คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 83 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446-2528/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลา: การคำนวณค่าจ้างและขอบเขตการพิจารณาของศาลแรงงาน
เงินค่าเที่ยวที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในคดีนี้เป็นค่าจ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 สาระสำคัญของค่าจ้างจะต้องเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติหรือในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันรวมถึงไม่ได้โต้แย้งกันว่า จำเลยประกอบกิจการขนส่งสินค้า โจทก์ทั้งแปดสิบสามทำหน้าที่ขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลย โจทก์ทั้งแปดสิบสามได้รับค่าตอบแทนการทำงานสองส่วน คือ ค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำ และค่าเที่ยวที่จ่ายโดยคำนวณตามผลงานที่ขับรถไปส่งสินค้า ค่าเที่ยวที่จำเลยกำหนดเป็นเงินที่จำเลยจ่ายโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการทำงานที่โจทก์แต่ละคนที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติด้วย จึงเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะงานและค่าตอบแทนที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามได้รับ ตลอดจนปัจจัยที่จำเลยใช้เป็นฐานในการกำหนด อันเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาว่า ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ไม่ต้องจำต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงใหม่เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอีก ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นว่าค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือเป็นค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ และให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อปัญหานี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาโดยศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาในส่วนนี้ใหม่
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 กำหนดว่า ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง ข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และวรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร และข้อ 6 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว แสดงว่า ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะในงานขนส่งทางบกมีเวลาทำงานปกติไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และนายจ้างอาจให้ลูกจ้างดังกล่าวทำงานล่วงเวลาโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม แม้นายจ้างให้ลูกจ้างดังกล่าวทำงานล่วงเวลาเกินวันละ 2 ชั่วโมง ไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 3 วรรคสอง แต่เมื่อลูกจ้างยินยอมทำงานล่วงเวลาเกินวันละ 2 ชั่วโมง ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำทุกชั่วโมงตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6 มิใช่ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเพียง 2 ชั่วโมง
งานที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามต้องปฏิบัติให้แก่จำเลย คือ การขับรถบรรทุกสินค้าไปส่งสินค้าแก่ลูกค้าของจำเลย จำเลยจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวแก่โจทก์ทั้งแปดสิบสาม ค่าเที่ยวจ่ายตามผลงานที่ทำได้คำนวณตามระยะทางที่ขับรถไปส่งสินค้าและระยะเวลาในการขับรถ และจ่ายให้เป็นรายเที่ยวในลักษณะเป็นหน่วยการทำงานในแต่ละหน่วย ดังนั้น หากโจทก์แต่ละคนขับรถยนต์บรรทุกสินค้าไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าเป็นเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง ค่าเที่ยวในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และหากโจทก์แต่ละคนขับรถยนต์บรรทุกสินค้าไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยโดยใช้เวลามากกว่า 8 ชั่วโมง ระยะเวลาการขับรถในส่วนที่เกิน 8 ชั่วโมง นั้น โจทก์แต่ละคนย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6 สำหรับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในกรณีนี้ ต้องถือเกณฑ์ค่าจ้างทั้งส่วนที่เป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวเฉลี่ยต่อชั่วโมงรวมกัน โดยคำนวณจากเงินเดือนหารด้วย 30 แล้วหารด้วย 8 อีกครั้งหนึ่ง จะเป็นอัตราค่าจ้างในส่วนของเงินเดือนเฉลี่ยต่อชั่วโมง และคำนวณจากค่าเที่ยวแต่ละเที่ยว หารด้วยจำนวนชั่วโมงที่ขับรถในเที่ยวนั้น จะเป็นอัตราค่าจ้างที่เป็นค่าเที่ยวตามผลงานในเวลาทำงานปกติเฉลี่ยต่อชั่วโมงของวันนั้น ซึ่งโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าเที่ยวส่วนที่เป็นค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงคูณด้วย 8 และค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในแต่ละวันเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงคูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่เกินกว่า 8 ชั่วโมง แม้จำเลยมีข้อกำหนดเรื่องการจ่ายค่าเที่ยวซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า จำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและวันหยุดเป็นการเหมาจ่ายตามอัตราและหรือข้อกำหนดตามเงื่อนไขของแต่ละหน่วยงานที่ได้กำหนดไว้ โดยคำนวณจากปริมาณเที่ยววิ่งรถที่โจทก์แต่ละคนได้ปฏิบัติงานจริงในแต่ละรอบหรือเดือนก็ตาม แต่เมื่อค่าเที่ยวส่วนหนึ่งเป็นค่าจ้าง โจทก์แต่ละคนยังมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หากคำนวณตามวิธีการที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ปรากฏว่าเมื่อหักค่าเที่ยวที่เป็นค่าจ้างออกแล้ว คงเหลือค่าเที่ยวที่เป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติซึ่งโจทก์แต่ละคนได้รับไปแล้วน้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6 โจทก์แต่ละคนย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ประกอบกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามนิยาม "ค่าจ้าง" ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นายจ้างจะกำหนดวางระเบียบหรือตกลงให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ การที่จำเลยกำหนดให้เงินค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนเฉพาะการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและวันหยุดเท่านั้น จึงขัดแย้งกับนิยาม "ค่าจ้าง" ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่มีผลบังคับผูกพันโจทก์ทั้งแปดสิบสามผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งแปดสิบสามอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่โจทก์ทั้งแปดสิบสามหรือไม่ เพียงใด ต้องได้ความว่า โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าเที่ยวซึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์แต่ละคนทำได้ในเวลาทำงานปกติแต่ละวันเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด โจทก์แต่ละคนทำงานแต่ละวันเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ กี่ชั่วโมง มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ เพียงใด และจำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติเพิ่มเติมให้แก่โจทก์แต่ละคนอีกหรือไม่ เพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนที่จะพิจารณาพิพากษาเรื่องค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่โจทก์แต่ละคนได้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมมีอำนาจสั่งให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง
of 9