คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 423 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการยกเว้นภาษีป้ายสำหรับโรงเรียนเอกชน ต้องเป็นป้ายแสดงชื่อโรงเรียนโดยเฉพาะ และมีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
การพิจารณาว่าป้ายของโรงเรียนเอกชนใดจะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 8 (9) หรือไม่ ต้องพิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 28 และมาตรา 127 (1) ที่กำหนดถึงการใช้ชื่อของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ซึ่งก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโรงเรียนเอกชนดังกล่าว เดิมมี พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 54 บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจัดมีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่ ซึ่งกฎหมายโรงเรียนเอกชนฉบับเดิมและฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ชัดเจนว่า ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหมายความถึงป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเท่านั้น โดย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอักษรที่แสดงอยู่บนป้ายชื่อของโรงเรียน ดังนั้น ป้ายของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่จะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8 (9) จึงต้องเป็นป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควร และป้ายนั้นติดไว้ที่บริเวณโรงเรียนเอกชนที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า "โรงเรียน" ประกอบชื่อด้วย เมื่อป้ายพิพาทของโจทก์ทั้งสองป้ายมิได้มีชื่อโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีอักษรต่างประเทศปะปนอยู่ และมีข้อความอื่นแสดงหลักสูตรที่เปิดสอนพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการโฆษณากิจการเพื่อหารายได้ แม้จะติดไว้บริเวณโรงเรียน ย่อมไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 8 (9) พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดจากเหตุทะเลาะวิวาท ศาลต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีอาญาประกอบ
มูลคดีนี้ มีข้อเท็จจริงเดียวกับมูลคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องจำเลยนี้ในคดีอาญาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยกับผู้ตายต่างสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน คดีนี้ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ขณะผู้ตายวิ่งขึ้นจากสระน้ำมาทะเลาะวิวาทกับจำเลย ผู้ตายมีอาวุธปืนด้วย เช่นนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงเกินเลยไปจากที่ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อผู้ตายและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างขนส่งสินค้า: การผิดสัญญาจากเหตุระวางเรือไม่ตรงตามกำหนด และขอบเขตความรับผิด
ก่อนมีการตกลงว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้ากังหันไอน้ำความดันต่ำ โจทก์แจ้งกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าว่า ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ให้จำเลยทราบแล้วในหนังสือขอให้จำเลยเสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น ก่อนเสนอราคาจำเลยย่อมต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่าสามารถดำเนินการรับขนสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ได้ทันวันดังกล่าวหรือไม่ แต่จำเลยกลับนำสืบว่าได้จองเรือที่เดินทางออกจากท่าเรือในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้เมื่อโจทก์สนองรับราคาของจำเลย โจทก์ยังแนบสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำซึ่งมีกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ไปพร้อมกับหนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือให้จำเลยทราบอีกด้วย จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหากจำเลยไม่สามารถจัดหาเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาอย่างช้าที่สุดวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ได้ จำเลยยังมีทางเลือกที่จะจัดหาเรือซึ่งออกจากท่าเรือต้นทางอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ได้อีกด้วย แม้หนังสือจ้างจะไม่มีข้อตกลงให้จำเลยไปรับสินค้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีเพียงข้อกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานภายใน 22 วัน นับจากวันที่จำเลยรับสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทราบกำหนดวันที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ หนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาไว้แน่นอน การที่จำเลยจองระวางเรือซึ่งมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาวันที่ 23 มิถุนายน 2552 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการจองระวางเรือที่เหมาะสมกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย
แม้จำเลยนำสืบว่าเรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาการเดินเรือและเข้าเทียบท่าอาจคลาดเคลื่อนได้ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่ควรจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ไปรับสินค้าตามกำหนดที่ตกลงไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบสินค้าชักช้า จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 และ 58 มาปรับใช้แก่คดีดังที่จำเลยต่อสู้ได้
เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบกำหนดรับมอบสินค้าว่าประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือไปรับสินค้าให้ทันวันดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์จะใช้สินค้าเมื่อใด เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิบัตร: โจทก์ต้องพิสูจน์การใช้ความคิดในการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของผู้ละเมิด
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ประดิษฐ์การประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะแบบอัด ซึ่งได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองอ้างในคำฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ได้โอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ซึ่งการโอนสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ปรากฏตามสิทธิบัตรดังกล่าวว่ามีรายการที่โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนโอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 แล้ว ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ที่ 2 โอนสิทธิบัตรให้แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 2 โอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะแบบอัดดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงยังคงเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าว ซึ่งมีอำนาจฟ้องว่าจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทรงสสิทธิบัตรที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าว
คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้ โดยลอกเลียนหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตตู้บรรทุกขยะโดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่อยู่ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตู้บรรทุกขยะตามสิทธิบัตรดังกล่าวให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง แต่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า คำกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองผลิตตามแบบของตนเองไม่ได้ลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ของผู้ใดเป็นเท็จ เพราะถ้าเป็นแบบของตนเอง รูปแบบสินค้าที่นำมาเสนอขายควรเป็นแบบหรือภาพถ่ายสินค้าของตนเอง ไม่ควรนำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นของตนเอง โจทก์ทั้งสองจึงมั่นใจว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองโดยการคัดลอกแบบแปลนและผลิตออกจำหน่ายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ค. โดยมิได้นำสืบว่า รถยนต์บรรทุกที่อ้างว่า จำเลยทั้งสองผลิตและขายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ค. นั้นมีลักษณะอย่างไร มีกระบวนการการทำงานอย่างไร ตรงกับข้อถือสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองในสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองผลิตตู้บรรทุกขยะแบบอัดท้ายชนิดสามารถเปิด-ปิด และปรับระดับที่รองรับขยะได้โดยใช้ความคิดในการประดิษฐ์ที่มีรายละเอียดตรงหรือสอดคล้องกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้บรรทุกขยะดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 แม้ผู้รับมอบอำนาจจำเลยทั้งสองจะตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลิตรถขนขยะตามแบบที่เสนอตามสเป็กที่กำหนดต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ค. และส่งมอบเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกขยะที่จำเลยทั้งสองผลิตและส่งมอบดังกล่าวนั้นมีส่วนใดบ้างที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ความคิดในการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบบ่งชี้ไปในทางที่ว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายรถต้นแบบและแค็ตตาล็อกของโจทก์ทั้งสองไปใช้ในการเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ค. ซึ่งไม่ใช่การที่จำเลยทั้งสองผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับผลิตออกขายซึ่งตู้บรรทุกขยะโดยใช้การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงสิทธิบัตร ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกอบกิจการร้านเพลงคาราโอเกะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ถือเป็นความผิด
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ร้านวีดิทัศน์" หมายความว่าสถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบกิจการให้บริการร้านเพลงคาราโอเกะอันเป็นร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่ร้าน ค. และได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการเพลงคาราโอเกะดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และไม่ใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคสี่ ที่ว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการนั้น ไม่นำมาใช้กับคดีนี้เพราะไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องส่วนใดที่ระบุว่าร้านอาหาร ค. ของจำเลยกับพวกเป็นร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3836/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจ กฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน ค่าเช่าเป็นค่ารายปีที่คำนวณภาษีได้
โจทก์เป็นเจ้าของสนามบิน โจทก์ทำสัญญาให้เช่าสนามบินระยะยาวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับสัญญาอื่น ๆ อีก 4 ฉบับ คือ สัญญาเช่าช่วงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัญญาให้บริการระบบ สัญญาตกลงกระทำการ หนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองในวันเดียวกัน เพื่อระดมเงินผ่านกองทุนรวมฯ เมื่อพิจารณาหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนที่ระบุว่ามีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินที่ได้จากการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนไปซื้อ เช่าและหรือ เช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยการให้เช่า ให้เช่าช่วง โอน และ/หรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมฯ ได้ลงทุน โดยกองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ ได้แก่ ที่ดิน ทางวิ่ง และลานจอดเครื่องบิน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ซึ่งปัจจุบันใช้ดำเนินการสนามบินสมุย โดยเข้าทำสัญญาเช่าระยะยาวและสัญญาตกลงกระทำการกับบางกอกแอร์เวย์ส ในขณะเดียวกันกองทุนรวมฯ ประสงค์ที่จะจัดหาผลประโยชน์โดยนำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป และนโยบายการลงทุนครั้งแรกที่กองทุนรวมฯ ประกาศชี้ชวนผู้ลงทุนทั่วไปนั้นปรากฏข้อความชัดเจนว่า กองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ อีกทั้งเป็นกองทุนรวมฯ ประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่มุ่งลงทุนโดยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน คงมีเพียงสิทธิในการนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปหาผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาของสัญญาเช่าที่กองทุนรวมฯ ได้ตกลงไว้กับโจทก์ การที่กองทุนรวมฯ ทำสัญญาทั้งห้าฉบับกับโจทก์ จึงเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนว่า กองทุนรวมฯ จะนำเงินไปลงทุนในสิทธิการเช่าสนามบินสมุย โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่กองทุนรวมฯ นำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป รวมทั้งได้รับประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาให้บริการระบบรวมกันมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 6 ของจำนวนเงินทุนของโครงการ ณ วันที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมฯ ดังที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวน นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าระยะยาว ยังระบุความประสงค์ของโจทก์ไว้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ที่ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 537 ไม่อาจแปลความสัญญาเช่าระยะยาวดังกล่าวเป็นการกู้เงิน หรือเป็นสัญญาเช่าที่มิใช่สัญญาเช่าปกติทั่วไปได้
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสนามบินสมุยได้นำสนามบินสมุยออกให้กองทุนรวมฯ เช่าตามสัญญาเช่าระยะยาว เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นมีการนำออกให้เช่า พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 วรรคสาม บัญญัติให้ถือว่าค่าเช่านั้นเป็นค่ารายปี จำเลยนำค่าเช่าตามสัญญาเช่าระยะยาวมาคำนวณเป็นค่ารายปีและคิดเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: ดอกเบี้ยเกินคำชี้ขาดเป็นโมฆะ
การที่ผู้ร้องมีคำขอให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องเป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นการร้องขอที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีหลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น และหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมอายัด
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย การที่จำเลยได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม นั้น ก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีและแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงให้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ถอนการอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลย หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการบังคับคดีอยู่ไม่ถูกกลับในชั้นที่สุด ค่าธรรมเนียมในกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคหนึ่ง แต่ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาทมีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นลูกหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยุติข้อพิพาทโดยโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีและเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป และให้ผู้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ก็ตาม ก็มีผลเพียงเป็นการยุติการดำเนินคดีของโจทก์และให้โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมหรือเงินใด ๆ ที่วางไว้ตามคำพิพากษาคืนจากศาลเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์และจำเลยย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกและทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการถอนการบังคับคดีไปด้วยเหตุคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้นถูกกลับในชั้นที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169 /2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้เงินโดยใช้เอกสารปลอมและการรับเงินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดในฐานลาภมิควรได้
แม้ลายมือชื่อจำเลยในการทำนิติกรรมยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์จะเป็นลายมือชื่อปลอมที่ภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน แต่จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมที่มีลายมือชื่อปลอมจึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ไม่ชัดเจน-ขัดแย้ง: ศาลฎีกายกอุทธรณ์ข้อโต้แย้งความรับผิดของจำเลยที่ 4 และจำเลยร่วม
ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเฉพาะในส่วนที่พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 และจำเลยร่วมเท่านั้น มิได้โต้แย้งคัดค้านในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวกลับมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 4 และจำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธความรับผิดของตนต่อโจทก์แต่อย่างใด แม้ท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จะขอให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แต่ก็ขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ดังกล่าว อุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
of 43