คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปริญญา ดีผดุง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีลิขสิทธิ์: แยกพิจารณาคดีแพ่งและอาญาตามกฎหมายลิขสิทธิ์และประมวลกฎหมายอาญา
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17870/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน การใช้ก่อนยื่นขอจดทะเบียน และเงื่อนไขการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานแล้ว โดยที่จำเลยร่วมได้ระบุในคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมขอถือเอาคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยเป็นคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยร่วมส่วนหนึ่งด้วย ในระหว่างพิจารณาจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่าไม่ถูกต้องประการใด ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1. ว่า เครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 654920 ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ตามคำขอเลขที่ 442167 และ 442168 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวในคำพิพากษาต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยร่วมไม่อาจโต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้อีกเพราะจำเลยร่วมไม่อาจใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วม และไม่อาจใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) และมาตรา 58 วรรคสอง การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมซึ่งได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมอยู่ที่คำว่า "VALENTINO" ซึ่งสะกดเหมือนกันทั้งเก้าตัวอักษร มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันว่า "วาเลนติโน" แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ตัวอักษรซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนคำดังกล่าวเป็นลายมือเขียน ส่วนคำนี้ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ และในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "Rudy" ต่อท้าย ส่วนในเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีบนคำว่า "VALENTINO" ซึ่งคำว่า "Rudy" กับตัวอักษร "V" ประดิษฐ์ในวงรีดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเท่านั้น มิใช่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานว่า "วาเลนติโน รูดี้" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเรียกขานว่า "วี วาเลนติโน" นับว่ามีสำเนียงเรียกขานคล้ายกันมากเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับที่จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 442167 และมีรายการสินค้าหลายรายการที่เหมือนกัน หากเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ซึ่งคล้ายกันมากกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วม ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อน ได้รับการจดทะเบียนและใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้าเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อน เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ไม่อาจได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 20
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้ขอจดทะเบียนไว้ก่อนตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อปรากฏว่า ว. เป็นผู้อนุญาตให้โจทก์นำชื่อตัวและชื่อสกุลของตนมาใช้เป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2518 การที่โจทก์นำคำว่า "VALENTINO RUDY" มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายซึ่งเป็นสินค้าในจำพวก 25 จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต และปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าว่า โจทก์ได้อนุญาตให้บริษัท บ. ในประเทศไทยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" กับสินค้าในจำพวก 25 ที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "VALENTINO RUDY" ในลักษณะที่เป็นลายมือชื่อ โดยบริษัท บ. ได้ผลิตสินค้าเสื้อเชิ้ตบุรุษออกจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถึงประมาณ 3 ปีเศษ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยร่วมจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับสินค้าจำพวก 25 ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์โดยกำหนดเงื่อนไขและข้อกำจัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17869/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติผิดสัญญาใช้ลิขสิทธิ์หลังบอกเลิกสัญญา ศาลลดค่าเสียหายเบี้ยปรับที่ไม่สมเหตุสมผล
สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบ ข้อ 3.4 เกี่ยวกับการห้ามใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญาหรือได้รับแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้นั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานวรรณกรรมแบบเรียนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาข้อนี้จึงจำกัดเฉพาะงานที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 3.4 โจทก์จึงต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นใดของโจทก์ที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบกระทำการใดที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ชิ้นใดที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบใช้หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าว
สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ระบุว่า "เกิดกรณีที่ผู้อนุญาต (โจทก์) ยกเลิกสัญญา กับสาขาที่ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ทำการสอนอยู่ ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) สัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" ข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว ล. และ ด. จึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกและเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากจำเลยทั้งสิบซึ่งโจทก์อบรมให้ ข้อสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ดังกล่าว มิได้ห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบอาชีพครูโดยเด็ดขาดไม่ทำให้จำเลยทั้งสิบต้องรับภาระเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสิบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 มิได้เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ซึ่งได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนของโจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อจำเลยทั้งสิบยังคงเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ที่สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 กำหนดว่า "หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานที่จำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กำหนดค่าเสียหายในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 200,000 บาท เท่ากันทุกฉบับโดยไม่ได้พิจารณาลักษณะการกระทำและความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคน อีกทั้งจำเลยทั้งสิบประกอบวิชาชีพเป็นครูโดยทำงานอยู่กับ ล. และ ด. ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. การห้ามจำเลยทั้งสิบไม่ให้รับจ้างหรือทำงานกับ ล. และ ด. ต่อไปย่อมทำให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยทั้งสิบในการหางานด้วย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสิบจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาที่ทำกับโจทก์ การกำหนดให้จำเลยทั้งสิบต้องชำระเงินแก่โจทก์คนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เมื่อโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินคนละ 200,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกทางประกอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่ ล. และ ด. ก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินแก่โจทก์ในอัตราคนละ 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 50,000 บาท นั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จากจำเลยทั้งสิบได้เพราะค่าเสียหายดังกล่าว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 ให้โจทก์เรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย: เจตนาทำร้าย vs. ผลเกินเจตนา และความรับผิดร่วม
ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ข้ามเรือโดยสารจากคลองสานไปท่าเรือสี่พระยา ขณะเรือเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่าวันนี้เปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตายและเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมากจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าอาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16781/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. - ตัดสิทธิฟ้องร้องนอกกระบวนการพิเศษตามกฎหมาย
การดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ที่มีผลใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่า กรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและมีบทบัญญัติในหมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 ว่าด้วยการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดกระบวนการในการไต่สวนและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภา บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบและไต่สวนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. กลั่นแกล้งฟ้องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โดยง่าย เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหลุดพ้นจากความผิดทางอาญา เพราะผู้เสียหายอาจร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แล้วเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งต้องถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 17 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ หมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 จึงยังสามารถดำเนินการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16563/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องอาญาขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัย
สำหรับในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไรแล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์
ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 ดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดเผย เอาไป หรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 1 หาดกังหัน 2 และหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งห้ามีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของโจทก์และจำเลยที่ 4 เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงทราบข้อมูลอันเป็นความลับทางการค้าทั้งหมดตามคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารประกอบในคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 2 ของโจทก์เป็นอย่างดีและสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 เท่านั้น มิใช่การบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด ดังนี้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 35 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16562/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า ต้องระบุรายละเอียดองค์ประกอบความผิดและข้อมูลสนับสนุนครบถ้วน มิฉะนั้นเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ
สำหรับในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์บรรยายไว้แล้วในคำฟ้องเท่านั้น โดยเทียบเคียงบทบัญญัติตามมาตราในกฎหมายที่โจทก์มีคำขอ ให้ลงโทษจำเลยว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตราเหล่านั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ครบองค์ประกอบของความผิดนั้นหรือไม่ เพราะคำฟ้องต้องชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณาต่อไปได้เสียก่อน การที่โจทก์จะอุทธรณ์จึงต้องอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า เมื่อพิจารณาจากการบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์เห็นว่าคำบรรยายฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้แล้วอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลขัดหรือคลาดเคลื่อนกับที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างไร เพื่อให้เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เมื่อโจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า สถานที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผนผังของโรงไฟฟ้าและข้อมูลอื่น ๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้าและข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ ทั้งมิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร ทั้งการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 33 ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าโดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ว่า จำเลยทั้งสามได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเปิดเผย เอาไปหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าในเอกสารประกอบคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าในโครงการหาดกังหัน 3 ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันมีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน ทั้งนี้จำเลยทั้งสามมีเหตุอันควรจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดต่อแนวทางเช่นว่านั้นโดยนำไปทำเป็นเอกสารประกอบของคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้ออ้างว่า จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามกระทำการที่มีลักษณะขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกันอันเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าในทางแพ่งดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติผิดสัญญาใดต่อโจทก์หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดหรือกระทำในประการที่เป็นการจูงใจผู้ใดให้ละเมิดความลับอันเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน จำเลยทั้งสามได้ติดสินบนผู้ใด หรือจำเลยทั้งสามได้ข่มขู่ผู้ใด ฉ้อโกงผู้ใด ลักทรัพย์ของผู้ใด รับของโจรของผู้ใด หรือจำเลยทั้งสามกระทำการจารกรรมหรือใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามความหมายของ "การกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดต่อแนวทางปฏิบัติในเชิงพาณิชย์ที่สุจริตต่อกัน" ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 35 คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16561/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ขาดองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและอาญา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เพียงแต่อุทธรณ์โดยยกเอาข้อเท็จจริงตามคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานโจทก์มากล่าวอ้างว่าได้เบิกความไว้ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์แจ้งชัดแล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อโต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ข้อมูลที่จะเป็นความลับทางการค้าตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 ต้องเป็นข้อมูลการค้า แต่ตามฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าข้อมูลต่างๆ ที่โจทก์ศึกษาเป็นข้อมูลการค้า ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลมเป็นต้นกำลังเกี่ยวกับเรื่องใดที่โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าเก็บไว้เป็นความลับ แม้โจทก์จะไม่ต้องระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลที่เก็บเป็นความลับนั้น โจทก์ก็ต้องระบุในฟ้องว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดและใช้มาตรการใดที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ แต่โจทก์หาได้ระบุถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องไม่ ทั้งโจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าข้อมูลที่โจทก์เก็บเป็นความลับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับอย่างไร รวมทั้งการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 นี้โจทก์ต้องระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เรื่องใดให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า โดยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด แต่โจทก์ก็หาได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า จำเลยทั้งห้าได้เปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมความลับทางการค้าอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการใดตามพระราชบัญญัตินี้ การบรรยายฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ละเมิดสิทธิในทางแพ่งมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาจากการกู้ยืม และความผิดฐานลักทรัพย์ แม้มีการผิดสัญญาเช่าซื้อ
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความร้องทุกข์โดยสุจริตตามสิทธิ ย่อมไม่เป็นละเมิด แม้จะมีการฟ้องคดีอาญา
มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
of 33