คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปริญญา ดีผดุง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15717/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุข้อมูลผู้สร้างสรรค์และวันสร้างสรรค์/โฆษณา เพื่อให้ศาลพิจารณาอายุลิขสิทธิ์ได้
ความผิดฐานทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า และฐานให้เช่า เสนอให้เช่า งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดในส่วนของการกระทำคือ มีการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า และการให้เช่า เสนอให้เช่า เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และได้กระทำแก่งานนั้นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ ต้องเป็นงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์รับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ได้มาโดยการสร้างสรรค์งานเองตามมาตรา 6 หรือได้มาโดยการรับโอนลิขสิทธิ์ตามมาตรา 17 ทั้งยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการได้มาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 8 นอกจากนี้ งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ฉะนั้นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวจึงเป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ก็ย่อมต้องรู้ว่าผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรืองานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย และมาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าผู้สร้างสรรค์... ถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนั้นการบรรยายในคำฟ้องว่างานที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่หรือถึงแก่ความตายเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นส่วนสาระสำคัญ มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย และไม่อาจจะนำเอาข้อสันนิษฐานต่าง ๆ หรืออนุมานเอาเอง เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายเมื่อใด หรือบรรยายให้ปรากฏถึงวันเวลาที่ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกไว้อย่างชัดแจ้ง จึงย่อมเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด อันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15711/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยต้องพิสูจน์ว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจริง หากโจทก์ฟ้องไม่ชัดเจน ศาลอาจยกฟ้อง
แม้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ในคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ตามลำดับ อันเป็นความผิด 2 กรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ร้าน บ. และที่ร้าน น. อันได้มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนต์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสและไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวนกี่แผ่นเท่านั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ว่า ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรื่องใด จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 (2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวีดิทัศน์นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึง ข้อ 2.9 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15707/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางโทรทัศน์: การพิสูจน์แหล่งที่มาของสัญญาณและการคุ้มครองตามหลักดินแดน
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมต้องนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำโดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยทั้งนี้เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยและการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทย โจทก์ร่วมจึงจะขอให้บังคับใช้สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ ปรากฏว่ารายการ "National Geographic" เป็นรายการเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์และคนซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์เอง เมื่อโจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวแล้วจะอนุญาตให้แพร่เสียงแพร่ภาพผ่านทางเคเบิลทีวีซึ่งจะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนจึงจะสามารถแพร่เสียงแพร่ภาพรายการของโจทก์ร่วมได้ การแพร่เสียงแพร่ภาพทางเคเบิลทีวีอาจดำเนินการทางระบบสายและระบบจานโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่รายการของโจทก์ร่วมในประเทศไทยคือบริษัท ย. กับบริษัท บ. โจทก์ร่วมจะยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการดังกล่าวไปยังดาวเทียม จากนั้นดาวเทียมจะส่งสัญญาณกลับมาที่ภาคพื้นดินโดยสมาชิกจะต้องใช้จานหรือเครื่องรับสัญญาณซึ่งต้องมีสมาร์ตการ์ด จึงจะสามารถรับสัญญาณดาวเทียมและชมรายการของโจทก์ร่วมได้ สัญลักษณ์ "National Geographic" เป็นสัญลักษณ์ของโจทก์ร่วมและเป็นสิ่งแสดงว่ารายการนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ในกรณีที่มีการรับสัญญาณรายการ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. จะปรากฏทั้งสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" ที่หน้าจอโทรทัศน์ โดยสัญลักษณ์นั้นจะปรากฏอยู่คนละด้านกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ที่โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยต้องเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่ส่งสัญญาณผ่านบริษัท ย. ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของสมาชิกเคเบิลทีวีของบริษัท ย. โดยที่หน้าจอโทรทัศน์จะปรากฏสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" อยู่คนละด้าน เมื่อปรากฏว่าที่จอโทรทัศน์ในบ้านที่เกิดเหตุของผู้เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 มีภาพแสดงรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ซึ่งมีสัญลักษณ์"National Geographic" เท่านั้น ไม่มีสัญลักษณ์ "UBC" แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งรายการโทรทัศน์ "National Geographic" โดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยของโจทก์ร่วม แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพจากดาวเทียมอื่นซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมที่โจทก์ร่วมยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. ในประเทศไทย จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอื่นที่มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2)
เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสี่ได้ใช้ในการกระทำความผิดขอให้ริบนั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้ จึงต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15705-15706/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: การใช้ชื่อและที่อยู่ผู้ส่งออกบนกระสอบ ไม่ถือเป็นการเลียนแบบเพื่อสร้างความเข้าใจผิด
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 นั้น ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วกับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นได้รับการจดทะเบียนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งนี้ โดยผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้านั้นมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของบุคคลอื่น
โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ข้าว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กำลังจะส่งออกไปต่างประเทศซึ่งสินค้าข้าวสารนึ่งบรรจุกระสอบจำนวน 3,491 กระสอบ ปรากฏว่าที่ด้านหลังกระสอบบรรจุข้าวดังกล่าว ตรงลูกศรชี้ข้างล่างมีชื่อและที่อยู่บริษัทโจทก์ที่ 2 พร้อมตราสัญลักษณ์ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์นกอินทรีบนลูกโลกและช่อรวงข้าวผูกริบบิ้นในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังภาพ ซึ่งเห็นได้ว่าตราสัญลักษณ์ ที่คล้ายกับรูปประดิษฐ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับตราเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏอยู่ที่ด้านหน้ากระสอบ ชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์ที่ 2 ที่ปรากฏอยู่บนกระสอบด้านหลังข้างล่างนั้นเป็นชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกซึ่งต้องระบุไว้ที่สินค้าที่ส่งออกตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งการระบุชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ข้าว) (เพื่อกิจการที่เป็นการค้า) ซึ่งระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออก ประกอบกับโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่มีตราเครื่องหมายขนาดเล็กที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ที่ด้านล่างกระสอบวัตถุพยาน โจทก์ที่ 2 ก็ได้ใช้ตราเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 ในลักษณะทำนองเดียวกันดังกล่าวกับสินค้าข้าวที่โจทก์ที่ 2 ส่งออกอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าข้าวของโจทก์ที่ 2 กับสินค้าข้าวของบุคคลอื่นโดยมิใช่เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ดังนี้ การที่มีตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค179957 ปรากฏอยู่ติดกับชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 บนกระสอบ จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น การใช้ตราเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อแสดงถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกดังกล่าวมิใช่การใช้ตราเครื่องหมายนั้นอย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าข้าวที่ส่งออกแตกต่างกับสินค้าข้าวที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายที่ทำหน้าที่เครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าข้าวที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งออกในวันเกิดเหตุเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าว่าเป็นของผู้ใดหรือมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใดนั้นปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ คือเครื่องหมาย ซึ่งไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ 2 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ตามที่ปรากฏอยู่หน้าชื่อและที่อยู่ของโจทก์ที่ 2 อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อระบุว่าสินค้าข้าวนั้นเป็นของผู้ผลิตรายใดและเพื่อแยกแยะสินค้าข้าวนั้นว่าแตกต่างจากสินค้าข้าวของบุคคลอื่น การที่ปรากฏเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ที่กระสอบด้านหลังข้างล่างที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏอยู่เต็มพื้นที่ด้านหน้ากระสอบ ซึ่งเป็นกระสอบที่ใช้บรรจุสินค้าข้าวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศในวันเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109
เมื่อสินค้าข้าวจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลางมิใช่สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ได้ ส่วนรถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางที่ใช้บรรทุกข้าวสารนึ่งจำนวน 3,491 กระสอบ ของกลาง และอุทธรณ์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รถยนต์บรรทุกพร้อมหางพ่วงจำนวน 5 คัน ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14948/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิบัตร: วิธีการสร้างสารกฤษณาที่แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการละเมิด
จำเลยที่ 1 เจาะรูทำรอยแผลในตำแหน่งเป็นเกลียวเวียนขึ้นไปตามลำต้นกฤษณาแล้วเสียบท่อเข้าไปในรูโดยให้ปลายท่อยาวโผล่พ้นลำต้น ซึ่งแตกต่างกับการทำรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมเป็นแนวแล้วเจาะรูตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ และไม่เป็นการลัดขั้นตอนกรรมวิธีของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ใช้กรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาแตกต่างจากกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิดังกล่าว ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14778/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งเพื่อจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต: การพิสูจน์เจตนาและขอบเขตการจ้าง
การที่จำเลยนำรถยนต์ตู้โดยสารซึ่งจดทะเบียนในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ซึ่งไม่ใช่รถของบริษัทหรือรถที่ใช้ในกิจการของบริษัทที่ตนเป็นลูกจ้างบรรทุกคนต่างด้าวจำนวน 13 คน จากอำเภอเมืองสมุทรสาครไปส่งยังจังหวัดระนองและรับกลับมาส่งยังอำเภอเมืองสมุทรสาคร แม้คนต่างด้าวจะเป็นลูกค้าของบริษัทแต่ก็ต้องเสียค่าโดยสาร ถือได้ว่าเป็นการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง แม้จำเลยจะได้รับเงินเดือนจากบริษัท แต่จำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ในการเดินทางแต่ละเที่ยวจำเลยจะได้รับค่าอาหาร 200 บาท และในชั้นจับกุมจำเลยรับว่าจำเลยรับจ้างขนส่งแรงงานต่างด้าวเพื่อไปพิสูจน์สัญชาติยังจังหวัดระนอง และกำลังเดินทางกลับตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. 1 ส่วนในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า เป็นผู้ขับรถยนต์พาคนต่างด้าวเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนอง จำนวน 13 คน ได้ค่าจ้างขับรถ ค่าน้ำมันและค่าก๊าซจำนวน 2,500 บาท ฟังได้ว่าจำเลยได้รับค่าจ้างในการขับรถดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยไม่ประจำทางแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางจากนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14583/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'COKE ZERO' มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้คำว่า 'ZERO' ไม่ได้ระบุคุณสมบัติสินค้าโดยตรง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้รับจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้า ที่โจทก์ขอจดทะเบียนนั้นเป็นคำที่ใช้ประกอบกัน โดยในส่วนคำว่า COKE และ โค้ก มีลักษณะบ่งเฉพาะที่โจทก์ใช้มานานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้ว ส่วนคำว่า ZERO แม้จะมีความหมายว่า ศูนย์ หรือไม่มีค่า และคำว่า ซีโร่ เป็นคำที่เลียนมาจากคำว่า ZERO ดังกล่าวทำให้มีความหมายเช่นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อนำคำว่า ZERO และ ซีโร่ มาใช้ประกอบคำว่า COKE และ โค้ก ลักษณะการใช้และความหมายคำดังกล่าวยังไม่ถึงกับทำให้มีความหมายโดยตรงว่าเป็นเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล ส่วนการที่โจทก์อาจโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้ไม่มีส่วนผสมน้ำตาล ก็เป็นเพียงการโฆษณาสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบถึงลักษณะของสินค้าเครื่องดื่มของโจทก์ต่างหากจากความหมายของคำดังกล่าว คำว่า ZERO และ ซีโร่ เป็นเพียงคำหรือถ้อยคำที่อาจเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าก็ด้วยการเทียบเคียงและโฆษณาประกอบ ไม่ถึงขนาดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวก 32 ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้โดยตรง จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) และไม่จำต้องให้โจทก์แสดงการปฏิเสธไม่ขอถือคำว่า ZERO และ ซีโร่ เป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวหรือปฏิเสธอย่างอื่นตามมาตรา 17 (1) และ (2) เพราะนอกจากเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะทุกส่วนแล้ว คำว่า ZERO และ ซีโร่ ดังกล่าวนี้ บุคคลอื่นก็อาจนำไปใช้หรือประกอบคำอื่นในเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตราบเท่าที่ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่พึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ลายผ้า: งานสร้างสรรค์ต้องมีริเริ่มใช้ความสามารถ ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนลายเดิม
งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลายผ้าของโจทก์ร่วมเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลายโบราณ เป็นเพียงงานคลี่คลายลายโบราณ แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์แผนที่: การลอกเลียนงานที่มีลิขสิทธิ์เฉพาะส่วน และการกำหนดโทษที่เหมาะสม
ในการจัดทำแผนที่ประกอบด้วยการดำเนินการในขั้นตอนของการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เรียบเรียง และเลือกใช้ข้อมูล แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนออันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบของแผนที่ แม้ถนน ซอย และสถานที่ต่างๆ ที่ลงในแผนที่จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง แต่ก็ต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและความรู้ความสามารถในการสำรวจวัดระยะและจำลองรูปแผนที่โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รูปแผนที่ถูกต้องมีประโยชน์ในการใช้งานย่อมเป็นการสร้างสรรค์งานแผนที่ขึ้น อันเป็นงานศิลปกรรมอย่างหนึ่งและเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 15 วรรคหนึ่ง
แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่า ว. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผนที่ดังกล่าวได้ลิขสิทธิ์มาจากการรับโอนจากผู้สร้างสรรค์งาน แตกต่างจากคำฟ้องที่บรรยายว่า ว. เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันนี้เป็นเพียงรายละเอียดของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของ ว. เท่านั้น ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
แผนที่ที่ ว. มีลิขสิทธิ์อยู่แต่เดิมที่ทำในปี 2529 คือแผนที่เอกสารหมาย จ.28 แต่ ว. โอนลิขสิทธิ์ให้ บ. ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 ปี โดยแต่ละครั้งที่สิ้นสุดกำหนดเวลาโอนลิขสิทธิ์ทำให้ ว. ได้ลิขสิทธิ์กลับคืนมานั้น ย่อมได้คืนเฉพาะงานแผนที่ที่ได้โอนไปแต่แรกตามเอกสารหมาย จ.28 เท่านั้น ส่วนแผนที่เพิ่มเติมที่ บ. ปรับปรุงย่อมไม่โอนไปยัง ว. เพราะไม่มีข้อตกลงให้โอนลิขสิทธิ์ส่วนที่สร้างสรรค์เพิ่มเติม เมื่อ ว. ได้ลิขสิทธิ์ในแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 กลับคืนมาแล้วโอนลิขสิทธิ์ต่อแก่โจทก์ โจทก์นำมาจัดพิมพ์เป็นแผนที่เอกสารหมาย จ.18 จึงมีส่วนที่เป็นแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 อยู่ด้วยส่วนหนึ่งกับส่วนที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์โดยการรับโอนจาก ว. เฉพาะแผนที่ส่วนดั้งเดิมและย่อมมีอำนาจฟ้องเฉพาะส่วนดังกล่าว
แม้การทำแผนที่ออกมาเหมือนกัน โดยบุคคลคนละคนกันอาจเป็นเพราะเป็นการจัดทำจากสภาพพื้นที่ที่มีอยู่จริงโดยไม่ได้ลอกเลียนกันอันไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากการทำแผนที่เหมือนกันโดยใช้แผนที่ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเป็นต้นแบบในคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์กับแผนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว พบส่วนที่คลาดเคลื่อนเหมือนกัน 3 รายการ ย่อมแสดงได้ว่าเป็นการลอกเลียนจากแผนที่ที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ แต่โจทก์มีลิขสิทธิ์เฉพาะงานแผนที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลอกเลียนแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 ที่พัฒนามาจากแผนที่เอกสารหมาย จ.28 มาก จนไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำซ้ำโดยการคัดลอกงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 คงถือได้ว่าเป็นเพียงการดัดแปลงเท่านั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เอง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายแผนที่ของตนก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่างานนั้นทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วนของงานตามฟ้องจึงสมควรกำหนดโทษให้น้อยลงตามสมควรด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13102/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ, การจำกัดความรับผิด, การรับช่วงสิทธิจากสัญญาประกันภัย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างใช้ชื่อ ยูพีเอส (UPS) และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ใช้ชื่อยูพีเอส เอสซีเอส (UPS SCS) เช่นเดียวกัน ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทผู้สำรวจเหตุความเสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ส่งเอกสารการเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยไปยังจำเลยที่ 1 ตามแบบพิมพ์การเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งแบบพิมพ์นี้นอกจากจะใช้เครื่องหมาย UPS เหมือนกับเครื่องหมายในใบรับขนทางอากาศของจำเลยที่ 1 แล้ว ในรายละเอียดก็ยังมีข้อความในลักษณะเกี่ยวกับเครือข่ายการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส โดยมีข้อความตอนล่างสุดระบุถึงการให้บริการรวมทั้งความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขการให้บริการของยูพีเอส เอสซีเอส ที่สามารถตรวจดูได้ทางเวปไซต์ www.ups-scs.com แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือข่ายเดียวกันที่ให้บริการเป็นระบบเครือข่ายในประเทศต่างๆ เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกันกับที่ร่วมกันประกอบกิจการรับขนของเป็นเครือข่ายร่วมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามฟ้อง
แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา แต่เมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นอะไหล่ที่ใช้ประกอบกับเครื่องจักรในโรงงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงงานประกอบกับในการซื้อสินค้า ผู้เอาประกันภัยตกลงซื้อในเทอม เอฟซีเอ ท่าอากาศยานซูริค ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าขนส่งจากท่าอากาศยานดังกล่าวมายังท่าอากาศยานกรุงเทพเอง การที่ผู้เอาประกันภัยยอมเสียค่าขนส่งทางอากาศซึ่งย่อมมีค่าขนส่งสูงแต่ขนส่งได้รวดเร็ว ก็เป็นเหตุผลแสดงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องได้รับสินค้าไว้ใช้โดยเร็ว ในการขนส่งครั้งนี้ควรขนส่งสินค้าถึงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แต่สินค้านี้ไม่ได้ขนส่งถึงตามกำหนดดังกล่าว จนต้องมีการเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้า ทั้งยังมีการเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ด้วย และในที่สุดผู้เอาประกันภัยก็ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ ดังนี้แม้จะมีการพบสินค้าที่ขนส่งตามฟ้องนั้นในภายหลังก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยอีกต่อไป และการหาสินค้าดังกล่าวพบก็เป็นเวลาหลังจากที่สินค้าควรขนส่งถึง 6 เดือนเศษ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายในลักษณะอันถือได้ว่ามีผลทำนองเดียวกันหรือเสมือนกับสินค้าสูญหายนั่นเอง แม้จะค้นหาพบในภายหลังก็ถือได้ว่าเป็นกรณีผู้รับตราส่งเสียหายจากความสูญหายของสินค้าแล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับสินค้าที่หาพบ การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจึงชอบแล้ว
ใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกให้ ด้านหลังต่างก็มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นเงินไม่เกิน 20 ดอลลาร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศมีช่องว่างสำหรับเติมข้อความเพื่อการแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง และมีข้อความอธิบายให้ผู้ส่งตรวจดูข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ โดยหากประสงค์จะให้เพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ ก็ให้แสดงราคาและชำระเงินเพิ่มได้ แต่ปรากฏว่าในช่องแสดงราคาเพื่อการขนส่งระบุข้อความว่า เอ็นวีดี หรือการไม่แสดงราคา อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงจำกัดความรับผิดได้
of 33