คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 442

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 273 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426-7427/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดทางอาญาและค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การนำข้อเท็จจริงจากคดีแพ่งมาใช้ในคดีอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17868/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประมาทเลินเล่อทางละเมิด: การประเมินความประมาทของคู่กรณีและการแบ่งความรับผิดชอบ
เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการขับรถของทั้งสองฝ่ายว่าฝ่ายใดประมาทยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว จะเห็นได้ว่าหากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรย่อมต้องมองเห็นรถจักรยานยนต์ที่ ก. ขับมาและต้องชะลอความเร็วไม่ให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน ขณะเดียวกัน ก. ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ย้อนเส้นทางเดินรถออกจากซอยก็จะต้องหยุดรถดูว่ามีรถแล่นมาทางด้านขวาหรือไม่ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับออกไป แต่ทั้งจำเลยที่ 1 และ ก. หาได้กระทำไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ ก. ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7941/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อในการขับรถ รถฉุกเฉิน ผู้ขับรถมีหน้าที่ระมัดระวังและชะลอความเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ
คดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถตู้คันเกิดเหตุนำ จ. จากโรงพยาบาลตาลสุมไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำเลยที่ 1 เปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกะพริบตลอดทาง โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ กรณีจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้มาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และเปิดไฟกะพริบ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะรับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นรถฉุกเฉิน และผู้ที่ขับรถฉุกเฉินจะต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ ทั้งโจทก์เองก็อ้างว่าเพิ่งออกจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร กำลังจะไปสนามกีฬาซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ก็ควรที่จะชะลอความเร็วรถลงเพื่อเปิดโอกาสให้รถที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินผ่านไปก่อน การที่โจทก์ไม่ชะลอความเร็วรถลงหรือหยุดรถจนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุที่เป็นรถฉุกเฉิน ซึ่งลักษณะการชนตามภาพเป็นลักษณะที่รถยนต์ของโจทก์พุ่งเข้าชนรถตู้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีส่วนขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากโจทก์เป็นผู้ก่อด้วยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ผลผูกพันจากคำพิพากษาคดีอาญาและหลักประมาท
คดีนี้โจทก์เป็นมารดาของผู้ตายในคดีอาญาจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาโดยเห็นว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุและมีส่วนประมาทมากกว่า คู่ความไม่ฎีกา คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 และตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาท การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดน้อยกว่าให้รับผิดในความเสียหายได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อความเสียหายจากเช็คปลอม หากพนักงานประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือปลอม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเช็คพิพาทเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่โจทก์ได้ เว้นแต่โจทก์จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008
การที่ อ. พนักงานจำเลยรับรองให้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็คเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่งตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในหนี้ที่เกิดจากการละเมิดแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223, 438 และ 442 การที่ ธ. พนักงานโจทก์ ทราบว่ามีคนร้ายงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานที่มีสมุดเช็คอยู่ในลิ้นชักแต่มิได้ตรวจสอบสมุดเช็คที่ตนมีหน้าที่เก็บรักษา นับว่า ธ. มิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเช็คเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันที เป็นเหตุให้ผู้ที่ได้เช็คพิพาทที่ถูกลักไปสามารถนำเช็คพิพาทซึ่งมีการปลอมลายมือชื่อและประทับตราปลอมไปเบิกเงินจากจำเลยได้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลย เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท (ต้นเงินตามเช็ค 200,000 บาท)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10388/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สี่แยกทางโทต้องหยุดรอทางเอก การคาดคะเนความเร็วรถผู้อื่นโดยไม่ปฏิบัติตามป้ายจราจร ถือเป็นความประมาท
ทางเดินรถของ ว. ลูกจ้างโจทก์เป็นทางโท รถในทางโทต้องยอมให้รถในทางเอกผ่านไปก่อนทั้งบริเวณสี่แยกเกิดเหตุมีป้ายจราจร "หยุด" ซึ่งบังคับให้รถในทางโทต้องหยุดรถเพื่อรอให้รถที่มาจากทางเอกผ่านพ้นสี่แยกไปก่อนจึงจะขับผ่านสี่แยกเกิดเหตุได้ แม้รถในทางโทจะมาถึงสี่แยกก่อนแต่ถ้าไม่สามารถขับผ่านสี่แยกไปด้วยความเร็วตามปกติและตามพฤติการณ์ในขณะนั้นได้โดยปลอดภัยแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามป้ายจราจรดังกล่าวโดยหยุดรถเพื่อรอให้รถในทางเอกผ่านไปก่อน ว. ซึ่งขับรถยนต์โดยสารประจำทางในทางโทที่มีป้ายจราจรหยุดจะคาดคะเนเอาเองว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกในทางเอกเห็นรถในทางโทมาถึงและใช้ทางแยกก่อนแล้ว จะต้องหยุดรถโดย ว. ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎและป้ายจราจรหาได้ไม่ การที่ ว. ขับรถผ่านเข้าไปในสี่แยกเกิดเหตุโดยคาดคะเนเอาเองว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชะลอและหยุดรถรอให้ ว. ขับรถผ่านไปก่อนย่อมเป็นการเสี่ยงภัยก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย ทั้งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎและป้ายจราจร ถือว่า ว. ประมาทเลินเล่อ เมื่อเกิดเหตุรถยนต์ชนกัน ว. จึงมีส่วนประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของร่วมมีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แม้จะมีการละเมิดสิทธิจากจำเลย การกระทำที่ไม่รับผิดชอบและส่อเจตนาเอาเปรียบเป็นเหตุไม่ให้กำหนดค่าเสียหาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกัน และเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.วิ.พ. ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้และตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการตรงกันข้ามพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 41 โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิในหนี้ค่าใช้จ่ายตามาตรา 18 ไว้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายนี้ แสดงว่าการบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการโดยใช้สิทธิทางศาล นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 13 วรรคหนึ่งด้วย จึงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบจะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินส่วนกลางของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการ
ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที 1 ข้อ 13 และข้อ 15 ที่มีข้อความในทำนองให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามหรืองดสิทธิการใช้ทรัพย์ส่วนกลางหรือกำหนดมาตรการหรือดำเนินการตามมาตรการได้นั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการเพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่ชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการห้ามหรือขัดขวางการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อบังคับให้เจ้าของร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แม้การจ่ายน้ำประปาไปยังให้องชุดของโจทก์ต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ผิดข้อตกลงในการซื้อน้ำประปา จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์
โจทก์ไม่จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพราะนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 นำเงินไปใช้จ่ายโดยพลการ โจทก์จะต้องว่ากล่าวดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้กระทำเช่นนั้นหรือให้ชำระค่าเสียหาย ไม่เป็นเหตุโดยชอบที่โจทก์จะอ้างขึ้นเพื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไม่นำพา ไม่รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคนที่ได้ใช้ทรัพย์ส่วนกลางเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกราย จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางเอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่ชอบและส่อไปในทางไม่สุจริตด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำการโดยไม่ชอบอันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาซื้อน้ำประปาต่อโจทก์ แต่โจทก์มีส่วนผิดกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริต ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3890/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารเปลี่ยนเช็คขีดคร่อมเป็นตั๋วแลกเงิน ละเมิดต่อผู้รับเช็ค เจ้าของเช็คมีส่วนผิด
เช็คขีดคร่อมและห้ามแปลี่ยนมือที่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก จะเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นได้ก็แต่เฉพาะเข้าบัญชีบัญชีของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตา 994 การที่ธนาคารจำเลยที่ 1 ผู้รับเช็คต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขอเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยแจ้งว่า การนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าเนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คประมาณ 2 สัปดาห์ และพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ 2 ขอ โดยเปลี่ยนเช็คดังกล่าวเป็นตั๋วแลกเงินจึงเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 สามารถนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนชำระค่าสินค้าของลูกค้ารายอื่นของโจทก์ แม้มีการนำเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์แล้ว แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของงวดเดือนใด ทั้งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าในงวดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. ชำระค่าสินค้าได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์เป็นผู้นำเสียเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ไปแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากจำเลยที่ 1 และแจ้งต่อพนักงานจำเลยที่ 1 ว่าตนเป็นพนักงานของโจทก์ และแจ้งว่าการนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าจนทำให้พนักงานของจำเลยที่ 1 เชื่อตามที่จำเลยที่ 2 แจ้ง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนที่ทำให้เกิดความเสียหายด้วยเนื่องจากไม่ดูแล ตรวจสอบและควบคุมการกระทำของจำเลยที่ 2 ให้ดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินหรือรับชำระด้วยเช็คจากลูกค้า กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถือได้ว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของโจทก์ผู้ต้องเสีหายประกอบด้วยตามป.พ.พ. มาตรา 442

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยความประมาทในคดีแพ่งหลังมีคำพิพากษาคดีอาญา ศาลแพ่งมีอำนาจพิจารณาความรับผิดชอบเพิ่มเติมได้
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ป.พ.พ. มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง มีข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของโรงเรียนต่อความเสียหายของนักเรียนจากการใช้ธนูในกิจกรรมเรียน ครูต้องดูแลความปลอดภัยนักเรียน
คำฟ้องคดีแพ่งคู่ความไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างในคำฟ้องเพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาได้ความเองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 คดีนี้โจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังนี้ ศาลมีอำนาจนำ พ.ร.บ. ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ได้
ธนูที่เกิดเหตุเป็นธนูที่ใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวัง คาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าธนูดังกล่าวอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะปรากฏว่ายังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะพึงปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ มิได้เป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย การที่จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียน ภ. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายได้ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาตาจำนวน 50,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลอื่นนำเงินมามอบให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่อาจนำเงินที่ทางโรงเรียน ภ. และจำเลยที่ 5 ช่วยเหลือโจทก์จำนวน 35,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวน 30,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด รวมทั้งที่โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเล่นยิงธนูใส่กันกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ก็มีส่วนรับผิดเช่นเดียวกันตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนรวมเป็นเงิน 80,000 บาท จึงไม่เป็นจำนวนที่สูงเกินความเป็นจริง
of 28