คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1648.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2492 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมไม่ชัดเจนผู้รับทรัพย์ ศาลฎีกาตัดสินตามเจตนาผู้ทำพินัยกรรม โดยพิจารณาจากข้อความรวม
ทำพินัยกรรม์ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ แต่ข้อความในพินัยกรรมไม่ได้ระบุชื่อผู้รับทรัพย์โดยชัดเจน คงระบุไว้ในข้อ 1 ว่า "ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่ผู้ที่ได้ระบุนามไว้ในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินที่กำหนดไว้ ดั่งต่อไปนี้คือ......." ความต่อไปกล่าวถึงรายการทรัพย์ไม่ได้ระบุชื่อใคร ในข้อ 2 มีความว่า "ข้าพเจ้าขอตั้งเด็กชายสมบุญ เด็กชายบุญนาค เด็กหญิงสงวน เด็กชายสง่า (บุตรนางเย็นโจทก์) ฉะเพาะทรัพย์หมายเลข 1 - 2 คือนา 2 แปลงตามฟ้อง นางเย็น พาณิชย์ ฉะเพาะเลขที่ 3 - 4 (คือเรือนและเรือ) จัดการมฤดกของข้าพเจ้า......." ดังนี้ ย่อมหมายความว่า ยกทรัพย์หมายเลข 1 - 2 ให้แก่เด็ก 4 คน และยกทรัพย์หมายเลข 3 - 4 ให้แก่นางเย็นและพินัยกรรมข้อ 2 เรื่องตั้งผู้จัดการมฤดกนั้นเป็นแบบพิมพ์ ซึ่งลืมขีดฆ่าข้อความดังกล่าว ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมนี้ปราศจากผู้รับทรัพย์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2492 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพินัยกรรม: เจตนาของผู้ทำพินัยกรรมสำคัญกว่ารูปแบบเอกสาร
พินัยกรรม์ต้องเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1646 แม้เอกสารจะใช้คำว่า พินัยกรรม์และข้อความในตอนต้นอาจมีทางพอจะตีความว่าได้เป็นพินัยกรรม์ก็ดี แต่เมื่ออ่านข้อความตอนอื่นประกอบแล้ว เห็นว่าผู้ตายหาได้มีเจตนาจะทำพินัยกรรม์ไม่ หากเป็นหนังสือสัญญาซึ่งทำไว้แก่ฝ่ายสาว เวลาที่ผู้ตายจะได้จำเลยเป็นภริยาเท่านั้น การที่ผู้ตายเขียนคำว่า ขอทำพินัยกรรม์ ในตอนต้นจึงเป็นการใช้ถ้อยคำผิดดังนี้ เอกสารเช่นว่านั้น จึงไม่ใช่พินัยกรรม์
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า จำเลยไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องในกองมฤดกของผู้ตาย และห้ามมิให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องในการรับมฤดกของผู้ตาย คำขอไม่ให้เกี่ยวข้องนี้กว้างมาก หากศาลพิพากษาห้ามดังโจทก์ขอแล้ว อาจไปกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องร้องกันนี้ก็ได้ ฉะนั้นศาลจึงพิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกองมฤดกของผู้ตาย ในฐานะเป็นผู้รับมฤดก ส่วนคำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากเรือนซึ่งเป็นกองมฤดกของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน.