คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 91

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,422 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ตามมาตรา 5 และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 สถานศึกษาของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาในระดับปริญญา ทำการสอน การวิจัยและการอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 แม้จะยังไม่มีการเรียนการสอน สถานศึกษาเอกชนนั้นย่อมมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และจากบทบัญญัติของมาตรา 9 มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประเภทหนึ่งที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลายระดับรวมถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ดังนั้น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 10 คือ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และแม้มหาวิทยาลัย ป. ยังไม่มีการเรียนการสอน แต่จากข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยระบุชัดว่า มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม การกีฬา และสาธารณสุข ทั้งยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา เช่น หัวข้อเกี่ยวกับนักศึกษาใหม่ หลักสูตรการเรียนการสอน และคณาจารย์ไว้ชัดแจ้ง แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัย ป. จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ มหาวิทยาลัย ป. จึงมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามความในมาตรา 8 และ 9 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกับนำข้อมูลต่าง ๆ ลงในเว็บไซต์ จัดให้มีพิธีสถาปนาคณาจารย์ นักวิชาการ คณะทำงานของมหาวิทยาลัย ป. และมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับบุคคลต่าง ๆ อันเป็นการแสดงออกให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นหลงเชื่อว่ามหาวิทยาลัย ป. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต
การบรรยายฟ้องของโจทก์สามารถแยกเจตนาของจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 1.1 ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อ 1.2 ฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้คดีทั้งสองดังกล่าวโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ส. และมหาวิทยาลัย ส. 2 ซึ่งเป็นคนละมหาวิทยาลัยกับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับทั้งสองคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางจำเป็นต้องพิสูจน์สภาพข้อเท็จจริงก่อนกระทำการรังวัดในที่ดินของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานบุกรุก
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1151-1153/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์, ยักยอกทรัพย์, และการใช้บัตรโดยมิชอบ, ความผิดหลายกรรมต่างกัน
การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง แม้มีความมุ่งหมายเดียวคือเพื่อลักเอาเงินของโจทก์ร่วมไปจากบัญชี แต่เนื่องจากเงินในบัญชีมีจำนวนมาก ไม่อาจลักเอาไปเสียทีเดียวในครั้งเดียวได้ และการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง ได้กระทำต่างวันต่างเวลาและต่างสถานที่กัน มิได้กระทำต่อเนื่องกัน ทั้งยังมีโอกาสที่จะยับยั้งในแต่ละครั้งได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้มีเจตนาเดียวกัน
แม้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 วันละ 1 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่างวันต่างวาระกัน การกระทำชำเราเสร็จแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จในแต่ละครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยไม่ได้ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกัน ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 7 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์และปลอมแปลงเอกสารเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และไม่สมควรรอการลงโทษ
ภายหลังลักรถบรรทุกของโจทก์ร่วมทั้งสามสำเร็จแล้ว พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเพื่อโอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกบางคันมาเป็นชื่อจำเลย บางคันมาเป็นชื่อบริษัทที่จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และบางคันเป็นชื่อบุคคลภายนอก เป็นการกระทำเพื่อมุ่งใช้สอยหรือหาประโยชน์จากรถบรรทุกแต่ละคันที่ลักมา มิใช่เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งรถบรรทุกแต่ละคัน ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับของจำเลยต้องมีพยานหลักฐานประกอบยืนยันความผิด การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และปลอมแปลงเอกสารเป็นกรรมเดียว
คำรับของจำเลยทั้งสองแม้จะถือว่าเป็นคำรับอันเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจำเลยทั้งสองและสามารถใช้ยันจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาของศาลได้ก็ตาม แต่โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้มั่นคงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำผิดตามคำรับด้วยจึงจะลงโทษจำเลยทั้งสองได้
แม้จำเลยที่ 2 ปลอมใบส่งสินค้าและนำใบส่งสินค้าปลอมไปใช้ภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้ลักทรัพย์ของนายจ้างสำเร็จไปแล้ว แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะนำเอกสารปลอมที่ทำขึ้นไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่ตนก่อขึ้น ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบค้ามนุษย์: การกระทำความผิดต่อเนื่อง vs. ความผิดกรรมเดียว
การที่จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 3 อายุ 15 ปีเศษ ไปขายบริการทางเพศ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และวันที่ 19 สิงหาคม 2561 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ใหม่ การกระทำที่สมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์มีเพียงครั้งเดียวตั้งแต่แรกที่พันตำรวจโท ก. กับพวกทำการล่อซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จากจำเลยกับพวกครั้งแรก การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ไปขายบริการทางเพศแก่สายลับที่ล่อซื้ออีกในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จึงเป็นเพียงการอาศัยการสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตั้งแต่แรกที่เคยล่อซื้อบริการทางเพศมาแล้วเท่านั้น มิได้มีการกระทำอันเป็นการสมคบขึ้นใหม่อันจะเป็นความผิดทุกครั้งที่มีการซื้อบริการทางเพศ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่ได้กระทำในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เพียงกรรมเดียว แต่ไม่มีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ของวันที่ 19 สิงหาคม 2561 อีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานสมคบกันเพื่อการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นความผิดฐานคนละกรรมกับความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกัน: อั้งยี่, สมคบฟอกเงิน, และฉ้อโกง/ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์
ป.อ. มาตรา 91 ไม่ได้บัญญัติว่า การกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีไป เมื่อสภาพแห่งความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กับความผิดฐานร่วมกันสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานร่วมกันฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ มีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละฐานความผิดแยกออกจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่องค์ประกอบความผิด เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำความผิดสำเร็จ ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างฉบับกัน แม้การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานดังกล่าวเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาจะทำให้ผลของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานร่วมกันสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานร่วมกันฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติความผิดฐานร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดหลอกลวงผู้เสียหายจนหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่จำเลยทั้งเจ็ดเตรียมไว้แล้ว จำเลยทั้งเจ็ดเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติไป แม้การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ จะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหายสำเร็จแล้ว แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาที่จะใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดที่ผู้เสียหายโอนให้จำเลยทั้งเจ็ด ความผิดฐานร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเดียว เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8351/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: การกระทำต่างวันต่างเวลาถือเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ แม้เชื่อมโยงกับการจำหน่ายยาเสพติด
จำเลยทั้งสองและ ศ. ร่วมกันโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันโดยเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการจำหน่ายยาเสพติดในครั้งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อร่วมกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลา มิได้กระทำต่อเนื่องกัน จึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้ตราประทับปลอมในเอกสารราชการ ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษจำเลย
ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม 2 ฉบับ อันเป็นการปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมต่างฉบับกัน ซึ่งโดยสภาพของการกระทำดังกล่าวจำเลยต้องปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าวทีละฉบับ ในทันทีที่จำเลยปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมฉบับหนึ่งเสร็จ ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการสำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลเป็นเอกสารปลอมแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยกระทำต่อเนื่องกันและนำใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม 2 ฉบับ ไปใช้ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนชื่อให้แก่โรงแรมแห่งเดียว ก็ไม่ทำให้เจตนาของจำเลยที่มีมาตั้งแต่ต้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นเจตนาเดียวได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน
จำเลยเป็นผู้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 251 (เดิม) และใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 252 รวม 2 ครั้ง ซึ่งในการใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงานประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 23 ใบอนุญาตเลขที่ 6/2558 จำเลยทำดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมและใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 251 (เดิม) ประกอบมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่การใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 24 ใบอนุญาตเลขที่ 7/2558 นั้น จำเลยมิได้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานขึ้นอีก คงใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมอันเดิม จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมอย่างเดียวตามมาตรา 252 อีกกระทงหนึ่ง
of 243