คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1195

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 85 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4469/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติประชุมใหญ่เจ้าของร่วม: สิทธิในการฟ้องร้องและการดำเนินการทางกฎหมายที่ถูกต้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้เข้าร่วมประชุมนิติบุคคลอาคารชุด ส. จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 โดยเจ้าของร่วมจำนวนมากที่มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมออกเสียงลงคะแนนแทนโดยใบมอบฉันทะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ผู้รับมอบฉันทะจึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทนได้ นอกจากนี้ลายมือชื่อเจ้าของร่วมที่เข้าร่วมประชุมทั้งสองครั้งตามบัญชีรายชื่อนั้นไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับการประชุมอย่างไรจึงไม่สามารถใช้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ การประชุมและการลงคะแนนตามมติที่ประชุมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายงานการประชุมใหญ่เป็นเท็จ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่ทั้งสองครั้ง และให้เพิกถอนรายงานการประชุมทั้งสองฉบับ ตามคำร้องดังกล่าวเท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการประชุมใหญ่สามัญดังกล่าวมีผู้มาประชุมซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมดตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 43 แต่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมที่ฝ่าฝืนนั้นแต่อย่างใด จึงต้องวินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีเจ้าของร่วมร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ไม่มีลักษณะเป็นการประชุมกันจริง เช่นนี้ การประชุมดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการประชุมใหญ่สามัญของเจ้าของร่วมซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดในวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 แต่ต้องถือว่าการประชุมใหญ่สามัญของนิติบุคคลอาคารชุดมิได้เกิดขึ้นจริงและไม่มีการประชุมกันจริง คงมีเพียงการลงมติซึ่งนำไปใช้อ้างต่อนายทะเบียนเพื่อใช้ในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวจึงมิใช่การร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ต้องขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ เมื่อวินิจฉัยว่า กรณีไม่ใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมตามมาตรา 1195 การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องของผู้ร้องไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ประการใด ผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติที่ประชุมเจ้าของร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องคืนเงินและดอกเบี้ย
การอยู่ร่วมกันของเจ้าของร่วมในอาคารชุดเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นโดยการรวมตัวของบุคคลที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ จำต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในการรับบริการส่วนรวมและการใช้ประโยชน์ร่วมกันในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมโดยมีนิติบุคคลอาคารชุดบริหารจัดการตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 33 ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดตามมาตรา 38 (1) ให้ดำเนินไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด โดยอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามมาตรา 42/1 หรือการประชุมใหญ่วิสามัญตามมาตรา 42/2 ในกิจการปกติ มติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม ส่วนกิจการที่มีความสำคัญ มติที่ได้รับความเห็นชอบต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด กรณีคะแนนเสียงไม่ครบกึ่งหนึ่งและมีการเรียกประชุมใหม่ตามมาตรา 48 วรรคสอง การเข้าร่วมประชุมจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของร่วมที่ต้องให้ความร่วมมือโดยเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือ ให้ความคิดความเห็น เสนอแนะ และร่วมตัดสินใจลงมติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็วอันจะให้กิจการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปโดยเรียบร้อย กรณีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการนัดเรียกหรือการนัดประชุมหรือการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจึงต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็วเพื่อให้กิจการของนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้าของร่วม เมื่อไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 บังคับใช้โดยเฉพาะแก่การนัดเรียกหรือการประชุมหรือการลงมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. หมวด 4 บริษัทจำกัด ซึ่งบัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้น ถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น" มาใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง จึงนับว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหานิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย แต่การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับกรณีการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้นั้นต้องเป็นกรณีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ดังนี้ กรณีการลงมติในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันตามข้อบังคับซึ่งเป็นกิจการตามมาตรา 48 (5) หากมติของที่ประชุมไม่ได้รับความเห็นชอบโดยได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดในการประชุมเจ้าของร่วมครั้งแรก กระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยจะต้องมีการเรียกประชุมเจ้าของร่วมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อนและต้องมีการลงมติกันใหม่อีกครั้ง ได้ความตามรายงานประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2558 ถึงปี 2560 ว่าในการประชุมใหญ่สามัญของแต่ละปีมีการลงมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าเป็นการจัดเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แต่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญกลับมิได้เรียกให้มีการประชุมใหม่เพื่อให้เจ้าของร่วมลงมติกันใหม่อันเป็นขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง การเรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวจึงยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย มติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนจึงสิ้นสภาพไปโดยที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องร้องขอให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แต่อย่างใด จำเลยไม่อาจถือเอาประโยชน์จากมติดังกล่าวมาเรียกให้โจทก์เจ้าของร่วมชำระเงินเพิ่มได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้แก่จำเลยคืนได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำ ป.พ.พ. มาตรา 1195 มาวินิจฉัยแก่คดีโดยวินิจฉัยว่าเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือเจ้าของร่วมร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ มติของที่ประชุมใหญ่นั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา การที่จำเลยเรียกเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดตามฟ้องแก่โจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนต้องเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ห้ามผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียออกเสียง และมติพิเศษต้องเป็นไปตามกฎหมาย
การลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทสามารถกระทำได้ แต่การลงมติในการประชุมใหญ่ต้องกระทำให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการประชุมใหญ่ ในการลดทุนโดยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 25 บาท ผู้ถือหุ้นทุกรายจะต้องถูกลดมูลค่าหุ้นที่ได้ชำระแล้วในจำนวนที่เท่ากัน แต่ในส่วนของหุ้นที่ยังชำระไม่เต็มมูลค่าหุ้นโดยชำระเพียง 25 บาท การลดทุนจดทะเบียนโดยการลดมูลค่าหุ้นในหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นที่ไม่เท่ากันนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นไม่เท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วจะสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 75 บาท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นไปเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน จะลดมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้วจาก 25 บาท เป็นชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 6.25 บาท และผู้คัดค้านเรียกให้ชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนอีกเพียงหุ้นละ 18.75 บาท เท่ากับผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน สูญเสียเงินลงทุนไปเพียงหุ้นละ 18.75 บาท อันเป็นจำนวนที่ต่างกันมาก ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าหุ้นก่อนลดทุน และการขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นแล้วก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุนผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้นต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นทุกรายชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนค่าหุ้นเสียก่อนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่จะต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น กรณีเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัท ท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่าเพียงรายเดียวโดยชำระเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนการลดทุน เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมติพิเศษในการประชุมนี้เพียงรายเดียว บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ จึงต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1185 เมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้ว มติดังกล่าวก็ไม่ใช่คะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 1194 มติดังกล่าวจึงไม่เป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามมาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระพิจารณาลดทุนจดทะเบียนและพิจารณาแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585-586/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสิ้นสุดเมื่อผู้ถือหุ้นถูกริบหุ้นและบริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
ขณะยื่นคําฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นโจทก์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยจัดประชุมเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แย่งสิทธิการถือหุ้นและอำนาจบริหารของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ แต่เมื่อระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เนื่องจากโจทก์ค้างชําระค่าหุ้น ต่อมาโจทก์ได้ขอรับเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือจากการขาดทอดตลาดแล้ว และคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยและกรรมการจำเลยว่าร่วมกันลักทรัพย์โดยการริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดและนําหุ้นดังกล่าวออกขายทอดตลาดและรับของโจร ศาลฎีกามีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยและกรรมการจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยอีกต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้วก่อนที่จะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จึงถือว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหมดลง
นอกจากนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 โดยขอให้ใช้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดเดิมก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการชุดเดิมซึ่งถูกแต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงหมดสภาพไปแล้วเนื่องจากจำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และได้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว คําขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคําขอท้ายฟ้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น: ผู้รับมอบฉันทะต้องมีสถานะผู้ถือหุ้น
ตามข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมได้ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและได้รับเลือกจากที่ประชุมในขณะนั้นให้เป็นประธาน พ. ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่ได้รับมอบฉันทะจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โดยตามหนังสือมอบฉันทะระบุว่า ให้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนผู้คัดค้านที่ 2 พ. จึงมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนตามที่ได้รับมอบฉันทะเท่านั้น ไม่มีอำนาจกระทำการอื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวหาทำให้ พ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดไม่ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสถานะเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นแทนได้ การที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเลือก พ. เป็นประธาน แล้ว พ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นย่อมขัดต่อข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจทำให้การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการประชุมและลงมติโดยไม่ชอบ จึงต้องเพิกถอนการลงมติในการประชุมครั้งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น: องค์ประชุม, มติซ้ำซ้อน, และผลกระทบจากคดีความอื่น
การที่จำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับหรือให้อำนาจให้เอาลงไว้ในทะเบียนเพื่อพิจารณาและลงมติในเรื่องกิจการของบริษัทจึงชอบแล้วในเบื้องต้น โจทก์จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยอ้างเพียงเหตุไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นมติที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ส่วนมติในการประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้จะซ้ำซ้อนกับมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งก่อนหรือไม่อย่างไร ก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะต้องถือเอามติครั้งล่าสุดที่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทมาใช้บังคับ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คำฟ้องโจทก์ที่อ้างเหตุข้างต้นจึงไม่มีมูล และไม่มีเหตุที่จะนำวิธีคุ้มครองตามคำร้องของโจทก์มาใช้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุด, การค้างชำระค่าส่วนกลาง, สิทธิในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล, และระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้อง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ผู้จัดการและคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีจัดการบริษัทจำกัด เหตุนี้จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1195 มาใช้บังคับเช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติให้การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลายเมื่อโจทก์ทั้งสิบสองต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดของตนในอาคารชุดซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 โจทก์ทั้งสิบสองย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนตาม ป.พ พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามมติเจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่ การที่จำเลยที่ 1 จะไม่ส่งมอบบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสิบสองเสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ทั้งสิบสอง จึงไม่อาจกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกหมู่บ้านจัดสรรต้องยื่นคำร้องภายใน 30 วัน มิฉะนั้นขาดสิทธิฟ้อง
การร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ผู้คัดค้านมีข้อบังคับกำหนดเวลาให้สมาชิกต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลงมติดังกล่าว เมื่อตามคำร้องขอของผู้ร้องมีการกล่าวอ้างว่าการลงมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกสามัญของผู้คัดค้านได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้คัดค้านโดยมีคำขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมตินั้น เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนนั้นมีการลงมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 จึงพ้นกำหนดเวลาที่จะร้องขอต่อศาลตามข้อบังคับดังกล่าว ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวและปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9127/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงวาระการประชุมและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่ที่ประชุมมีมติด้วยเสียงข้างมากอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวาระการประชุมวาระที่ 3 จากเดิมที่ว่า "พิจารณาการแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" เป็นว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม และกำหนดอำนาจกรรมการ" ซึ่งวาระการประชุมที่เปลี่ยนแปลงใหม่เหมือนกับวาระการประชุมเดิมเฉพาะในส่วนที่ว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" ส่วนวาระที่เปลี่ยนแปลงใหม่ที่ไม่ตรงกับวาระการประชุมวาระที่ 3 เดิม คือ แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม ซึ่งการประชุมที่เพิ่มเติมเป็นวาระการประชุมที่กำหนดเร่งด่วนกะทันหัน มิได้เป็นวาระที่กำหนดไว้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จึงเป็นวาระการประชุมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1175 วรรคสอง ที่ว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่วัน เวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน เมื่อมีการประชุมตามวาระนั้นและมีมติแต่งตั้งกรรมการใหม่ จึงเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ที่เกิดจากการประชุมใหญ่ที่ได้มีการนัดเรียกประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น และแม้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจะกำหนดวาระการประชุมวาระที่ 6 ว่าพิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ไว้ด้วยก็ตาม ที่ประชุมใหญ่ก็ไม่อาจอ้างวาระดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเรื่องแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมได้เนื่องจากวาระการประชุมที่ว่า พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการบริหารกิจการบริษัทแต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย สัพเพเหระมากกว่าที่สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดล่วงหน้า แต่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมเป็นเรื่องสำคัญของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทควรจะได้ใช้เวลาคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนวันประชุม หากที่ประชุมใหญ่ใช้วาระดังกล่าวเพื่อประชุมลงมติเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมก็อาจจะเป็นการจู่โจมผู้ถือหุ้นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นและบริษัทได้ มติของที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นเฉพาะในส่วนที่แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมขึ้นมานั้นเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แล้ว มติที่ประชุมใหญ่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติที่ประชุมอาคารชุดเป็นโมฆะ หากมีการมอบฉันทะให้ผู้มีข้อจำกัดออกเสียง และการนับระยะเวลาฟ้องร้องเริ่มจากวันยื่นคำร้องเดิม
ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดระบุว่า กรณีใดมิได้ตราไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รวมถึงกฎหมายอาคารชุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้า ตลอดจนบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดมิได้มีบทบัญญัติให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งกรณีนี้ได้แก่มาตรา 1176 และมาตรา 1195 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การมอบฉันทะให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นกรณีที่การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเป็นการประชุมซึ่งมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1176 การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและการลงมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมย่อมเสียไปทั้งหมด หาใช่มีผลเพียงไม่นับการออกเสียงลงคะแนนของ อ. เป็นองค์ประชุมและคะแนนที่จะใช้ลงมติไม่
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำร้องเดิม การนับกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 ต้องนับถึงวันยื่นคำร้องเดิม มิใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล คำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในกำหนดเวลาตามกฎหมาย
of 9