมาย
ป้ายของโจทก์มีข้อความว่า กตัญญู อยู่ที่มุมบนด้านซ้าย ต่ำลงมาเป็นเครื่องหมายรูปหัวใจและมีข้อความภาษาต่างประเทศคำว่า KATANYU ด้านข้างมีข้อความว่า กตัญญู "คืนกำไร 100 % สู่สังคม" ถัดลงมามีรูปผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม 2 ขวด ขวดที่อยู่ด้านซ้ายที่ข้างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มมีเครื่องหมายและมีข้อความภาษาต่างประเทศคำว่า KATANYU ด้านข้างมีคำว่า กตัญญู ด้านล่างคำว่ากตัญญูมีข้อความว่า น้ำดื่มตรากตัญญู DRINKING WATER ขวดที่อยู่ด้านขวาที่ข้างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มมีเครื่องหมายและมีข้อความภาษาต่างประเทศคำว่า KATANYU ด้านข้างมีคำว่า กตัญญู ด้านล่างคำว่ากตัญญูมีข้อความว่า น้ำแร่ ตรากตัญญู MINERAL WATER และยังมีข้อความใต้ผลิตภัณฑ์น้ำดื่มอีก 7 บรรทัด ป้ายของโจทก์ที่มีอักษรต่างประเทศคำว่า KATANYU อยู่ในส่วนด้านขวาของเครื่องหมายคล้ายรูปหัวใจ ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 และถือว่าเป็นป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ จึงเป็นป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการประกันชีวิตผิดกฎหมาย: การจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ
โจทก์ทำสัญญาบริการกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเป็นตัวแทน 25 คน และผู้บริหารงานขาย 5 คน ในการเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ซึ่งโจทก์ได้ค่าตอบแทน 1,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรับแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 หากบุคลากรทำผลงานให้โจทก์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณที่กำหนดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำไม่ได้เบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
of 43