คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ นิชโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 43 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3151/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส และการวินิจฉัยความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่า
พวกของจำเลยทั้งสามรุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง โดย ณ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจตนาของจำเลยที่ 2 เป็นคนละเจตนากับ ณ. ที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 โดยมีเจตนาฆ่า ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นหรือคบคิดกับ ณ. ในการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดในผลของการกระทำของ ณ. เมื่อตามผลการชันสูตรบาลแผลไม่ปรากฏบาดแผลจากการใช้อาวุธปืนตี คงมีเฉพาะบาดแผลที่ถูกแทง และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่การจากการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเครื่องกระสุนปืน การริบทรัพย์สิน และความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเพื่อการค้า
เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 ส่วน ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยประกาศขายเครื่องกระสุนปืนให้ผู้สนใจทราบ แล้วจำเลยจัดส่งเครื่องกระสุนปืนให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อและได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง สมควรให้ริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองสำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาจ้างก่อสร้าง: สัญญาอนุญาโตตุลาการยังใช้บังคับได้ แม้สัญญาหลักเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ" ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินของเกษตรกรเช่าเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์โดยมิชอบตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบ โดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก. ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวัน และถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก. ตำบล ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้" และมาตรา 54 วรรคแรก บัญญัติว่า "ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนไปยังผู้ใด ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเช่าที่ดินอันจะได้รับความคุ้มครองนั้นจะต้องเป็นการเช่าที่ดินระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าโดยกำหนดวิธีการที่ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติว่า ผู้ให้เช่านาจะขายที่นาได้ก็ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายที่นาพร้อมทั้งระบุราคาที่จะขาย และวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธานคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สิทธิผู้เช่านาที่จะซื้อที่นาได้ก่อนบุคคลอื่นและหากผู้ให้เช่านามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าที่นานั้นจะโอนไปยังผู้ใด ผู้เช่านาย่อมมีสิทธิซื้อที่นาจากผู้รับโอนนั้นได้ตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนรับซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมกับธนาคาร ก. แล้วผิดนัดชำระหนี้ จึงถูกธนาคาร ก. ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9154/2542 และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. ได้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคาร ก. ระหว่างพิจารณาคดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งอายัดที่ดิน โดยห้ามมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลซื้อหรือมีผู้สนใจประมูลซื้อในราคาต่ำกว่าราคาที่พึงจะได้รับ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจึงรับโอนที่ดินพิพาทในราคา 28,868,000 บาท ซึ่งไม่น้อยกว่าราคาที่พึงจะได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่าย ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ต่อมาผู้ชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้นให้แก่กระทรวงการคลัง เพื่อการบริหารจัดการสินทรัพย์ หนี้สินและทรัพย์สินที่คงเหลือของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 19 และในวันเดียวกันกระทรวงการคลังได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ที่ดินพิพาทตกมาเป็นของผู้คัดค้านมิได้เกิดจากการขายที่ดินพิพาทของ ส. แต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยชอบ และจะถือว่า ส. มิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 วรรคแรก อันจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านนั้นตามมาตรา 54 วรรคแรกหาได้ไม่ แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำแขวงลำผักชี จะมีมติเห็นชอบให้ผู้ร้องมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากผู้รับโอนได้ก็ตาม ก็หามีผลให้ผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวแต่ประการใดไม่ ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำแขวงลำผักชีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ (ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์) ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานอื่นประกอบเมื่อไม่สามารถตัวพยานเบิกความได้ในคดีข่มขืน
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 บัญญัติว่า "ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้" ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นมาประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกผู้เสียหายและ ม. หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้เสียหายและ ม. มาเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับผู้เสียหายและ ม. แต่โจทก์ก็ไม่ได้ตัวมาสืบ ทั้งเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเป็นเวลา 10 ปีเศษแล้ว จึงเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามผู้เสียหายและ ม. มาเป็นพยานได้ประกอบกับโจทก์ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์แล้วพบว่า ผู้เสียหายเปลี่ยนจากชื่อเดิมเป็น ป. ส่วน ม. ไม่พบข้อมูล อีกทั้งโจทก์ยังได้แถลงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของผู้เสียหายและ ม. เพิ่มเติม จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายและ ม. มาเบิกความต่อศาลได้ ถือว่ากรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายและ ม. ที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อต่างด้าว ไม่ถือว่าช่วยเหลือพ้นการจับกุม
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ที่บ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพิ่ม แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมและไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7687/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีก่อสร้างเกินคำขอ: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามผลงานและข้อตกลง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าจ้างก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าสำหรับงานในงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ค่างานก่อสร้างในงวดที่ 2 โจทก์ได้รับชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว ทั้งโจทก์มิได้เรียกค่าก่อสร้างและมีคำขอให้จำเลยชำระค่างานในงวดที่ 3 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 2 และที่ 3 บางส่วนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5061/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 3-4 ไม่รู้เห็นการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 แม้จะอยู่ในเหตุการณ์ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 65 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ให้ประหารชีวิต เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำคุกตลอดชีวิต และลงโทษปรับ 2,400,000 บาท ด้วยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโทษที่วางก่อนกำหนดโทษใหม่ไม่มีโทษปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด (เมทแอมเฟตามีน) ความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ การคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์ และการปรับบทลงโทษ
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ให้แก่ อ. แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.3 โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 มาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.376 กรัม อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง และเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในข้อ 1.3 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง และตามรายงานการตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลาง ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้าน เมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ของกลาง ตรวจพบปริมาณเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.376 กรัม ซึ่งเป็นการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนมาตรวจพิสูจน์หาปริมาณสารบริสุทธิ์แล้ว เมื่อเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ของกลาง เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ได้เช่นเดียวกันว่า คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป โดยไม่มีข้อสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวอาจมีส่วนผสมที่แตกต่างกับเมทแอมเฟตามีนส่วนอื่นที่จะทำให้ปริมาณสารบริสุทธิ์คำนวณได้ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป กรณีจึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ได้ ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง โดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง
of 5