คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปริญญา ดีผดุง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7157/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางอากาศ, การพิสูจน์เหตุสุดวิสัย, และการหักกลบลบหนี้ค่าเสียหาย
พฤติการณ์ที่จำเลยเลือกใช้บริการขนส่งทางอากาศซึ่งมีค่าขนส่งสูงกว่าการขนส่งทางทะเลมากถึงประมาณ 10 เท่า ก็เพราะเหตุจำเป็นต้องการส่งสินค้าให้ถึงโดยด่วน แม้ในใบรับขนทางอากาศจะไม่ได้ระบุวันที่สินค้าต้องถึงปลายทางไว้ก็เห็นได้อยู่ในตัวว่า คู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งสินค้าถึงปลายทางโดยรวดเร็วตามสภาพปกติในการขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบิน ซึ่งต้องใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งทางทะเลมากพอสมควร แต่การขนส่งสินค้าตามใบรับขนทางอากาศ 2 ฉบับ ตามฟ้อง โจทก์ใช้เวลาในการขนส่งถึงปลายทางช้ากว่าปกติ โดยใช้เวลามากกว่าการขนส่งทางทะเล ย่อมเห็นได้ว่าล่าช้าผิดปกติจากที่ควรจะเป็น
ส่วนปัญหาที่โจทก์ต่อสู้ว่า ความล่าช้าเกิดจากเหตุสุดวิสัยและสภาพแห่งของนั้นเองข้อเท็จจริงนี้โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพายุว่า เกิดพายุที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีวันเวลาใด มีความรุนแรงเพียงใดและเกิดขึ้นในช่วงกำหนดการบินของเครื่องบินที่จะขนส่งสินค้าอย่างไร มีเหตุให้ต้องเลื่อนกำหนดการบินออกไปเป็นวันเวลาใด ทั้งมิได้นำสืบว่าสินค้าของจำเลยมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถขนส่งโดยเครื่องบินของสายการบินทั่วไปอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าความล่าช้าเกิดจากมีพายุและข้อจำกัดเที่ยวบินของเครื่องบินเฉพาะสำหรับขนส่งสินค้าที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี อันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือสภาพแห่งของนั้นเอง
จำเลยเป็นหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 4,125,573.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนโจทก์เป็นหนี้ค่าเสียหายจากการขนส่งที่ต้องชำระแก่จำเลย 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จำเลยจะขอหักกลบลบหนี้มาด้วยก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยจะได้รับชำระจากโจทก์ดังกล่าวจะมีผลเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอน และข้อต่อสู้แห่งสิทธิเรียกร้องเป็นอันยุติสิ้นไปนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ จึงย่อมหักกลบลบหนี้กันได้ในวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ อันถือเป็นวันเวลาใช้เงินในการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสำหรับหนี้ที่จำเลยจะได้รับชำระจากโจทก์ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6938/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การใช้เครื่องหมายที่คล้ายกันจนทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" และเครื่องหมายการค้าตัวอักษร "AR" และคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้นว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ก่อนที่ บ. จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เป็นเวลานานเกือบ 28 ปี และก่อนที่ บ. มาจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร "AR" และคำว่า "ARON" เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 เป็นเวลานานถึง 31 ปี 2 เดือนเศษ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมคำว่า "ARON" จะเขียนตัวอักษร "A" ติดกับตัวอักษร "R" และตัวอักษร "O" ติดกับตัวอักษร "N" และมีตัวอักษร "R" แตกต่างจากตัวอักษร "V" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ก็ตาม แต่ตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์และตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมก็มีลักษณะการเขียนที่มองเห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ หากประชาชนผู้ซื้อสินค้าของจำเลยร่วมและสินค้าของโจทก์ไม่สังเกตความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่มีตัวอักษรแตกต่างกันเพียงตัวอักษรเดียวให้ดีพอ ย่อมเกิดความสับสนและหลงผิดในการซื้อสินค้าไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ แม้สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมจะอ่านว่า "อารอน" หรือ "อาร่อน" ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์จะอ่านว่า "เอวอน" หรือ "เอว่อน" ก็เป็นสำเนียงเรียกขานที่คล้ายกัน ไม่ถึงกับแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศโอกาสที่จะเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมคลาดเคลื่อนไปโดยอ่านว่า "เอรอน" หรือ "เอร่อน" ได้ เมื่อนำเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าลิปสติกตามที่จำเลยร่วมขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าลิปสติกของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร "AR" และคำว่า "ARON" ของจำเลยร่วมแม้จะมีตัวอักษร "AR" ในลักษณะอักษรประดิษฐ์รวมอยู่ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้านั้นไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า "ARON" ซึ่งมีตัวอักษร "A, O และ N" อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร "A, O และ N" ในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ ทั้งลักษณะการเขียนคำว่า "ARON" ก็สามารถมองเห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ การที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเพิ่มตัวอักษรประดิษฐ์ "AR" เข้าไปด้วยยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ซื้อสินค้าเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ จนไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อนำเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าครีมทาผิว และไปใช้กับสินค้าแป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่นที่ บ. ขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า ครีมทาตัวและทาหน้า แป้ง อายแชโดว์ เครื่องสำอางใช้เขียนขอบปาก เครื่องสำอางใช้เขียนขอบตา เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดใบหน้า และเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่ บ. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เพื่อใช้กับสินค้าลิปสติกซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 อันเป็นการที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เป็นเวลานานถึง 28 ปีเศษ กับการที่ บ. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำนวน 2 คำขอเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ตามลำดับ เพื่อใช้กับสินค้าครีมทาผิว และเพื่อใช้กับสินค้า แป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่น ตามลำดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 อันเป็นการที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจำนวน 2 คำขอดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" เป็นเวลานานถึง 31 ปีเศษ นั้น เป็นการที่ บ. ได้อาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องสำอางสำหรับสตรีมาเป็นเวลานานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แล้วเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์โดยเปลี่ยนเพียงตัวอักษร "V" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษร "R" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมและนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำนวน 3 คำขอประกอบกับปรากฏว่าสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยร่วมที่เป็นลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายอันเป็นสินค้าเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ชนิดเดียวกับสินค้าน้ำหอมดับกลิ่นที่จำเลยร่วมได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมจำนวน 7 แบบ จำนวน 7 สี มีลักษณะเป็นขวดพลาสติกขนาดเท่ากัน ฝาปิดขวดเหมือนกัน ขวดมีสีเดียวกัน รอบขวดพลาสติกมีข้อความต่าง ๆ ที่เป็นตัวอักษรอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" และคำว่า "ARON" วางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันและเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน ตลอดจนใช้สีของตัวอักษรเหมือนกัน กล่าวคือ ขวดบรรจุสินค้าสีน้ำตาลของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" กับคำว่า "ARON" อยู่บนฝาขวดภายในรูปวงกลมในตำแหน่งเดียวกัน มีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบนของขวดอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ถัดลงมาใช้รูปหัววัวในรูปวงกลมที่กลางขวดเหมือนกันโดยขวดมีคำว่า "AVON WILD COUNTRY" เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า "ARON NEW COUNTRY" เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว และมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" อยู่ใต้รูปหัววัวเหมือนกันและที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีแดงของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นตัวอักษร "a" ในวงกลมเหมือนกัน ใต้อักษร "a" ดังกล่าว ขวดสินค้าของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" และของโจทก์มีข้อความว่า "ariane ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า "aria ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกันมาก และที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีม่วงของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปผีเสื้อกำลังบินคล้ายกัน ใต้รูปผีเสื้อขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "Butterfly" ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมเป็นคำว่า "Beautiful" และถัดลงมาของโจทก์มีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกันและที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีชมพูของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปดอกไม้สีเหลืองคล้ายกัน ด้านข้างดอกไม้สีเหลืองในแนวดิ่งของโจทก์มีคำว่า "Sweet Honesty" ส่วนของจำเลยร่วมใต้รูปดอกไม้สีเหลืองมีคำว่า "ARON Sweet Harmony" และของโจทก์มีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน และที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีฟ้าของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า "pretty Blue" กับคำว่า "Lovable Blue" คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความ "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีขาวของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า "AVON" กับคำว่า "ARON" ใต้คำว่า "AVON" มีคำว่า "feelin' fresh" พร้อมรูปใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า "white" ส่วนใต้คำว่า "ARON" มีคำว่า "feel fresh" พร้อมกับรูปเส้นโค้งสามเส้นคล้ายปลายใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า "Whitening" คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า และรอบขวดบรรจุสินค้าสีดำของโจทก์และของจำเลยร่วม มีคำว่า "25% FREE" กับคำว่า "MORE 25%" ที่ด้านบน ถัดลงมาของโจทก์เป็นคำว่า "BLACK SUEDE" ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยร่วมเป็นคำว่า "BLACK SUEZ" ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า "ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml" เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า "AVON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า "ARON" พร้อมกับคำบรรยายสินค้า การที่จำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" กับสินค้าลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายดังกล่าว โดยไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าดังกล่าวโดยทำให้ขวดบรรจุสินค้าคล้ายกับขวดบรรจุสินค้าของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งหากประชาชนผู้ซื้อไม่สังเกตให้ดีและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษย่อมสับสนและหลงผิดซื้อสินค้าไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยร่วมอย่างแจ้งชัดว่าจำเลยร่วมประสงค์ที่จะอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AVON" ของโจทก์โดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "ARON" เพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้มีสิทธิขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) ได้
ตามหนังสือแจ้งคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าระบุว่า โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 มิถุนายน 2550 จึงเป็นการฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6113/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนทะเบียนและคำขอจดทะเบียนใหม่ที่คล้ายคลึงกัน การกระทำที่ไม่สุจริต
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลที่จะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้โดยไม่ต้องบังคับต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเช่นนี้ ในขั้นตอนภายหลังจากที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้จดทะเบียนไว้แล้วได้เป็นอีกกรณีหนึ่ง ต่างหากจากกรณีที่จะใช้สิทธิคัดค้านในระหว่างการพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่มีบทบัญญัติจำกัดว่าการใช้สิทธิตามมาตรา 67 นี้จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ใช้สิทธินั้นได้คัดค้านในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วแต่อย่างใด
การแจ้งและการรับแจ้งลงในบัญชีแสดงการรับแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติบังคับให้เจ้าของเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องแจ้งและมีการลงบัญชีเช่นว่านี้ โดยหากไม่แจ้งไว้ให้ถือว่าไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปแต่อย่างใด
เมื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ใช้คำว่า "Watson's" และ "Watsons" เป็นสาระสำคัญโดยการเห็นคำดังกล่าวและเรียกขานคำดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสังเกตจดจำว่าเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้ก็มีคำว่า "Watson" เป็นสาระสำคัญแม้จะมีอักษรโรมันว่า "WS" ในเส้นวงรีประกอบก็มีลักษณะเป็นอักษรย่อของคำว่า "Watson" นั่นเอง และมีลักษณะเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนสำคัญในการสังเกตและเรียกขานที่คำว่า "Watson" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าว จึงย่อมมีเหตุที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเดียวกันได้ ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 662878 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังไม่มีคำสั่งให้จดทะเบียน จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้เสียเองจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยที่ 1 การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้เพื่อมิให้เสียหายแก่โจทก์ต่อไป โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จึงไม่ถูกต้องแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เมื่อเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5846-5847/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจากปล้นทรัพย์เป็นรับของโจร ศาลมีอำนาจลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ฉะนั้นหากปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 กระทำความผิดฐานรับของโจร อันเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 192 วรรคสาม จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธโดยนำสืบอ้างฐานที่อยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5744/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าและพยายามฆ่า, การทำร้ายร่างกาย, ความรับผิดทางแพ่งจากการกระทำทางอาญา, การชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยกับพวกแทงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างแรงที่อวัยวะสำคัญของร่างกายที่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่า หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีโจทก์ร่วมที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2
ส่วนโจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5559/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดในสัญญาและละเมิดจากเหตุตู้สินค้าห้องเย็นเสียหาย: กำหนดส่วนรับผิดชอบตามสัดส่วนความผิด
ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันว่าอุณหภูมิภายในตู้สินค้าห้องเย็นต้องอยู่ในระดับ ลบ 24 องศาเซลเซียส เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดูแลรักษาอุณหภูมิสินค้าให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ทำให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานสินค้าแช่แข็งส่งออกของผู้เอาประกันภัยซึ่งอาจมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานของกรมปศุสัตว์หรือเจ้าของสินค้ารายอื่น จำเลยที่ 1 จะอ้างมาตรฐานของกรมปศุสัตว์มากล่าวอ้างให้ไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาไม่ได้
พนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถเฉี่ยวชนตู้สินค้าห้องเย็นที่บรรจุสินค้าจนชำรุดอันเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าในตู้โดยตรง ทั้งจำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าห้องเย็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่รักษาอุณหภูมิภายในตู้ให้ได้ตามที่กำหนดไว้เสมอ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำให้ตู้สินค้าห้องเย็นนี้เสียหายก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมเพื่อป้องกันมิให้สินค้าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 รีบซ่อมแซมอย่างเหมาะสมด้วยวิธีเพียงใช้แผ่นโลหะปะเข้าแทนที่ในส่วนที่ผนังตู้ขาดด้านนอกแล้วยึดแผ่นโลหะด้วยวิธียิงด้วยเครื่องยิงหมุดแล้วฉีดโฟมเข้าไปในช่องว่างระหว่างโลหะด้านในและด้านนอกเฉพาะจุดที่ฉีกขาดนั้น อันเป็นวิธีการดังที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ให้ความเห็นไว้ในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า สามารถทำได้โดยง่าย ใช้เวลาเพียง 10 นาที เท่านั้น ก็น่าเชื่อว่าจะบรรเทาความเสียหายได้มาก แต่จำเลยที่ 2 กลับปล่อยให้ตู้สินค้าห้องเย็นมีส่วนที่ชำรุดถึงโลหะชั้นในและไม่มีฉนวนกันความร้อนเป็นเวลานานถึง 10 ชั่วโมง พนักงานของจำเลยที่ 2 จึงมาช่วยซ่อมแซมตู้สินค้าห้องเย็น แต่ก็ทำเพียงนำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีเพียงแถบกาวมาปิดทับผนังตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาตู้สินค้าห้องเย็นให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยอยู่ในสภาพที่ดีมีอุณหภูมิที่ตั้งค่า ลบ 24 องศาเซลเซียส ได้ทราบเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 ก็ดำเนินการเพียงแจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบ และร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 นำแผ่นฟอยล์ซึ่งมีแถบกาวไปปิดตู้สินค้าห้องเย็นตรงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น หลังจากนั้นได้แต่ตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องทำความเย็น โดยไม่ดำเนินการเยียวยาอย่างอื่น ถือได้ว่ายังไม่ได้กระทำการให้เพียงพอแก่หน้าที่ในอันที่จะรักษาอุณหภูมิสินค้าให้ได้ตามที่สัญญาไว้ อันถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
ผู้เอาประกันภัยได้รับแจ้งเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา จนวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 จึงส่งตัวแทนไปสำรวจความเสียหายของตู้สินค้าห้องเย็น และตัดสินใจนำตู้สินค้าห้องเย็นพิพาทออกจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ทั้งยังจัดประมูลขายซากสินค้าในวันที่ 3 และ 9 กันยายน 2546 อันเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าไปอีกประมาณ 40 ถึง 50 วัน สินค้าอาหารประเภทไก่แช่แข็งควรรีบขายโดยเร็ว การปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจะทำให้ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่ควรจะขายได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้เอาประกันภัยก็มีส่วนปล่อยเวลาให้ล่วงเลยทำให้มูลค่าของสินค้าพิพาทลดลงจนเป็นความเสียหายสูงขึ้นด้วย
การที่จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยรวมถึงโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจะเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 ทั้งการจะให้บุคคลหลายคนรับผิดร่วมกันในหนี้จำนวนหนึ่งอย่างลูกหนี้ร่วมต้องเป็นไปโดยนิติกรรมหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจัดหาตู้สินค้าห้องเย็นและขนส่งไปยังท่าเรือโดยมีหน้าที่ดูแลรักษาอุณหภูมิในตู้สินค้าห้องเย็นให้เหมาะสมในการเก็บรักษาสินค้า แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดูแลรักษาอุณหภูมิจนเป็นเหตุให้สินค้าเสียหาย แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดด้วย แต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องและที่รับฟังได้ เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ต้องรับผิดตามสัญญา และเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหลังจากพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดกระทำโดยประมาททำให้สินค้าเสียหาย จึงไม่ใช่กรณีร่วมกันทำละเมิด หากแต่เป็นกรณีที่มูลแห่งความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แตกต่างกัน มีผลต่อความเสียหายคนละส่วนต่างกันย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าเสียหายต่อโจทก์และไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันจะถือให้ความรับผิดในลักษณะแตกต่างกันเช่นนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ซื้อทรัพย์จากการบังคับคดีในการขอให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ และระยะเวลาการบังคับคดีต่อเนื่อง
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน..." คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้รับประกันภัยในความเสียหายของสินค้า การคิดค่าเสียหายตามน้ำหนักและอัตราแลกเปลี่ยน
บริษัท ท. ผู้ส่งและผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่งตามสัญญารับขนได้ในเบื้องต้นคือ ค่าเสียหายตามจำนวนเงินค่าสินค้า 34,111.79 ยูโร และค่าเสียหายอื่นตามค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและสมควร โจทก์ผู้รับประกันภัยได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลย ซึ่งย่อมไม่มีสิทธิเรียกมากไปกว่าสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยอยู่แต่เดิม แม้โจทก์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดตามมูลค่าการประกันภัยที่ตกลงกันไว้กับผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนสูงกว่าราคาสินค้าด้วยการรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันก็ตาม ก็เป็นความผูกพันกันเฉพาะระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันต่อจำเลยที่ต้องถือว่าค่าเสียหายเป็นไปตามจำนวนที่โจทก์รับประกันภัยเสมอไปแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้เท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย จากพยานหลักฐานในสำนวนที่พอเห็นได้คือ ค่าขนส่งที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้านี้นอกเหนือจากราคาสินค้าที่คิดราคาตาม Incoterms FOB แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงจำนวนเงินค่าขนส่งไว้ให้เห็นได้แน่นอน ในกรณีเช่นนี้เมื่อเห็นว่าค่าขนส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 3,400 ยูโร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่ามีอีกแต่อย่างใดจึงไม่กำหนดให้ โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย 1 ยูโร เท่ากับ 52.7575 บาท ย่อมต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันนี้ในการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นเงินบาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5157/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ร่วมขนส่ง กรณีสินค้าสูญหายจากการขนถ่ายสินค้า โดยผู้ซื้อเป็นผู้ว่าจ้างผู้ขนถ่าย
การขนส่งสินค้าตามฟ้องผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังเกาะสีชัง จำเลยที่ 1 รับขนส่งโดยทำสัญญาเช่าเรือเพื่อการขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งระบุว่าต้องใช้ประกอบกับสัญญาเช่าเรือ และตามสัญญาเช่าเรือระบุข้อตกลงในส่วนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในเทอม FIOST ซึ่งผู้เช่ามีภาระการออกค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือของจำเลยที่ 1 ที่ท่าปลายทางด้วย และตามใบกำกับสินค้าระบุราคา CFR ตาม Incoterms 2000 และเทอม FO หมายความว่า ผู้ซื้อมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าจากเรือเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการจัดหาหรือว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจนถึงเกาะสีชังเท่านั้น จากนั้นผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้าขนถ่ายลงเรือลำเลียงต่อไป เมื่อความสูญหายของสินค้าเกิดจากผู้ขนถ่ายสินค้าที่ผู้ซื้อจ้างมาทำสินค้าตกลงทะเลสูญหายไปขณะใช้เครนขนถ่ายสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด และเมื่อเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานของเครนลอยน้ำโดยผู้บังคับควบคุมไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488-4490/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายราชการและควบคุมคุณภาพของรัฐต่างประเทศ ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนได้
แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสามสำนวนในฐานะผู้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โดยฟ้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง แต่เนื่องจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 เป็นรายบุคคลก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า อันเป็นช่องทางที่กฎหมายให้สิทธิกระทำได้และโจทก์ก็ฟ้องคดีเพื่อให้คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับผิดเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแต่ก็ต้องถูกผูกพันตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในครั้งนั้น ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ในส่วนของจำเลยที่ 1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้าฯ พ.ศ.2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 และเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วยตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 95 จึงเท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เช่นกัน
นอกจากเครื่องหมายการค้าจะทำหน้าที่ระบุตัวสินค้าว่าเป็นสินค้าของผู้ผลิตรายใดและทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามที่ต้องการแล้ว เครื่องหมายการค้ายังทำหน้าที่ควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้าในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นไม่เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพของสินค้า ซึ่งหน้าที่ของเครื่องหมายการค้าในการควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้านี้ปรากฏโดยนัยของมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องและในคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้อนุญาตให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประสงค์จะควบคุมคุณภาพของสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงที่โจทก์ผลิตออกจำหน่าย เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีจึงมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.75608 เลขที่ ค.116909 และเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นตามคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวไม่ใช่การวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายอันจะเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142
เครื่องหมายอักษรจีนคำว่า เป็นเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นผู้ใช้กับสินค้าโสมแดงกระป๋อง ถือได้ว่าเครื่องหมายคำว่า เป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี แม้ต่อมารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีโดยกระทรวงการคลังได้ก่อตั้งโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เพื่อดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงแทน โดยอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า และภายหลังมีการปรับโครงสร้างของโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เป็นโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน และในที่สุดมีการก่อตั้งบริษัทโจทก์ให้ดำเนินกิจการนั้นและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ต่อไป การใช้เครื่องหมายการค้านี้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ยังคงเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ และนอกจากนี้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศด้วย สำหรับเครื่องหมาย และเครื่องหมาย ที่โคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน เป็นผู้เริ่มนำมาใช้กับสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดง ก็เป็นเครื่องหมายที่มีอักษรจีนคำว่า อันเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศประกอบอยู่ด้วย โดยไม่ปรากฏว่าโคเรีย จินเซ็ง เซนเตอร์ ลิมิเต็ด ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 และบริษัท ท. ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหรือมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายนี้ให้มาจดทะเบียนในนามตนเองในประเทศไทยได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ และเป็นเครื่องหมายที่ประกอบด้วยเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยการฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 61 (2) ศาลต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไปเสียทีเดียว ซึ่งมีผลให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่พิพากษาให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีก เรื่องนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
of 33