คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พีรศักดิ์ ไวกาสี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 65 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยอ้างเหตุใหม่ในชั้นฎีกา และคำฟ้องไม่เคลือบคลุม
แม้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุโดยตรงว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 2 ก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 รับว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 9160 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดในขณะมีการขับเคลื่อนรถยนต์ แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดในขณะขับรถ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด กรณีตามคำให้การดังกล่าว จำเลยที่ 2 หาได้หลงต่อสู้ไม่ คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 อ้างทำนองว่า ถังสีตกมาจากด้านบนของตึก จำเลยที่ 2 ก็เพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เกี่ยวกับความเสียหายที่อ้างว่าโจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง จำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งให้ชัดแจ้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามจำนวนเงินค่าซ่อมตามที่โจทก์มีใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานนั้น ค่าซ่อมรายการใดที่ไม่จำเป็น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาที่กล่าวมาจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องในส่วนใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลใด ทั้งยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้าง หาได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีละเมิดและประกันภัย: โจทก์ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อมีอำนาจฟ้องและฟ้องคดีซ้ำได้หากเป็นคนละฐาน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์ซึ่ง ช. ผู้เป็นเจ้าของเอาประกันภัยไว้กับจำเลย ช. ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์จนได้รับความเสียหาย โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ที่ ช. ขับให้รับผิดในค่าซ่อมรถยนต์ ช. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยก็ยอมรับว่าเป็นผู้ประมาท แต่จำเลยเพิกเฉย ตามคำฟ้องดังกล่าว โจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนแล้ว ทั้งตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็สนับสนุนข้ออ้างที่โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประจักษ์ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ในฐานะตัวการไม่เปิดเผยชื่อให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทน หลังเกิดเหตุ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดแก่โจทก์จนมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน ซึ่งโจทก์เป็นผู้ชำระเงินดาวน์และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อได้แสดงตนแล้ว และกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อเช่นโจทก์ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798
คดีก่อน ป. ฟ้อง ช. และจำเลยเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้คดีดังกล่าวเป็นเรื่องละเมิดและประกันภัยอันเป็นมูลกรณีเดียวกับคดีนี้ แต่โจทก์ดำเนินคดีดังกล่าวในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ป. เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เสียหายโดยให้ ป. ทำสัญญาเช่าซื้อแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัวต่างจากคดีเดิมที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ จึงมิใช่โจทก์คนเดียวกันกับโจทก์คดีเดิม ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีเดิม
ในคดีเดิมศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว และปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีจึงยุติไปด้วยการถอนฟ้องของโจทก์ กรณีหาได้มีการดำเนินคดีต่อจำเลยในหนี้เดียวกันทั้งสองคดีไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกและการตรวจสอบโดยศาล
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ศาลเป็นเพียงผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อยเท่านั้นส่วนวิธีการจัดการเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงย่อมมีสิทธิและอำนาจในการนำที่ดินบางส่วนของทรัพย์มรดกไปจดทะเบียนให้เช่าเองได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากศาล แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องดำเนินการให้เช่าที่ดินบางส่วนของทรัพย์มรดกจะเป็นคำสั่งที่เกินเลยประเด็นแห่งคดีก็ตาม แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้คัดค้านที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น หากผู้คัดค้านเห็นว่าตนเองได้รับความเสียหายจากการจัดการมรดกของผู้ร้อง ผู้คัดค้านชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องให้ผู้ร้องรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อฉลทำสัญญาประกันชีวิต สัญญาตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนเงิน
จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13566/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ตรงกัน ศาลฎีกาพิพากษายกกลับคำวินิจฉัยเดิม
จำเลยที่ 1 เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเป็นบุคคลคนเดียวกับคริสตจักรในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งเป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจหรือมีพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เอาไปขายให้โจทก์ จึงเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ไม่มีผล โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท ดังนั้น โจทก์จะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาบังคับขับไล่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองให้ออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เนื่องจากที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองครอบครองใช้ประโยชน์อยู่โดยมีสิทธิ ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองจึงสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942-10943/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาเช่าและการชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ความรับผิดของผู้เช่าและผู้ให้เช่า
แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10665/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสาธารณูปโภค ผู้จัดสรรต้องจัดทำตามโฆษณา และภาระจำยอมเกี่ยวกับสาธารณูปโภค
จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในโครงการกับผู้ซื้อพร้อมกับแจกใบโฆษณาให้แก่ผู้ซื้อด้วย ใบโฆษณาจึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายด้วย จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาโดยจัดทำสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้ได้ขนาดตามที่ได้โฆษณา
ใบโฆษณาที่ระบุว่า คันดินกั้นน้ำล้อมรอบที่ดินในโครงการสูง 3.50 เมตร (สูงกว่าระดับทางหลวงสายเอเซีย 1.50 เมตร) กว้าง 16 เมตร ปลูกก่อไผ่เป็นรั้วล้อมรอบตามแนวคันดินกั้นน้ำ ประกอบกับหนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัด ที่ระบุว่า หากทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบที่ดินในโครงการสูง 3.50 เมตร กว้าง 16 เมตร จะไม่มีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ซื้อแปลงอื่น ๆ เนื่องจากเขตคันดินที่เจ้าของโครงการจัดแบ่งที่ดินไว้มีขนาดกว้างประมาณ 20 ถึง 30 เมตร ดังนั้น จึงอยู่ในวิสัยและความรับผิดที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบที่ดินโครงการให้ได้ขนาดตามที่ได้โฆษณาไว้ในใบโฆษณา ส่วนถนนสายใหญ่และถนนซอยในโครงการนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากเจ้าพนักงานที่ดินตอบในหนังสือฉบับเดียวกันว่า หากจะขยายถนนสายใหญ่และถนนซอยกว้างประมาณ 40 เมตร และ 20 เมตร ตามลำดับ จะทำให้รุกล้ำที่ดินของผู้ซื้อรายอื่น ๆ การจะบังคับให้จำเลยขยายถนนสายใหญ่และถนนซอยให้มีขนาดกว้างตามใบโฆษณาย่อมกระทบต่อขนาดที่ดินของผู้ซื้อที่ดินในโครงการซึ่งผู้ซื้อที่ดินแต่ละรายได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัดและทำประโยชน์ในที่ดินเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว กรณีเช่นนี้ถือว่าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องที่จะบังคับให้จำเลยทำเช่นนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องขยายถนนให้มีขนาดกว้างตามใบโฆษณา
จำเลยได้รับอนุญาตให้ทำการค้าที่ดินตามหนังสืออนุญาต โดยจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป และมีการทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบที่ดินในโครงการ ถนนและทะเลน้ำจืดในโครงการ ตามแผนผังการแบ่งแยกที่ดิน มีลักษณะเป็นการจัดให้มีสาธารณูปโภค ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และโดยผลของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวในข้อ 30 วรรคหนึ่ง ทำให้คันดินกั้นน้ำล้อมรอบที่ดินในโครงการ ถนน และทะเลน้ำจืดในโครงการตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป จะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ จำเลยผู้จัดสรรที่ดินย่อมตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยจะไม่ได้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินก็ตามเพราะเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อที่ดินที่เป็นคันดินกั้นน้ำล้อมรอบที่ดินในโครงการ ถนน และทะเลน้ำจืดในโครงการตกเป็นภาระจำยอมแก่ผู้ซื้อที่ดินในโครงการ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ เนื่องจากจากการจดทะเบียนภาระจำยอมถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิทำกำแพงล้อมรอบทะเลน้ำจืดเพราะเป็นการผิดสัญญา และยังเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตาม มาตรา 1390

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 กรณีผู้ขับขี่ทำละเมิด และขอบเขตการงดสืบพยาน
แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5991/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อฟื้นคดีอาญาซ้ำหลังคำสั่งถึงที่สุด และการไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำร้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องถึงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องฟัง ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง, 18 และ ป.วิ.พ. มาตรา 147 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ผู้ร้องยังคงยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เป็นครั้งที่สอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 18 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (7) ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ผู้ร้องยื่นครั้งที่สองและส่งสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อให้วินิจฉัยคำร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะคดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงประมูลทรัพย์สินรวม: สิทธิและความรับผิดของผู้ประมูลได้เมื่อไม่วางเงิน
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งอีกสำนวนให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยให้ตกลงแบ่งระหว่างกันก่อน หากตกลงไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันโดยให้ฝ่ายที่เสนอราคาสูงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งหมด หากตกลงประมูลระหว่างกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยที่ประชุมตกลงเงื่อนไขให้ผู้ประมูลทรัพย์ต้องวางเงินร้อยละ 5 ของราคาที่ประมูลได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประมูล หากไม่วางเงินส่วนที่เหลือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้ แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้ ข้อตกลงในการประมูลนี้ถือเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกันอันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีผลใช้บังคับได้ สำหรับความรับผิดของผู้ประมูลได้ที่ไม่ชำระเงินก้อนแรก ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่ บทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้คงมีเพียงมาตรา 516 เมื่อฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงในการประมูล ซึ่งไม่มีสภาพบังคับ โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
คดีนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ แล้วฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
of 7