คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จรัญ รัตตมณี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดินต้องถมดินให้เสมอถนนภาระจำยอม ไม่จำเป็นต้องเสมอถนนสายหลัก
ตามสัญญาจะซื้อจะขายกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินตามใบคำขอ/ใบอนุญาต ซึ่งตามใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จำเลยที่ 1 จะต้องจัดสรรที่ดินตามแผนผัง โครงการและวิธีการแนบท้ายใบอนุญาต ตามโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินโครงการ ฮ. ข้อ 3 การปรับปรุงที่ดิน ระบุว่า จะทำการปรับปรุงที่ดินโดยจะทำการถมดินบดอัดแน่นด้วยรถแทรกเตอร์ให้พื้นดินในบริเวณที่ทำการจัดสรรเรียบเสมอกันและให้เท่ากับระดับถนนภาระจำยอมที่เชื่อมกับทางหลวงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสรรที่ดินอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งห้าในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งห้าจึงมีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อ 3 เรื่องการปรับปรุงที่ดินแล้วหรือไม่ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 จำเลยทั้งห้ามีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่า ในการขออนุญาตจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขอจัดทำแผนผังการจัดสรรที่ดินกับโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดิน อันมีรายละเอียดถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของข้อกำหนดยื่นแสดงต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งข้อกำหนดข้อ 6 กำหนดว่า ผู้ขอต้องแสดงโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ คือวิธีการในการปรับปรุงพื้นที่ดินให้เกิดความเหมาะสมในการปลูกสร้างอาคารโดยจะต้องกำหนดระดับความสูงต่ำของพื้นดินทั้งบริเวณส่วนจำหน่ายและส่วนสาธารณูปโภค เมื่อพิจารณาประกอบข้อกำหนด ข้อ 5.1 (3) ที่ว่า แผนผังสังเขปให้แสดงเส้นทางที่เข้าออกสู่บริเวณการจัดสรรที่ดินจากทางหลวง หรือทางสาธารณะภายนอก ซึ่งมาตรฐานที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีกำหนดให้ผู้ขอจัดสรรที่ดินดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้มีการปรับปรุงพื้นที่ดินที่จัดสรรให้มีระดับพื้นดินเหมาะสมแก่การปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยและมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเท่านั้น หาได้มีหลักเกณฑ์บังคับว่า ผู้ขอจัดสรรที่ดินจะต้องปรับปรุงพื้นที่ดินที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับทางหลวงหรือถนนสาธารณะที่เป็นเส้นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันอุทกภัยแต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะจัดทำเอกสารโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินว่า จำเลยที่ 1 จะปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับระดับถนนบางกรวย-ไทรน้อย หากเอกสารโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินข้อ 3 มีเจตนาที่จะปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย ก็ไม่น่าจะมีข้อความว่า "ให้เท่ากับระดับถนนภาระจำยอม" คั่นอยู่ข้างหน้าคำว่า "เท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย" นอกจากนี้เงื่อนไขในข้อที่ว่า การปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่ง หากมีเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 จำต้องดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขเสียก่อนจึงจะได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต และการออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2544 ข้อ 3 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินได้พิจารณาเห็นชอบแผนผัง โครงการ และวิธีการในการจัดสรร และผู้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินได้ดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินครบถ้วนแล้ว ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน แต่กลับปรากฏว่า คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีได้ออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีข้อทักท้วงว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จัดสรรผิดไปจากข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน และเอกสารโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดิน ต่อมาเมื่อคณะอนุกรรมการได้ตรวจสอบการจัดทำสาธารณูปโภคของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าตรงตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต จึงแสดงว่าเอกสารโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินไม่ได้มีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 ต้องปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย ทั้งยังได้ความว่าถนนภาระจำยอมเป็นที่ดินจำนวน 5 แปลง ระยะทางจากถนนบางกรวย-ไทรน้อยถึงหน้าโครงการจัดสรรพิพาทไกลถึง 825 เมตร และถนนภาระจำยอมบริเวณหน้าโครงการจัดสรรพิพาทมีระดับต่ำกว่าถนนบางกรวย-ไทรน้อยอยู่มากพอสมควร ถนนภาระจำยอมดังกล่าวซึ่งสร้างแล้วเสร็จมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยนระดับความสูงของถนนภาระจำยอม หากจำเลยที่ 1 ต้องทำถนนของโครงการจัดสรรพิพาทในระดับเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย จุดเชื่อมต่อกับถนนภาระจำยอมหน้าโครงการจัดสรรพิพาทย่อมไม่เป็นระดับเรียบเสมอกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับประโยชน์ในการใช้เป็นเส้นทางสัญจรเข้าออก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ขัดแย้งคำรับสารภาพและข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้นเป็นเหตุต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า อาวุธปืนของกลางตรวจพบรอยขูดลบเครื่องหมายทะเบียน แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าเครื่องหมายทะเบียนเดิมเป็นเลขใดตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์แนบท้ายอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นการอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงมาตามฟ้องอันเป็นการขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้าง แล้วอาศัยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นการมิชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสินไหมทดแทนทางอาญาจำกัดเฉพาะความเสียหายจากการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพหลังศาลชั้นต้นพิพากษา และดุลพินิจศาลในการลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
ป.อ. มาตรา 78 เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ เป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ เพราะจำเลยยังติดใจในประเด็นรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว เพียงแต่ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ยกปัญหาที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพดังกล่าวมาเป็นเหตุลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะเห็นว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหรืออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงมิใช่การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต และผลของการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่ได้จากคดีอาญาต่อคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ได้นำสัญญายืมถังบรรจุก๊าซฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้วมีการส่งสัญญายืมถังบรรจุก๊าซไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของ ส. แล้วลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลย การที่โจทก์นำสัญญายืมถังบรรจุก๊าซมาฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้" แต่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ คดีนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า ส. ไม่ได้ลงชื่อในสัญญายืมถังบรรจุก๊าซ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าสัญญายืมถังบรรจุก๊าซเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ แม้ต่อมามีการนำเอกสารดังกล่าวไปฟ้องคดีอาญา ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานนอกประเด็นพิพาทไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบและเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ศาลจะรับฟังมาเป็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว, การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย, และการครอบครองโดยไม่สุจริต
ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติแต่เพียงว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้อธิบดีกำหนดเวลาไว้เพื่อมิให้โจทก์จำหน่ายที่ดินเกินกำหนดเวลาเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำการจำหน่ายก่อนมีการกำหนดเวลา ฉะนั้น ถึงแม้อธิบดียังไม่ได้กำหนดเวลา โจทก์ก็สามารถดำเนินการขายที่ดินพิพาทได้ หากจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีคำขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากทรัพย์พิพาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวถูกจำกัดสิทธิมิให้ถือหรือใช้ที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินนั้นจะไม่มีผลเสียเลย เพียงแต่ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด เห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่ในกรณีของโจทก์เป็นการได้ที่ดินกลับคืนมาโดยคำพิพากษาของศาล จึงถือว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 กล่าวคือ โจทก์ในฐานะคนต่างด้าวต้องจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ในกรณีของโจทก์ได้ดำเนินการแล้ว โดยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินขอให้กำหนดระยะเวลาการจำหน่ายที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง แจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งกำหนดระยะเวลาการจำหน่ายที่ดินของผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน แต่ถึงแม้ยังไม่มีคำสั่งกำหนดระยะเวลาการจำหน่าย โจทก์สามารถจำหน่ายที่ดินดังกล่าวได้โดยตรง ดังนั้น เมื่อโจทก์หรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายทรัพย์พิพาท จึงถือได้ว่าทรัพย์พิพาทยังเป็นของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา การที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์พิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้ที่ดินเป็นของโจทก์อันเป็นการรับรองสิทธิของโจทก์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินอีกต่อไป ต้องส่งมอบคืนแก่โจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลแพ่งที่พิพากษาให้โจทก์ใช้ราคาแก่จำเลยนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปบังคับคดีเอาแก่โจทก์ หาใช่ข้ออ้างที่จะยึดหน่วงทรัพย์พิพาทในคดีนี้ไม่ เป็นคนละกรณีกัน จำเลยจึงยังคงมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีหาใช่หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครองนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน กรณีการกู้ยืมเงินโดยทุจริตและนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
พฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับเงินกู้จากกองทุนของผู้ร้องคัดค้านที่ดำเนินการในนามบริษัท บ. ซึ่งมี ส. เป็นผู้มีอำนาจจัดการที่แท้จริง และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินที่กู้ยืมมาจากกองทุนทั้งสามครั้ง รวม 3,000,000,000 บาท เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีการกำหนดขั้นตอนไว้เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจากกองทุนในเวลาอันรวดเร็ว และการยกเลิกอาวัลที่ทำให้หลักประกันของกองทุนหมดสิ้นไปถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต พฤติการณ์เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินจากกองทุนในการกู้ยืม จากนั้นก็ถอนหรือโอนเงินไปเพื่อการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทในเครือของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เสนอโครงการกับกองทุน ทั้งการที่กู้เงินจากกองทุนโดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อนำไปให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี และปล่อยกู้เพียง 72,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะใช้เงินคืนได้ นอกจากนั้นการที่อ้างว่าปล่อยเงินกู้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทั้งการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนแรกก็เป็นการนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายเป็นดอกเบี้ย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการกู้เงินจากกองทุนทั้งสามครั้งมีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกต่อเนื่องกัน อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ส. รับโอนเงินกู้ยืมที่ได้รับมาเข้าบัญชีตนเองกว่า 100,000,000 บาท จากนั้นไม่กี่วันก็ซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ยึดในคดีนี้ในช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดมูลฐาน โดย ส. หรือผู้อื่นไม่ยื่นคำคัดค้าน จึงเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งเมื่อผู้ร้องคัดค้านหน่วยงานต้นสังกัดของกองทุนเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้านและได้แก้ไขคำร้องตามที่ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องเข้ามา จึงสมควรให้คืนหรือนำทรัพย์สินไปชดใช้คืนแก่ผู้ร้องคัดค้านตามมาตรา 49 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กชายโดยใช้นิ้วสอดใส่ และผลกระทบของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบยาเสพติดสำเร็จแม้ผู้ซื้อถูกจับกุม การวางยาเสพติดตามนัดหมายถือเป็นความผิดสำเร็จ
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปวางไว้ที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14 ที่เกิดเหตุตามที่นัดหมายกันไว้ก่อน ถือได้ว่าจำเลยกับพวกลงมือกระทำความผิดในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่ ส. ผู้ซื้อไปตลอดแล้ว การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยกับพวกมีผลสมบูรณ์เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยกับพวกได้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปวางไว้ที่หลักกิโลเมตรที่ 14 ที่เกิดเหตุนั้นแล้ว แม้ขณะนั้น ส. ซึ่งเป็นผู้ติดต่อล่อซื้อจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวอยู่ก็ไม่มีผลทำให้ ส. ไม่สามารถครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางได้แต่อย่างใด